top of page

คำให้การเด็กหัวตลาด ตอนที่ ๑๐๐ บันทึกเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกปัตตานีของปู่

รูปภาพนักเขียน: drpanthepdrpanthep

เป็นบันทึกของคุณปู่อนันต์ คณานุรักษ์ ถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ส่วนเชิงอรรถหมายเหตุเป็นสิ่งที่ผมเก็บไว้เตือนความจำ

..............................................


ที่เมืองปัตตานี เดือนธันวาคมเดือนนี้เป็นหน้ามรสุม น้ำในแม่น้ำมากเสมอตลิ่ง ถนนหนทางมีโคลนตมเป็นบางแห่ง

รุ่งเช้าของวันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ในช่วงเวลาประมาณ ๔.๐๐ น. ได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางด้านที่ตั้งของจังหวัด[p1] ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำปัตตานี มีทั้งเสียงปืนเล็ก ปืนกล ปืนใหญ่เบา


ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงจะเป็นการซ้อมรบของทหารบ่อทอง ร. พัน ๔๒ แต่แล้วมีคนมาร้องเรียกที่หน้าประตูบ้านบอกว่า "ญี่ปุ่นมาแล้ว ภรรยาท่านข้าหลวงและภรรยานายอำเภออพยพมาอยู่ที่บ้านขุนธำรงฯ[p2]แล้ว" ข้าพเจ้าก็ยังไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง

อีกเพียงชั่วครู่ พวกเด็กผู้หญิงอีก ๔ คนก็มาเรียกที่หน้าประตูอีก บอกว่า "ญี่ปุ่นมาแล้ว" ข้าพเจ้าสอบถามเพิ่มเติมได้ความชัดเจนก็พอจะเชื่อถือได้ว่าเป็นเรื่องจริงแน่แท้แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรดีในสถานการณ์เช่นนี้ นึกแต่ว่าทหารคงจะไม่ทำอันตรายราษฎร ข้าพเจ้าจึงรอฟังข่าวอยู่ที่บ้าน

ครั้นพอเวลารุ่งสาง ข้าพเจ้าออกมายืนรอดูอยู่หน้าบ้าน ได้มีคนวิ่งผ่านมาและบอกว่า "มันขึ้นมาทางนี้แล้ว ไปช่วยกันเร็ว" ข้าพเจ้าจึงได้บอกให้เขารีบไปแจ้งขอกำลังตำรวจมาช่วยสมทบ และอีกเพียงชั่วประเดี๋ยวเดียวพวกราษฎรชาวปัตตานีต่างก็พากันวิ่งถือปืนออกไปทำการต่อสู้ต้านทานพวกทหารญี่ปุ่นกันแต่ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าใครบ้าง ข้าพเจ้าจึงรีบเข้าไปเอาพระเครื่องราง ลูกกระสุนปืนแฝด และลูกกระสุนปืนรีวอลเวอร์ ออกมาแจกจ่ายไปให้หลายคน แต่จำไม่ได้ว่าเป็นใครบ้าง


จากนั้นก็ให้คนเฝ้าประตูบ้านคอยดูแลต้อนรับพวกผู้หญิงและเด็กที่กำลังตื่นตระหนกตกใจวิ่งหนีกันเป็นที่สับสนวุ่นวายไม่รู้จะไปที่แห่งหนใด ให้เข้าไปหลบอยู่ในบ้านของข้าพเจ้าก่อนเพื่อความปลอดภัย ทั้งหมดมีประมาณ ๖๐ คน และสั่งให้จัดแจงหุงหาอาหารมาดูแลกัน

ต่อมาก็เห็นนายมานิตย์ (เค่งหง่วน) วัฒนานิกร(1) เดินถือปืนมาที่หน้าบ้าน ข้าพเจ้าก็แนะนำให้เขารีบไปสมทบที่กองตำรวจแล้วข้าพเจ้าก็รีบวิ่งขึ้นไปเรือนชั้นบนเพื่อตรวจดูทางหน้าต่าง ก็เห็นพวกเรายึดแนวตั้งยิงอยู่ริมทางหลังโรงฆ่าวัว(2) ข้าพเจ้าจึงออกไปทางหลังบ้าน รีบวิ่งหลบหลีกวิถีกระสุนเข้าไปหาพรรคพวกและแจกลูกกระสุนปืนรีวอลเวอร์ให้ พร้อมกับกล่าวเตือนสติปลุกใจ แล้วกลับเข้าบ้านมาออกตรวจดูทางหน้าบ้านและพูดให้สติแก่ผู้อพยพให้อยู่ในความสงบอย่าตื่นตกใจอยู่เพียงชั่วครู่หนึ่ง ความข้องใจก็มีขึ้นอีก ข้าพเจ้าจึงรีบวิ่งออกทางหลังบ้าน

ครั้นพอโผล่หน้าออกประตูไป ก็เห็นมีผู้โบกมือห้ามไม่ให้ออกไป ข้าพเจ้าจึงรีบวิ่งเข้ายึดต้นมะพร้าวเพื่อใช้เป็นที่กำบัง แล้วจึงกวักมือเรียกให้เขามาหา เขาจึงลัดเลาะคลานบ้างวิ่งบ้างเข้ามาหาข้าพเจ้าแล้วบอกว่า เขายิงทหารญี่ปุ่นซึ่งเดินหลงมา ๑ คน ไป ๒ นัด แต่ไม่ถูก ทหารญี่ปุ่นคนนั้นวิ่งหนีหายไป ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้เขารีบตามไปดูทางบ้านนายโอ๊ะส่วนข้าพเจ้าก็รีบวิ่งเข้าไปหาพรรคพวกทางด้านต้านทานปีกซ้าย แนะนำให้ประหยัดลูกกระสุน อย่ายิงโดยไร้ประโยชน์ เพราะลูกกระสุนเรามีน้อย และได้พูดปลุกปลอบใจให้ฮึกเหิมอีกครั้งก่อนกลับเข้าบ้านมา


