ผมได้รับเชิญจาก The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships หรือ AOTS ให้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วม The Training Program on Japanese-style Apheresis Treatment for Thailand ช่วงวันที่ ๒๘-๓๐ มกราคม ๒๕๖๒AOTS เป็นองค์กรอิสระทำนองเดียวกับ JICA ที่ผมเคยได้รับทุนไปดูงานมาก่อนหน้านี้ แต่ JICA จะเน้นด้านการศึกษา ด้านสังคม ด้านการแพทย์ ส่วน AOTS จะเน้นด้านเทคโนโลยี
ผมได้รับทุนสนับสนุนจาก JICA แบบส้มหล่น เพราะ Schirogaze san อดีตผู้บริหารของบริษัท Asahi kasei ที่เป็นนายทุนใหญ่ให้ JICA เคยไปขอพบผู้บริหารระดับสูง สปสช.เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดระบบบริการบำบัดทดแทนไตในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย แล้วมันถูกส่งจากเลขาธิการ ไปรองเลขาธิการ ไปที่ปรึกษาอาวุโส แล้วมาจบที่ ผ.อ.ด้วยเหตุผลว่าทุกคนไม่ว่างให้ผมเป็นคนต้อนรับก็แล้วกัน ผมก็นำเสนอข้อมูลพูดคุยกับ Schirogaze san แบบรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่แกประทับใจในตัวผม กลับไปไม่นานทาง JICA ก็ส่งหนังสือแจ้งว่าขอให้ผมเขียนใบสมัครขอรับการสนับสนุนไปศึกษาดูงานที่ Eastern Kyushu Medical Valley ผมเกือบไม่ได้ไปเพราะผู้บริหารระดับสูงเขางงว่าไอ้หมอนี่มันเส้นใหญ่มาจากไหน JICA ถึงระบุตัวมาเลย
มาคราวนี้ก็เช่นกัน ทาง AOTS ประสานมาขอพบผู้บริหารระดับสูง สปสช.เพื่อหารือเรื่องการจัดระบบบริการรักษาโรคด้วยวิธี apheresis วันนั้นผมติดภารกิจอื่นไม่สามารถเข้าร่วมหารือได้ แต่ทาง AOTS ระบุมาว่าต้องการให้ ผ.อ.ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ไปดูงาน ส้มจึงหล่นใส่ผมอีกครั้ง

AOTS แจ้งมาว่าผู้ที่เดินทางไปต้องไปขอทำ Training Visa ซึ่งอันที่จริงประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทยเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ ๓๐ วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า แต่เมื่อเจ้าของทุนระบุมาผมก็ต้องไปยื่นขอวีซ่าตามระเบียบ เมื่อผมนำเอกสารจาก AOTS และหนังสือเดินทางไปติดต่อที่สถานทูตญี่ปุ่น ถนนวิทยุไม่มีคนเลย ยื่นเอกสารเช้า บ่ายวันรุ่งขึ้นไปรับได้เลย ได้รับอนุญาตให้พักอาศัยในประเทศญี่ปุ่นได้ ๓ เดือน

ทาง AOTS ส่งรายละเอียดการเดินทางมาให้ เราต้องเดินทางเที่ยงคืนคืนวันที่ ๒๗ กลับเช้าวันที่ ๓๑ มกราคม คณะที่ไปเป็นหมอจากสมาคมโรคไตฯ มูลนิธิโรคไตฯ และสมาคมประสาทวิทยา รวมกัน ๑๑ คน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ๓ คน ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ๒ คน และเจ้าหน้าที่ สปสช. ๒ คนคือผมกับไก่ อภิสมัย จากสำนักสนับสนุนระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ ยังมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทเครื่องมือแพทย์เจ้าหนึ่งอีก ๒ คนทำหน้าที่ผู้ประสานงานในนาม AOTS เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีระเบียบว่าบริษัทยาหรือเครื่องมือแพทย์เอกชนไม่สามารถติดต่อกับหน่วยงานรัฐของต่างประเทศโดยตรง บริษัทเหล่านั้นจึงต้องลงเงินสนับสนุนหน่วยงานเช่น JICA หรือ AOTS เมื่อทาง JICA หรือ AOTS มีโปรแกรมอะไรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเหล่านั้นก็จะให้เจ้าหน้าที่บริษัทเข้าร่วมด้วย
เมื่อใกล้ถึงวันเดินทาง AOTS ส่ง e-ticket ของการบินไทยมาให้ ขาไปเราเดินทางไปสนามบินฟุกุโอกะ ขากลับเดินทางจากสนามบินฮาเนดะ โตเกียว ของผมเขาให้เดินทางชั้นธุรกิจ ส่วนไก่เดินทางชั้นประหยัด ด้วยความที่ไก่เป็นผู้ช่ำชองในการเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นเธอจึงจัดการเลือกที่นั่ง เช็คอินให้ผมโดยที่ผมไม่ต้องทำอะไรสบายไป
วันเดินทางหลังจากโหลดกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ผ่าน ต.ม.แล้ว ผมก็เดินดูสินค้าในร้านปลอดภาษีตามใบสั่ง ไม่เจอผู้ร่วมเดินทางคนอื่นเลยเข้าใจว่าส่วนใหญ่จะมีบัตรทองการบินไทยกันเลยไปนั่งเลานจ์การบินไทย ผมกับไก่ไม่มีเหมือนคนอื่น ตั๋วชั้นธุรกิจของผมเขาก็ให้เข้าเฉพาะตัว ไม่อนุญาตให้มีผู้ติดตาม เรา ๒ คนเลยไปนั่งเลานจ์ ของคิงส์พาวเวอร์แทน จนใกล้ถึงเวลาไปที่ประตูทางออกขึ้นเครื่องบินจึงเจอพี่เกรียงศักดิ์ นายกสมาคมโรคไตกับภรรยา ส่วนคนอื่น ๆ ผมไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว

การเดินทางสะดวกสบายเพราะเดินทางชั้นธุรกิจ ออกเดินทางประมาณตี ๑ หลังจากจิบน้ำส้มไป ๑ แก้ว ผมจึงได้นอนหลับยาวไปรู้สึกตัวอีกทีตอนตี ๔ ครึ่ง เขาเริ่มเสิร์ฟอาหารเช้า ผมสั่งเป็นชุดออมเล็ตไว้ เครื่องลงที่สนามบินฟุกุโอกะประมาณ ๗ โมงครึ่งตามเวลาญี่ปุ่น คิว ต.ม.ยาวมาก มันมีเครื่องอัตโนมัติด้วย เราเดินไปตามแถวพอถึงเครื่องก็แสกนหนังสือเดินทาง ถ่ายรูป แสกนลายนิ้วมือ แต่เจ้าหน้าที่ยังคงให้เราเดินต่อแถวไปเรื่อย ๆ จนไปถึงช่องที่มีเจ้าหน้าที่ ผมก็คิดว่าคงจะแค่เอาหนังสือเดินทางไปตรวจเพราะเราถ่ายรูปและแสกนลายนิ้วมือแล้ว แต่ปรากฏว่าเราต้องไปเข้ากระบวนการเหมือนเดิมทุกอย่าง มาสนุกตอนที่เจ้าหน้าที่ ต.ม.ซึ่งเป็นสาวทำหน้างง ๆ เมื่อเห็นวีซ่าของผมทำนองว่านี่มันคืออะไรฉันไม่รู้จัก ยิ่งมาดูใบกรอกเข้าเมืองผมระบุว่าอยู่ญี่ปุ่น ๔ วัน แต่วีซ่าระบุว่าให้ผมอยู่ได้ ๓ เดือน เธออ่านแล้วอ่านอีก แล้วเงยหน้าถามผมว่าตกลงผมใช้วีซ่านี่เหรอ ผมบอกว่า AOTS ระบุว่าผมต้องของ Training visa เธอเลยแปะสติกเกอร์ให้ผมอยู่ได้ ๓ เดือนตามวีซ่า ก็อะริกะโตะโกไซมัสเธอไปแล้วไปรับกระเป๋า คณะเราเสียเวลากับการผ่าน ต.ม.อยู่นานพอสมควร ด้านนอกมี Hirano san ผู้จัดการฝ่ายของบริษัท Asahi Kasei มารอรับ เราขึ้นรถบัสมุ่งหน้าไปยังโออิตะ อากาศภายนอกอาคารกำลังดี ผมสวมเสื้อยืดแขนยาวชั้นเดียวยังเอาอยู่ รถไปจอดที่จุดพักรถยามาดะ ผมลงไปเดินยืดเส้นยืดสายวัดอุณหภูมิได้ ๖ องศาเซลเซียส