ในระหว่างนั้นข้าพเจ้าก็ได้คอยดูเวลาและวิ่งไปมาระหว่างหน้าบ้าน หลังบ้าน และบนเรือนเพื่อตรวจดูเหตุการณ์ข้างนอกและดูแลความเป็นอยู่ของบรรดาผู้ที่อพยพเข้ามาหลบอยู่ภายในบ้าน และให้คนใช้และคนที่เป็นผู้ชายซึ่งหลบภัยเข้ามาอาศัยด้วยได้ช่วยกันระดมขุดหลุมหลบภัยทางอากาศไว้กลางบ้านด้านหลัง ๑ หลุม(3) ขนาดจุคนได้ประมาณ ๕๐ กว่าคน ซึ่งหลุมนั้นได้ขุดเสร็จตามประสงค์ภายในเวลาไม่นานนอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้สั่งให้ทลายกำแพงเปิดเป็นประตูตลอดกันกับบ้านขุนพจน์สารบาญ(4)[p3] ผู้เป็นอาและบ้านนางเป้าเลี่ยง[p4] วัฒนายากร(5)แม่ยายของข้าพเจ้า เพื่อให้เดินไปมาหากันได้จากภายในบ้าน

เมื่อข้าพเจ้าออกตรวจดูทางหน้าบ้านอีกครั้ง พบหมอเสถียร ตู้จินดา ได้วิ่งมาและแจ้งว่า ได้รับโทรเลขจากทางกรุงเทพฯสั่งให้ระงับการต้านทานพวกทหารญี่ปุ่น เมื่อได้ทราบความดังนั้นข้าพเจ้าจึงรีบวิ่งออกไปทางหลังบ้านเพื่อเข้าไปที่แนวต้านทานทางปีกซ้ายอีกเป็นคำรบที่ ๓ ข้าพเจ้าได้เรียกนายเกษม ทรัพย์เกษม(6) และยกมือส่งสัญญาณให้เขาเข้ามาหาข้าพเจ้า ๑ คนแต่พวกเขากลับพากันคลานคืบเข้ามาหาตั้ง ๕-๖ คน ข้าพเจ้าจึงส่งสัญญาณใหม่โดยยกนิ้วให้ ๑ นิ้วเพื่อให้เข้ามาหาเพียง ๑ คนและให้ที่เหลือตั้งมั่นรักษาแนวไว้เช่นเดิม แต่ในที่สุดแล้วก็เข้ามากัน ๒ คน ข้าพเจ้าจึงบอกให้พวกเราระงับการยิงต้านทานพวกทหารญี่ปุ่นไว้ แต่ให้ตั้งอยู่ในที่มั่นเช่นเดิมและคุมเชิงไว้โดยไม่ยิง โดยแจ้งข่าวที่รับมาจากหมอเสถียร และให้เขาแจ้งต่อๆกันไปในตลอดแนวของพวกเราถึงแนวของตำรวจ และย้ำว่าอย่าเพิ่งถอยให้รอจนกว่าเจ้าหน้าที่เขาจะมาแจ้งเองอีกครั้ง พวกนั้นจึงได้คลานกลับเข้ายึดแนวที่มั่นเดิมไว้อีกและส่งข่าวต่อๆ กันไป


ข้าพเจ้าจึงรีบกลับเข้าบ้านและแจ้งข่าวให้ผู้อพยพทั้งหมดทราบเพื่อให้คลายความหวั่นวิตก แล้วก็ออกมาทางหน้าบ้านอีก มีใครจำไม่ได้ อาจเป็นนายสำราญ พร้อมกับนายอำเภอเมืองและหมอแอสโมรี(7) ซึ่งเป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่มาเปิดคลินิกรักษาในเมืองปัตตานี แต่ครั้นญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามก็แสดงตัวเป็นนายทหารยศพันตรีแห่งกองทัพญี่ปุ่น ได้นำธงห้ามการยิงกันทั้ง ๒ ฝ่ายมาด้วย โดยนำธงญี่ปุ่นแจ้งให้ฝ่ายทหารญี่ปุ่นรู้เมื่อทั้งหมดได้ทำความเข้าใจกันดีแล้ว ทหารญี่ปุ่น ตำรวจไทย และชาวปัตตานีต่างก็เข้าร่วมชุมนุมกันที่บริเวณสามแยกถนนนาเกลือกับถนนอาเนาะรู ตรงหน้าวัดนิกรชนาราม (วัดหัวตลาด) ข้าพเจ้าได้พูดคุยกันกับนายทหารญี่ปุ่นเป็นภาษาใบ้ซึ่งก็พอจะเข้าใจกันอยู่บ้างผลจากการปะทะกันที่แนวต้านทานนี้ปรากฏว่า ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต ๓ นาย ฝ่ายเราไม่มีการเสียชีวิตเลย มีเพียงนายมานิตย์ วัฒนานิกร ถูกยิงที่ไหล่กระสุนทะลุออก แต่นับว่าโชคดีเพราะกระสุนไม่โดนกระดูกแต่อย่างใด


ในระหว่างที่ชุมนุมกันอยู่นั้นก็มีเสียงเครื่องบินดังกระหึ่มอยู่บนท้องฟ้าตลอดเวลา แลเห็นฝูงเครื่องบินรบบินเข้าแถวสลับฟันปลาแปรขบวนมุ่งออกไปทางทะเล ข้าพเจ้าทราบจากนายทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งว่าเป็นเครื่องบินของพวกเขาทั้งนั้น ข้าพเจ้าพอจะนับคะเนได้จำนวน ๔๐-๕๐ ลำ แต่เขาเพียงบินลาดตระเวนเฉยๆ ไม่ได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินอะไรของฝ่ายเราเลยหลังจากนั้นครู่หนึ่ง ฝ่ายตำรวจไทยก็ได้ถอนกำลังทั้งหมดประมาณ ๑๒ นายกลับสถานีไป โดยมีนายร้อยเอกชายเป็นหัวหน้าชุดควบคุม ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นธุระของข้าพเจ้าช่วยจัดการทั้งหมด

ข้าพเจ้าได้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่พวกทหารญี่ปุ่นในทุกทาง เช่นจัดหารถยนต์ให้เขาเพื่อบรรทุกทหารและศพทหารทั้ง ๓ นาย กลับไปพักหน้าจังหวัด ซึ่งในการนี้ก็ค่อนข้างขลุกขลักอยู่เป็นอันมากเมื่อเสร็จทางธุระเรื่องของทหารญี่ปุ่นแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้รีบเดินทางไปที่หน้าสถานีตำรวจ แต่ก็ไม่พบกับท่านข้าหลวง(น.อ. หลวงสุนาวินวิวัฒน์, ร.น.) ซึ่งท่านได้เดินทางไปจังหวัดยะลา พร้อมกับนายมาโนช วัฒนานิกร (พี่ชายนายมานิตย์) และนายทหารญี่ปุ่น เพื่อเบิกทางและทำความเข้าใจกับกองต้านทานของจังหวัดยะลา ให้ระงับการต้านทานตามนโยบายรัฐบาลเมื่อไม่พบท่านข้าหลวงข้าพเจ้าจึงเดินกลับบ้าน ก็พอดีมีคนวิ่งมาบอกว่าพบเห็นทหารญี่ปุ่นอีก ๑ กองกำลังเพิ่งจะถึงมาใหม่ข้าพเจ้าเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดกันและเกิดยิงต่อสู้กันขึ้นอีก จึงรีบไปหาหมอแอสโมรีและบอกให้รีบไปรับรองกองทหารญี่ปุ่นนี้เสียขณะออกเดินกันไปได้เพียงเล็กน้อยก็พบกับกองทหารที่กลางตลาดกำลังเดินแถวและคุมตัวนายซุ่ยเฉี้ยง(8) เดินชูมือนำหน้าขบวนมา เมื่อหมอแอสโมรีได้ทำความเข้าใจกันดีแล้วทหารญี่ปุ่นก็ได้ปล่อยตัวนายซุ่ยเฉี้ยงเป็นอิสระ


ต่อมาเวลาประมาณบ่าย ๓ โมงเศษ ข้าพเจ้าได้จัดเตรียมเข้าของเงินทองเพื่อจะฝังดินเอาไว้ ตามที่พรรคพวกเพื่อนฝูงทั้งหลายแนะนำให้อพยพออกจากศูนย์กลางตลาด เพราะเกรงการทิ้งบอมบ์จากฝ่ายอังกฤษ ขณะที่กำลังจัดเก็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจวนจะแล้วเสร็จ ก็พอดีท่านข้าหลวงได้ส่งรถยนต์มาตามตัวข้าพเจ้าให้รีบไปพบ เมื่อไปถึงก็เห็นว่ามีนายพันโทโกบายาจิแห่งกองทัพญี่ปุ่น นั่งอยู่ด้วยกับท่านข้าหลวงที่จวน กำลังปรึกษาหารือกันถึงเรื่องฉุกเฉินต่างๆว่าจะดำเนินการกันอย่างไร และผู้พันโกบายาจิได้ขอให้เราแจ้งแก่ราษฎรอย่าให้อพยพไปไหนข้าพเจ้าจึงเรียนขออนุญาตท่านข้าหลวงรีบนำรถยนต์นั่งไปเที่ยวป่าวประกาศบอกราษฎรว่าไม่ต้องตื่นตระหนกอพยพไปไหนเพราะเหตุการณ์เป็นปกติแล้ว ซึ่งก็ได้ผลดีอยู่มาก

แล้วข้าพเจ้าก็กลับไปที่จวนเพื่อเรียนให้ท่านข้าหลวงทราบตลอดช่วงเวลาเช้าที่ผ่านมาของวันนั้น ปรากฏว่าบรรดาข้าราชการและราษฎรที่อาศัยอยู่ฝั่งที่ตั้งจังหวัดได้พากันอพยพข้ามสะพานเดชานุชิต และข้ามเรือมาอยู่ทางฝั่งตลาด และบ้างก็อพยพเลยต่อไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น สายหนึ่งอพยพไปที่ กรือเซะ ยามู(9) ตลอดระยะทางจนเข้าเขตอำเภอสายบุรี สายหนึ่งอพยพไปอยู่ที่บาระโหม กุโบโต๊ะอาเย๊าะ(10) แม่ฮ่อ ปุยุต บ้านลี้มอล่าเต๊ะ ยะลา ม่วงหมัง (11) ส่วนอีกสายก็ไปทางท่าด่าน ปะกาฆอ(12) การอพยพครั้งนี้มีจำนวนทั้งหมดหลายพันคน ส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก โดยมีผู้ชายเป็นผู้ดูแลควบคุมไป


การยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นที่จังหวัดปัตตานีเมื่อยามใกล้รุ่งของวันจันทร์ที่ ๘ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ นี้ ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเป็นหลายทาง ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำ ยกพลขึ้นบกที่ตำบลรูสมิแล ริมฝั่งทะเลตลอดมาจนถึงด่านภาษี ที่บริเวณคอกสัตว์(13) และถนนปากน้ำ วางแนวกันกว้าง ได้เกิดการปะทะยิงต่อสู้กับกองทหาร ร.พัน ๔๒ ส่วนด้านบริเวณที่ใกล้จังหวัดและบ้านพักราชการ มีกองตำรวจ ยุวชนทหาร ข้าราชการ ราษฎร ร่วมมือกันต้านทานการต่อสู้ต้านทานกองกำลังทหารญี่ปุ่นด้านจังหวัดนี้ ปรากฏว่ามีข้าราชการ ตำรวจ ยุวชนทหาร ราษฎร เสียชีวิตประมาณ ๒๔ คน เป็นยุวชนทหาร ๕ คน ทหารไทยร.พัน ๔๒ เสียชีวิตประมาณ ๔๐ คน รวมทั้งผู้บังคับกองพัน พันตรีขุนอิงคยุทธบริหารก็เสียชีวิตไปด้วย ส่วนทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตมากมายถึงร้อยกว่านาย(14) ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำ ยกพลขึ้นบกที่ริมทะเลตรงข้ามกับด่านภาษี(15) ยกขบวนไปตามถนนนาเกลือ ปะทะการต้านทานของเลือดไทยแท้ๆ ซึ่งมีปืนสั้น ปืนแฝด ปืนเดี่ยว ปืนเมาเซอร์ต่อด้าม แบบเลือดชาวบ้านบางระจัน ปะทะกันอยู่นานประมาณ ๕ นาที ก่อนที่กองกำลังตำรวจประมาณ ๑๐ นายได้เข้าทำการร่วมมือต่อสู้ต้านทานด้วย สามารถต้านทานอยู่นานถึง ๒ ชั่วโมง กว่าที่จะมีคำสั่งจากทางรัฐบาลให้ยุติการยิงต้านทานการปะทะกันด้านถนนนาเกลือนี้ ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต ๓ นาย ฝ่ายเรามีเพียงได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่ไหล่ ๑ คน ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว


เวลาต่อมาเรือลำเลียงก็บรรทุกทหารแล่นเข้าลำน้ำปัตตานีเป็นขบวนยาวยืด ทหารและสัมภาระ รถทหาร ถูกลำเลียงขึ้นบกอย่างคับคั่ง พวกทหารแนวหน้าก็รีบจับหารถโดยสารยึดไปบรรทุกทหารรีบเร่งผ่านหน้าจังหวัดเลยไปยังจุดหมายปลายทางคือเบตง เรือลำเลียงทหารมองดูสุดสายตาซึ่งจอดอยู่ในทะเล ในระหว่างนั้น ท้องทะเลจะดูเต็มไปด้วยเรือรบหลายชนิดและเรือลำเลียงขนส่งทหารขึ้นบก มองดูบนถนนจะแลเห็นรถบรรทุกของทหารขนส่งสรรพวัตถุและเสบียง และขนส่งทหารเรื่อยๆไปตลอดวันและค่ำคืน ทหารก็ทำการขนเข้าของขึ้นจากเรือกันอย่างหนักตลอดวัน ถนนหนทางในเมืองก็เต็มไปด้วยการสัญจรของพวกทหารอย่างหนาแน่น ท่าเรือริมแม่น้ำก็เต็มไปด้วยเรือลำเลียงเทียบตลิ่ง ทหารช่างก็ซ่อมแซมสะพานกันอย่างรีบเพื่อขึ้นของหนักเช่นตัวรถทุกชนิดถึงรถแทงก์ และรถบดหินทำถนน จะเดินไปทางไหนก็จะต้องหลบหลีกทหารไปทุกหนทุกแห่ง ร้านค้ากลางตลาดก็ปิดหมดกองทหารญี่ปุ่นก็พักกันอยู่อย่างหนาแน่นทั้งสองฝั่งแม่น้ำปัตตานี ทหารญี่ปุ่นได้เข้าอยู่อาศัยในเกือบทุกบ้านเรือนและสถานที่ราชการ วัตถุสัมภาระทุกชนิดและน้ำมันเชื้อเพลิงก็วางเต็มไปตามริมถนนหน้าจังหวัด ยวดยานของเอกชนก็ถูกเก็บขนไปใช้เพื่อการทหารเกือบหมด ไม่มีเหลืออยู่เลยนอกจากที่ได้มีการเก็บซ่อนไว้อย่างดี


สถานที่ราชการและบ้านเรือนราษฎรที่ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดอาศัยอยู่มีมากมาย ดังนี้ บ้านพักแพทย์ ๓ หลัง บ้านพักอัยการ บ้านพักนายอำเภอ ที่ว่าการอำเภอ บ้านพักหลังอำเภอ อาคารในโรงพยาบาล ๓ หลังสโมสรข้าราชการ บ้านพักข้าราชการ ๕ หลัง โรงเรียนสตรี โรงเรียนช่างไม้ ๒ หลัง โรงเรียนชายประจำจังหวัด ศาลาในสนาม บ้านแขกแถวโรงไม้เจ๊ะอาลี(16) จำนวนหลายหลัง ที่ทำการป่าไม้ ที่ทำการสถานีตำรวจพิเศษเก่า ศาลากลางจังหวัดทั้งหมด ศาลจังหวัด ที่ทำงานเทศบาล บ้านขุนอนุกิจ(17) ที่ทำการไปรษณีย์ ร้านแผงลอยเชิงสะพานเดชานุชิต ๓ หลัง ที่โกดังเก็บของหน้าสถานีตำรวจบางส่วนในวัดตานีนรสโมสร บ้านหวันอับดุลเล๊าะ บ้าน ๓ ชั้นของนายเคี่ยนไถ่(18) บ้านนายเต็กเฮี้ยน(19) บ้านนายสมเกียรติ(20) บ้านแถวหน้าบ้านเอ๊กเซ่ง(21) ๘ ห้อง บ้านนายมาโนช วัฒนานิกร ๒ ห้อง ห้องเช่าของขุนพิทักษ์รายาเลยโรงน้ำแข็งมาโนช ๕ ห้อง บ้านเช่านายโป้โฮ้ง(22) ที่โรงเรียนจีนเก่า บ้านฮะยีสุหรง(23)หลังใหญ่ ตลาดเทศวิวัฒน์ ตลาดตรงข้าม เรือนแถวข้างบ้านหมอกลิ่น(24) บริษัทจังหวัดเข้าของต่างๆ เก็บไว้ในที่ไม่จุ ต้องเก็บวางไว้ตามริมถนนเกลื่อนไปทุกแห่ง จำนวนทหารญี่ปุ่นทั้งสิ้นประมาณ ๕ หมื่นนาย