เราไปถึงโรงแรม JR Kyushu Blossom Oita ประมาณ ๑๑ โมงเศษ เขานำพวกเราไปห้องประชุมเล็กเพื่อทำการปฐมนิเทศเลย จัดที่นั่งเป็นคู่ ๆ ตามหน่วยงานต้นสังกัด มี Kanazawa san เจ้าหน้าที่ AOTS, Takano san ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมใหม่ของโออิตะ และคุณบวร ล่ามชาวไทยคอยต้อนรับ
Takano san กล่าวต้อนรับในนามของโออิตะ และเล่าว่าโออิตะเป็นเมืองอุตสาหกรรม บริษัทเจ้าใหญ่คือ Canon, Sony และ Daihatsu ส่วนอุตสาหกรรมทางการแพทย์มีรายได้อยู่อันดับ ๗ ซึ่งเจ้าใหญ่คือ Asahi Kasei ที่ผลิตอุปกรณ์สำหรับเครื่องไตเทียม จังหวัดโออิตะจับมือกับจังหวัดมิยาซากิซึ่งอยู่ทางตอนใต้ลงไปเป็น Eastern Kyushu Medical Valley ทำเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังต่างประเทศ
หลังจากนั้น Kanazawa san ได้ให้เราเปิดซองเอกสารซึ่งบรรจุเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางมาในครั้งนี้พวกโปรแกรมการศึกษาดูงาน ข้อพึงปฏิบัติในการศึกษาดูงาน แผนที่ท่องเที่ยว แผนที่รถใต้ดิน แผนที่ร้านอาหาร ที่สำคัญคือบัตรประจำตัว AOTS ซึ่งมีความครอบคลุมถึงการประกันสุขภาพในช่วงที่เราอยู่ในความรับผิดชอบของ AOTS, ป้ายชื่อแขวนคอ และเข็มกลัดเครื่องหมาย AOTS ที่สำคัญคือมีการแจกเบี้ยเลี้ยงและค่าอาหาร เบี้ยเลี้ยงจะได้รับวันละ ๑,๐๒๐ เยน ส่วนค่าอาหารจะได้เฉพาะมื้อที่เราต้องกินเอง มื้อไหน AOTS เลี้ยงจะไม่ได้ มื้อเที่ยงได้มื้อละ ๘๒๐ เยน มื้อเย็นจะได้มื้อละ ๑,๑๓๐ เยน มื้อเช้าไม่ได้เพราะกินอาหารโรงแรม พวกเราอยู่วันที่ ๒๘-๓๐ มกราคม ได้ค่าอาหารเที่ยง ๒ มื้อ เย็น ๓ มื้อ กับเบี้ยเลี้ยง ๓ วัน รวมกันทั้งหมด ๘,๐๙๐ เยน ก็ราว ๆ ๒,๔๐๐ บาท จากนั้นก็แจกอาหารกล่องเบนโตะให้คนละกล่อง น้ำเปล่า ๑ ขวด น้ำชาเขียวไร้น้ำตาล ๑ ขวด กินกันในห้องประชุมเลย มื้อนี้เป็น ๑ มื้อที่ไม่ได้รับค่าอาหารเที่ยง เพราะ AOTS เลี้ยงอาหารกล่อง



หลังจากกินมื้อเที่ยงเสร็จ Kanazawa san ก็รีบต้อนพวกเราขึ้นรถบัสเพื่อเดินทางไปยังโรงงาน Asahi Kazei Medical MT Corp., Oita Plant ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากโรงแรมประมาณ ๑ ชั่วโมงHashimoto san เป็นผู้มาต้อนรับและบรรยายสรุปถึงเรื่องราวของบริษัท Asahi Kasei ว่าบริษัทเปิดตั้งแต่วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ธุรกิจหลักคือผลิตอุปกรณ์สำหรับเครื่องไตเทียม, เครื่องทำ apheresis, ตัวกรองไวรัส, ตัวกรองเม็ดเลือดขาว