หลังจากการยกพลขึ้นบกได้ราว ๓ วัน ก็มีรถทหารวิ่งมามากมายนับจำนวนหลายร้อยคันดูเป็นแถวยาวยืดตามริมถนนเป็นรถบรรทุกทั้งสิ้น การขนส่งทหารและสัมภาระต่างๆ ได้ทยอยบรรทุกไปกันเรื่อยๆ ทุกวันมิขาดสาย ทางทะเลก็ขนขึ้นกับเรือยนต์บรรทุกของเรา เสียงเครื่องจักรดังตลอดเวลา รุ่งเช้าเข้าของก็เต็มไปทุกหนทุกแห่ง กลางวันก็มีเสียงเครื่องยนต์รถบรรทุกและเครื่องบิน บินกำกับควบคุมกันตลอดเวลาข้าพเจ้าและครอบครัว แม้จะได้จัดเตรียมเข้าของเงินทองรูปพรรณบรรจุปี๊บฝังไว้ที่หลังบ้านแม่ยายของข้าพเจ้า โดยมีนายเกียดและนายหกเคียด(25)เป็นผู้ขุดหลุมฝัง และจัดเตรียมเครื่องนุ่งห่มบรรจุหีบพอควรที่จะขนเอาไปได้ ส่วนที่เหลืออีกมากมายก็เก็บขนไว้ที่บ้านแม่ยาย แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่ได้อพยพไปไหน เพราะตกลงกันเห็นว่าอยู่กับบ้านจะปลอดภัยดีกว่า


ในคืนวันแรกนี้ ข้าพเจ้าเกรงภัยทางอากาศจากฝ่ายอังกฤษจึงได้พากันนอนอยู่ที่ชั้นล่างของเรือน เพื่อจะได้สะดวกหากจะต้องลงไปหลบในหลุมหลบภัยที่ได้ขุดเตรียมไว้ และในคืนรุ่งขึ้นเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินไปพอทำให้คลายวิตกลงบ้าง จึงกลับขึ้นไปนอนชั้นบนตามเดิมคืนวันที่ ๑๐ เวลา ๒๐.๒๕ น. มีคนมาตบประตูดังอยู่ราว ๓ นาที และในคืนวันที่ ๑๑ เวลาเดียวกัน ก็มีคนมาตบประตูเรียกอีก เหตุการณ์ใน ๒ คืนนี้ทำให้เราในบ้านตื่นเต้นกันมาก ต้องดับไฟหมดและเตรียมอาวุธปืนและดาบพร้อมมือกัน คอยเวลาชี้ขาดของเหตุการณ์ การชี้ขาดตัดสินใจในเรื่องเป็นตายกันเช่นนี้รู้สึกว่าหนักใจมาก ชั้นต้นเราต้องรอคอยจนกว่าประตูจะพังทลายเข้ามา ถ้าเป็นเหตุทุจริตก็ต้องใช้อาวุธที่มีอยู่ต่อสู้ป้องกันตัวกันเท่านั้น เพราะไม่มีทางใดจะดีกว่านี้อีก แต่แล้วก็สงบเงียบไปอีก

รุ่งขึ้นผู้ที่ตบประตูจึงเข้ามาหาบอกให้รู้ว่าเขาเองเป็นผู้ตบประตูมาแล้วสองคืน คือทหารญี่ปุ่นที่เคยมาในบ้านเรานั้นเอง เป็นนายสิบเสนารักษ์ (26) และในคืนเดียวกันนั้น (วันที่ ๑๑ ธันวา ๘๔) ก็ได้ยินเสียงปืนใหญ่เริ่มยิงที่นอกทะเล ๑๒ นัด ดังเสียงอย่างกับฟ้าลั่น บ้านเรือนสั่นสะเทือนไหว เป็นที่น่าหวาดเกรงกันมาก รุ่งเช้าจึงทราบว่าเรือรบญี่ปุ่นยิงเรือดำน้ำอังกฤษที่โผล่เข้ามานับตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคมวันแรก ข้าพเจ้าก็ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกับท่านข้าหลวงที่จวนทุกวันจนถึงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ข้าพเจ้าเริ่มเหน็ดเหนื่อยมากตลอดวัน เพราะต้องคอยวิ่งเต้นหาคนงานและช่วยเหลือให้ความคิดเห็นเสนอท่านข้าหลวงทั้งในแง่ขอกำลังเพื่อรักษาความสงบจากกองทหาร และคิดหาทางปราบปรามผู้ทุจริตคิดคดต่อชาติไทย ข้าพเจ้าได้เสนอให้ท่านสั่งยิงผู้ทุจริต และรีบจัดการสะสางหาตัวผู้ทุจริตมาลงโทษ ท่านข้าหลวงได้ให้ความไว้วางใจข้าพเจ้าในการเสนอความคิดเห็นจนข้าพเจ้ารู้สึกปิติและเป็นเกียรติยิ่ง


ภายในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นทั้งกลางวันกลางคืนก็คอยรู้สึกวิตกกังวลถึงเหตุการณ์ต่างๆ อยู่ทุกระยะ จากที่ข้าพเจ้าตามสังเกตดู ทหารไทย ร.พัน ๔๒ บ่อทอง มีความสนิทสนมรื่นเริงกับทหารญี่ปุ่นเป็นอย่างดีมาก แต่ติดต่อคุยกันเป็นภาษาใบ้ ทำให้ผู้ดูและผู้คุยรู้สึกสนุกและขบขันมาก ถึงพวกพ่อค้าราษฎรก็เช่นเดียวกันทหารญี่ปุ่นนั้นมีพวกกิเลสหยาบปะปนอยู่บ้าง แต่ที่สร้างปัญหาให้กับราษฎรเราส่วนมากเป็นพวกทหารที่ถูกเกณฑ์มาจากเมืองขึ้นของญี่ปุ่น เช่น เกาหลีและไต้หวัน ถึงกระนั้นก็ดีเมื่อทางการชั้นนายเขาจับได้ก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก ถึงกับยิงเป้าไปแล้วก็มีไม่น้อย วินัยของเขาน่าชมมากครั้นการล่วงมาแล้วราว ๑๕ วัน จึงค่อยได้ข่าวจากทางนครศรีธรรมราช ว่าจำรูญ ประเวศ(27) เติมศักดิ์(28) บุตรชายทั้งสามของข้าพเจ้า และ สมบูรณ์ หลานชาย ที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนอเมริกัน ต้องอพยพออกจากโรงเรียนแต่ทั้ง ๔ คนปลอดภัยดี ทำให้ข้าพเจ้าเบาใจไปได้มาก แต่ก็ยังกังวลใจอยู่เพราะยังไม่ได้รับข่าวจากทางกรุงเทพซึ่งละอองลูกสาวข้าพเจ้าเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัฒนา บางกะปิ ต่อมาจึงได้รับข่าวที่แน่นอนจากจดหมายที่หมอบุญส่ง เลขะกุล(29)ผู้ใจดี ได้ส่งมาถึงนายเข้งถ้อง(30)ว่าเขาได้ไปค้นหาและพบตัวลูกของข้าพเจ้าทุกคนแล้ว และก็รับมาไว้ที่สหการแพทย์ ส่วนละอองไปอยู่กับป้าเขาที่นางเลิ้ง คือ ฉีสิ้ม(31) ทำให้พวกเราทุกคนคลายความวิตกลงได้มาก

ครั้นถึงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ข้าพเจ้าก็ให้นายสุนนท์ บุตรชายคนรอง กับนายโป้หยี่(32) ไปรับพวกเด็กๆที่นครศรีธรรมราชกลับมาปัตตานี


เหตุการณ์เฉพาะตัวข้าพเจ้าที่น่าจดจำอีกประการหนึ่งเกิดขึ้นขณะที่ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่บริษัทจังหวัด เวลา ๑๐ โมงเช้า ดูเหมือนจะเป็นวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ขณะนั้นมีนายทหารญี่ปุ่น ๖ นายได้เข้าไปในร้านบริษัท มีนายทหารคนหนึ่งในจำนวนนั้นชี้ที่ตัวข้าพเจ้า แล้วก็พูดกับเพื่อนของเขาโดยข้าพเจ้าฟังไม่รู้เรื่อง เขามีอาการพูดยิ้มๆอย่างเยือกเย็น ราวกับว่าเขารู้จักข้าพเจ้าดี แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกคลับคล้ายคลับคลา จึงยิ้มตอบไปให้กัน ต่อมานายทหารคนนั้นมาหาซื้อของที่ร้านน้ำชาที่แถวหน้าวัดตานีนรสโมสร ขณะที่ข้าพเจ้านั่งร่วมวงอยู่กับ ขุนเจริญวรเวช(33) และนายยอด รัตนคณิต(34) เมื่อนายทหารคนนี้เดินเข้ามา ข้าพเจ้ารู้สึกชอบใจในกิริยาของเขาจึงเชิญให้นั่งรับกาแฟด้วยกันโดยมีขุนเจริญวรเวชเป็นล่ามพูดภาษาอังกฤษกันพอรู้เรื่องคุยกันอย่างสนุกอยู่นาน ลงท้ายเขาบอกขุนเจริญวรเวชว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้สั่งให้ลูกน้องทำการยิงเขาก่อนที่ด้านถนนนาเกลือเมื่อวันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม โดยฝ่ายเขาเดินมากันอย่างเรียบๆ และห้ามไม่ให้ทหารเขายิงเราก่อน เหตุที่ทำให้เขาเข้าใจเช่นนั้นคงเพราะข้าพเจ้าแสดงเป็นหัวหน้าอยู่ในการระงับการยิงต่อสู้ต้านทานกัน ข้าพเจ้าจึงระลึกได้ว่านายทหารคนนี้แหละที่นำทหาร ๒ กองร้อยมาทางถนนนาเกลือในวันนั้น เขาบอกว่าเขาชื่อ นายเรืออากาศตรี ตาเบรุ อีซากี(35)แห่งกองทัพญี่ปุ่น นายทหารคนนี้เรียบร้อยและเยือกเย็นมาก ข้าพเจ้ารู้สึกชอบนิสัยของเขา เขาบอกว่ากลับจากการรบที่สิงคโปร์แล้วจะแวะเยี่ยมข้าพเจ้าที่บ้านพัก


การขอผ่านทางของกองทัพญี่ปุ่นครั้งนี้ ได้ยกพลขึ้นบกที่บางปู กรุงเทพ ตลอดถึงจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทยแล้วรีบรุดเดินกองทัพโดยรถยนต์บรรทุกและรถไฟ เร่งรีบตีบุกเข้าเขตมลายูของอังกฤษในทันใดนั้น โดยแยกกำลังทหารออกเป็น ๔ ทาง คือ ๑. เข้ากลันตันทางรถไฟ ๒. เข้าผ่านเบตงทางรถยนต์ ๓. เข้าผ่านสะเดาทางรถยนต์และทหารม้า ๔. เข้าผ่านปาดังเบซาร์ทางรถไฟ และแล้ว กลันตัน ไทรบุรี ปีนัง อิโป เปรัค ก็ตกอยู่ในกำมือของกองทหารญี่ปุ่นภายในวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔และในวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ก็เหลือระยะทางที่กองทัพญี่ปุ่นจะบุกถึงสิงคโปร์อีกเพียงราว ๑๕๐ ไมล์เท่านั้นในขณะที่ฮ่องกงก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดไว้ได้ตั้งแต่ภายในเดือนธันวาคมแล้ว


******************************************************

คำอธิบายเพิ่มเติม

(1.) นายมานิตย์ วัฒนานิกร ชื่อเดิม เกี้ยนหง่วน เป็นลูกชายหลวงสกลการธานี (ซุ่ยจ่าย แซ่ลั้ว) หลวงสกลฯเป็นคนสนิทของคุณพระจีนฯบ้านหลวงสกลฯคือบ้านที่เก็บเบียร์ตรงข้ามบ้านลุงนพ

(2.) โรงฆ่าวัว หรือโรงฆ่าสัตว์ คือบริเวณบ้านหัวมุมถนนอาเนาะรูตรงข้ามวัดหัวตลาด(วัดนิกรชนาราม) ติดกับที่บัวคุณปู่ในปัจจุบัน

(3.) หลุมหลบภัยหลังบ้านปู่ ภายหลังคือบ่อปลากัดในสวนหลังบ้าน

(4.) บ้านขุนพจน์สารบาญ คือบ้านกงสีในปัจจุบัน

(5.) บ้านนางเป้าเลี่ยง คือบ้านตึกจีนหลังบ้านอาสมพร ที่ปัจจุบันปิดเป็นที่อยู่ของนกนางแอ่น

(6.) นายเกษม ทรัพย์เกษม เป็นคนจากทางภาคกลางเป็นนักมวยชกมวยเร่ร่อนไปแล้วไปอยู่ในความดูแลของคุณย่าเสริมสุข ภายหลังถีบสามล้อ และช่วยขายหมูในตลาด

(7.) หมอแอสโมรี เป็นหมอฟัน

(8.) นายซุ่ยเฉี้ยง นาคพันธุ์ เป็นเครือญาติทางสายเจ๋าโรงเหล้า พ่อตาคุณพระจีนฯ บ้านนายซุ่ยเฉี้ยง คือหลังบ้านพี่ยานครูจิ้น ตรงข้ามบ้านปู่ ลูกสาวนายซุ่ยเฉี้ยง ชื่อ จี๊ตัน เป็นช่างเย็บเสื้อ เป็นโปลิโอเดินขากระเผลก

(9.) ยามู คือ ยะหริ่ง

(10.) กูโบโต๊ะอาเย๊าะ คือ สุสานอิสลามที่จะบังติกอ

(11.) ม่วงหมัง อยู่เขตอำเภอยะรัง จะไปทางนาเกตุก็ได้

(12.) ปะกาฆอ คือหมู่บ้านแถวถนนโรงเหล้า บ้านอามุล

(13.) คอกสัตว์ คือ หลังโรงเรียนเทศบาล 5 ถนนเจริญประดิษฐ์ ทางไป ม.อ.

(14.) จำนวนและรายชื่อให้ดูจากบทความคุณตาอนันต์ วัฒนานิกร

(15.) ด่านภาษี คือ ด่านศุลกากร ที่ปากน้ำ

(16.) โรงไม้เจ๊ะอาลี คือโรงไม้สมานไทย เดิมอยู่ริมแม่น้ำใกล้ที่ทำการป่าไม้ เจ้าของคือนายเจ๊ะอาลี อาลีอิสเฮ๊าะ

(17.) บ้านขุนอนุกิจ คือ บริเวณพิธานสแควร์ตรงข้ามเทศบาล

(18.) ตึกเคียนไถ่ เป็นบ้านนายเคียนไถ่ กาญจนภูมิ อยู่ถนนปัตตานีภิรมย์ ตรงข้ามร้านหมอชวนหมอนัยนา บางคนเรียกตึกดำ เป็นตึก 3 ชั้นที่ทันสมัยมาก ภายหลังใช้เป็นที่ทำงานธนาคารกรุงศรีอยุธยา แล้วถูกปล่อยให้ร้าง เพราะมีปัญหาเรื่องฟ้องร้องมรดกของทายาท

(19.) นายเต็กเฮี้ยน โลหะวิจารณ์ บ้านตึกตรงข้ามบริษัทธำรงฯ ถนนปัตตานีภิรมย์ มีลูกชื่อหลุย ปัญญาอ่อน แต่คุยกันรู้เรื่อง ภรรยานายเต็กเฮี้ยนชื่อป้าซุ่นบี๋ เป็นพี่สาวของป้าซุ่นกี่โรงงานปัตตานีอุตสาหกรรม และลุงซ่องโต่พ่อน้าหมีทุเรียนกวน

(20.) นายสมเกียรติ เวียงอุโฆษณ์ หรือนายจินถอก บ้านอยู่ตรงหัวมุมถนนปัตตานีภิรมย์ตัดกับถนนมายอ หลังโรงเรียนจีนเคยเป็นไนท์คลับของลุงนนท์ ภายหลังเป็นที่ทำงานของสมาคมประมง