สำหรับ Oita Plant เปิดปี ๒๕๑๘ ได้รับการรับรองมาตรฐานต่างๆที่สำคัญคือ FDA license
ในสายการผลิตอุปกรณ์สำหรับเครื่องไตเทียมและเครื่อง apheresis จะใช้เครื่องจักรเป็นหลัก มีพนักงานเพียง ๓๒๘ คน เป็นชาย ๑๒๐ คน หญิง ๒๐๘ คน มีการทำงานเป็นกะ กะละ ๘ ชั่วโมง แบ่งงานเป็น ๓ ประเภทคือ การประกอบชิ้นส่วน, การตรวจสอบด้วยสายตา และการฆ่าเชื้อ ชิ้นส่วนต่าง ๆ จะผลิตที่ Plant อื่น ๆ ของบริษัทเช่นที่มิยาซากิ แล้วนำมาประกอบที่นี่
จากนั้นเป็นการนำพวกเราชมขั้นตอนต่าง ๆ ของการผลิต ห้ามถ่ายรูปเด็ดขาด ต้องทิ้งกล้องถ่ายรูปและสมาร์ทโฟนไว้ในห้อง มีผู้นำชมและบรรยายขั้นตอนต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว Koshima san มาบรรยายสรุปเกี่ยวกับ apheresis และสาธิตการทำงานของเครื่อง apheresis
Apheresis คือการแยกส่วนสารบางอย่างออกจากเลือด ซึ่งมี ๓ แบบ คือ-Plasma Exchange (PE) เป็นการแยกน้ำเหลืองพลาสม่าออกจากเลือด แล้วกรองพลาสม่าทิ้งไป แล้วเติมสารน้ำอื่นทดแทน
-Double Filtration Plasmapheresis (DFPP) เป็นการแยกพลาสม่าออกจากเลือด แล้วนำพลาสม่านั้นไปกรองแยกของเสียทิ้งอีกครั้ง จากนั้นนำพลาสม่าที่ทิ้งของเสียไปแล้วกลับคืนเข้ากระแสเลือด
-Plasma Adsorption (AP) เป็นการแยกพลาสม่าออกจากเลือด แล้วนำพลาสม่านั้นไปผ่านเครื่องดูดจับสารก่อโรค แล้วนำพลาสม่าที่เหลือกลับเข้ากระแสเลือด
ปัจจุบันระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่นยอมจ่ายชดเชยการรักษาด้วยวิธี apheresis ใน ๓๐ กลุ่มโรค ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการรักษาด้วยวิธี apheresis ได้ผลดี เช่น โรคSLE, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ชนิดร้ายแรง, ภาวะพิษจากยา
เป็นอันเสร็จสิ้นการศึกษาดูงานที่โรงงาน Asahi Kasei

เราเดินทางกลับไปเข้าที่พักที่โรงแรม JR Kyushu Blossom Oita แล้วไปกินอาหารเย็นซึ่งมื้อนี้ทางบริษัท Asahi Kasei เป็นเจ้าภาพ อาหารเย็นเป็นแบบ Kaisekei คืออาหารเป็นคอร์สเสิร์ฟทีละอย่าง งานเลี้ยงของญี่ปุ่นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเบียร์ Asahi ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท Asahi Kasei มีไวน์ มีเหล้าบ๊วย Umeshu เหล้าสาเก และค๊อกเทล ก็กินดื่มกันแบบปรีด์เปรมเพราะเหนื่อยกันมาตั้งแต่เมื่อคืน ผมมีโอกาสได้คุยกับ Hirano san และ Koshima san เลยถามถึงเพื่อนเก่าของผม Shirogaze san ผู้จัดการทั่วไปของ Asahi Kasei ได้ความว่าแกเกษียณไป ๒ ปีแล้ว แต่ยังคงเป็นที่ปรึกษาบริษัทเกี่ยวกับอุปกรณ์กล้อง endoscope เลยฝากความระลึกถึง ไม่รู้ว่าจะถึงแกหรือเปล่าเพราะตอนนั้นทั้งผมทั้ง Hirano san และ Koshima san ต่างก็กรึ่มกันได้ที่แล้ว









เนื่องจากที่โออิตะเป็นแหล่งของน้ำพุร้อน บ่อน้ำร้อน สิ่งที่พลาดไม่ได้คือการแช่ออนเซ็น ตลอดทริปนี้เราจะมีโอกาสได้แช่ออนเซ็นคืนนี้เพียงคืนเดียว แต่เรากรึ่มได้ที่แล้วเมื่องานเลี้ยงเลิกผมจึงออกไปเดินชมเมืองโออิตะ รำลึกความหลังกับถิ่นเก่าที่ผมเคยมา ๒ ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ แล้ว ใช้เวลาเดินสลายแอลกอฮอล์จากสาเกไปประมาณชั่วโมงครึ่งรู้สึกหายเมาแล้วจึงกลับไปแช่ออนเซ็น

ออนเซ็นที่โรงแรมนี้มีแบบในห้องและนอกอาคาร เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดยูกาตะแล้วขึ้นไปชั้น ๑๙ ถอดรองเท้าเก็บในตู้ล๊อกเกอร์ นำกุญแจพร้อมคีย์การ์ดห้องพักไปให้พนักงานต้อนรับ ก็จะได้กุญแจล๊อกเกอร์อีกชุด เดินเข้าไปในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเก็บข้าวของในล๊อกเกอร์ตามเบอร์ที่ได้รับกุญแจมา จะมีผ้าขนหนูผืนเล็ก ๑ ผืน ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ ๑ ผืน ถอดเสื้อผ้าล่อนจ้อนแล้วไปอาบน้ำสระผมให้สะอาด จากนั้นหยิบผ้าขนหนูพาดไหล่เดินขึ้นบันไดไปชั้น ๒๑ ไปนอนแช่ออนเซ็นในบ่อนอกอาคารชมวิวทิวทัศน์เมืองโออิตะยามค่ำคืน อุณหภูมิน้ำประมาณ ๔๕ องศา แต่อากาศภายนอกหนาวประมาณ ๒-๓ องศา พอแช่ลงไปจึงรู้สึกร้อนดี กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ผมแช่ประมาณ ๒๐ นาทีรู้สึกหัวใจเต้นเร็วก็ขึ้นเดินไปราดน้ำเย็น ๑๕ องศา แล้วเข้าไปอบซาวน่าถ่านหินรอบละ ๔ นาทีอีก ๒ รอบ อาบน้ำอาบท่ากลับไปนอนหลับอย่างสบายตัว เป็นอันจบวันแรกบนแผ่นดินโออิตะ
หลังจากเหนื่อยกับการเดินทางแล้วไม่ได้พัก กลับจากออนเซ็นหลับไปหลายชั่วโมง ตื่นมาตามปกติตี ๕ อาบน้ำแต่งตัวเก็บกระเป๋าเพราะเราต้องย้ายที่พัก หลังจากเสร็จจากการเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยโออิตะ เราจะขึ้นเครื่องบินไปโตเกียว คุณบวรล่ามประจำคณะบอกว่าอาหารเช้าเริ่ม ๗ โมงเช้า เราควรจะลงมาก่อนเพื่อเข้าคิว เนื่องจากห้องอาหารไม่ใหญ่มาก ผมเลยเอากระเป๋าไปวางที่ล็อบบี้รอห้องอาหารเปิด ยังพอมีเวลาจึงออกไปเดินรับอากาศเย็นที่นอกชานห้องอาหาร ซึ่งเป็นดาดฟ้าของศูนย์การค้าที่เป็นอาคารติดต่อกับโรงแรม ที่ลานดาดฟ้าเขาจัดเป็นบรรยากาศสวนและร้านค้าแบบญี่ปุ่นสวยงามดี จนจวน ๗ โมงกลับเข้าไปมีคนทยอยมารอเยอะขึ้น พอเขาเปิดก็ไปนั่งกับทีมจากสำนักงานประกันสังคม อาหารเช้าเขามี ๒ แบบ พนักงานจะมาถามว่าเราจะรับเบนโตะหรือเปล่า ผมรับเขายกเบนโตะมาเสิร์ฟ ๒ กล่อง ในไลน์อาหารบุฟเฟ่ต์ยังมีพวกไข่ดาว เบคอน ไส้กรอก ผักสลัด โยเกิร์ต ผมจัดการอาหารเบนโตะโดยไม่กินข้าวสวย เป็นปลาแซลม่อนย่างกับเครื่องเคียงสารพัดอย่าง แล้วต่อด้วยอาหารตะวันตกอีกนิดหน่อยพออิ่ม