(21.) บ้านแถวหน้าบ้านเอกเซ่ง คือ บริษัทพิธานฯเดิม เป็นห้องแถวหลังโรงเรียนจีน ภายหลังเป็นบ้านพักของลุงปาล์ จันทรัศมี

(22.) นายโป้โฮ้ง หรือนายบุญล้อม กุลโชติ เป็นลูกชายนางเป็กเซี่ย น้องสาวร่วมมารดากับคุณปู่ บ้านอยู่ตรงข้ามตึกเคี่ยนไถ่ มีหลานชายชื่อครรชิต เป็นโปลิโอ 2

(23.) หะยีสุหลง โต๊ะมีนา

(24.) หมอกลิ่น หรือนายกลิ่น สุวรรณแพทย์ เป็นตาของอายอดรัก จันทรัศมี บ้านอยู่ถนนฤาดี ใกล้ร้านหมอวิชิต

(25.) นายเกียด และนายฮกเคียด เป็นคนงานในบ้านปู่ เป็นคนแถวบ้านบน สงขลา

(26.) พ่อบอกว่าพวกญี่ปุ่นพวกนี้เข้ามาฟังวิทยุที่บ้านปู่ทุกคืน เพื่อหาข่าวและ ดูว่าข่าวเรื่องการรบที่กองทัพญี่ปุ่นแจ้งให้แก่พวกทหารญี่ปุ่นทราบนั้นจริง เท็จประการใด และได้ปิดป้ายสัญลักษณ์บอกไม่ให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามารบกวนบ้าน หลังนี้ พวกทหารญี่ปุ่นเลยไม่ได้ใช้เป็นที่พักเหมือนบ้านหลังใหญ่ๆ ของคน อื่น ที่โดนยึดเป็นที่พักไปหมด นายทหารญี่ปุ่นเอาป้ายมาแปะที่หน้าบ้านปู่ เวลาทหารเดินผ่านต้องทำวันทยาหัตถ์ด้วยทุกครั้ง เพราะถือเป็นตัวแทนผู้บังคับบัญชา

(27.) สมัยนั้นพ่อชื่อ ประยูร ตันธนวัฒน์

(28.) สมัยนั้นอาเติม ชื่อ ประยงค์ ตันธนวัฒน์

(29.) น.พ.บุญส่ง เลขะกุล เป็นลูกพี่ลูกน้องกับน.พ.บุญสิทธิ์ พ่อหมอบุญส่งชื่อนายบุญแจ้ง พ่อหมอบุญสิทธิ์ชื่อนายขเจน พ่อหมอบุญสิทธิ์เป็นน้องของย่ายี่เกียว ย่าของภรรยาผม ภรรยาหมอบุญส่งชื่อป้าสุภาพ เป็นลูกสาวยายโป้ฮ้วย อั่งสกุล อยู่ยะลา ครอบครัวหมอบุญส่งเลยสนิทกับพวกเราเหมือนญาติ

(30.) นายเข้งถ้อง หรือเจริญลาภ เลาหะวนิช เจ้าของร้านถ้องเซ่ง ถนนฤาดีตรงข้ามร้านหมอวิชิต เป็นเพื่อนสนิทของปู่ ภรรยานายเข้งถ้องเป็นน้องสาวนายเต็กเฮี่ยน โลหะวิจารณ์

(31.) ฉีสิ้ม คือยายซุ่ยสิ้ม ปริชญากร ลูกสาวคนโตขุนพิทักษ์รายา

(32.) นายโป้ยี่ กาญจนบุษย์ เป็นลูกนางกิมจู กาญจนบุษย์ น้องต่างมารดาของคุณพระจีนฯ นายโป้ยี่ สติไม่ค่อยสมประกอบ เป็นพี่เลี้ยงอาเติม

(33.) ขุนเจริญวรเวช (เจริญ สืบแสง) เป็นเพื่อนรุ่นน้องที่คุณปู่รักมาก ก่อนคุณปู่จะตาย ขุนเจริญฯไปเยี่ยม แล้วนั่งคุยกัน 2 คน ต่างก็ร้องไห้ หลังจากนั้นคุณปู่ก็อาการทรุดลง ตอนขุนเจริญฯตายพ่อพาผมไปช่วยงานทุกคืน เพราะคุณปู่สั่งพ่อว่าห้ามทิ้งขุนเจริญฯเด็ดขาด

(34.) นายยอด รัตนคณิต เป็นทนายความบ้านอยู่หลังมัสยิดกลาง ลูกเขยคุณตายอดคืออาทุเลา (ชนะ ตุลิตาคม) เป็นเพื่อนซี้พ่อ ที่ยังติดต่อกันจนทุกวันนี้

(35.) นายเรือตรี ตาเบรุ อีซากี น่าจะเป็นนายทหารที่ถ่ายรูปกับอาเติม เขารักอาเติมมาก เพราะคล้ายลูกชายเขา ก่อนจากกันเขาให้ดาบซามูไรอาเติม 1 เล่ม ไม่ทราบยังอยู่หรือเปล่า [p1]บ้านของผู้บันทึกอยู่บ้านเลขที่ ๒๙ ถนนอาเนาะรู ใกล้ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

ด้านที่ตั้งของจังหวัดคือฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำปัตตานี



[p2]บ้านขุนธำรงพันธุ์ภักดีอยู่ถนนปัตตานีภิรมย์




[p4]บ้านเลขที่ ๒๗ ถนนอาเนาะรู



[p5]บ้านเลขที่ ๒๕ ถนนอาเนาะรู



โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comentários


เว็บไซต์นี้จัดทำเพื่อรวบรวมรายชื่อทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ตันเตียงสิ่น)ทุกสายสกุล และมีเรื่องราวต่าง ๆ ของตระกูลและท้องถิ่น รวมถึงนานาสรรพสาระต่าง ๆ

bottom of page