จากนั้นเราเดินทางด้วยรถบัสคันเดิมไปยังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโออิตะ ที่นี่ผมเคยเดินทางไปเยี่ยมชมมาแล้วเมื่อเกือบ ๑๐ ปีที่แล้ว ตอนได้รับทุน JICA ไปเข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง New Technology in Dialysis in Japan เราไปถึงเร็วกว่ากำหนดนัดจึงต้องรอสักพักทีมของเจ้าบ้านจึงมาต้อนรับ Dr.Moriyama คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกล่าวต้อนรับ และเล่าให้ฟังว่ามหาวิทยาลัยโออิตะมีความร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ในคณะแพทยศาสตร์นั้นมีการจับมือ ๓ ฝ่าย คือมหาวิทยาลัยโออิตะ, รัฐบาล และภาคเอกชนจากธุรกิจอุตสาหกรรม โดยมี Dr.Tomo เป็นแกนนำ ร่วมกันทำภารกิจ ๓ เรื่อง คือ๑.สนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์๒.สร้างและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์๓.สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่น
สำหรับความร่วมมือกับประเทศไทยนั้น คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยโออิตะมีสัญญาร่วมมือกับ รพ.ศิริราช และ รพ.ราชวิถี ในเรื่องการพัฒนาระบบน้ำกลางสำหรับการล้างไตด้วยเครื่องไตเทียมตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ และยังมีการตั้ง Overseas Office สำหรับสนับสนุนงานวิจัยทางการแพทย์ที่ รพ.ศิริราช
จากนั้นผมเป็นตัวแทนของคณะกล่าวขอบคุณ ซึ่งเนื้อหาก็เป็นความยินดีที่ได้กลับมาเยือนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโออิตะอีกครั้งหนึ่ง ได้มาเจอ Dr.Tomo ที่ผมเคยมาเจอที่ญี่ปุ่นและทั้งที่ Dr.Tomo เดินทางไปประเทศไทย และขอบคุณสำหรับความรู้ที่พวกเราจะได้รับเพื่อนำกลับไปปรับปรุงใช้กับบริบทของประเทศไทยต่อไป มีการมอบของที่ระลึกให้ Dr.Moriyama



จากนั้น Dr.Tomo ซึ่งเป็นผู้ที่ผมเคยเจอกันเมื่อคราวที่ผมมากับ JICA และเรายังเจอกันที่ กทม.อีก ๑-๒ ครั้งได้บรรยายเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดการเรื่องสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล เพื่อนำไปสู่การจ่ายชดเชยค่าอุปกรณ์ทางแพทย์หรือค่ารักษา
ที่ประเทศญี่ปุ่นมีองค์กรสำคัญ ๒ องค์กรคือ สหภาพสมาคมประกันสังคมด้านอายุรกรรม (Social Insurance of Societies Related to International Medicine) ซึ่งประกอบด้วยสมาคมวิชาการด้านอายุรกรรม ๑๒๖ สมาคมและสหพันธ์ประกันสุขภาพด้านการศัลยกรรมแห่งญี่ปุ่น (Japanese Health Insurance Federation for Surgery : JHIFS) ซึ่งประกอบด้วยสมาคมวิชาการด้านศัลยกรรม ๑๐๐ สมาคม ทั้ง ๒ องค์กรนี้ จะทำการสำรวจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ ในแง่ของความจำเป็น ผลของการใช้แบบมีหลักฐานเชิงประจักษ์ แล้วนำไปวิเคราะห์จัดเรียงความสำคัญตลอดจนภาระงบประมาณ จากนั้นก็ขอมติจากที่ประชุมขององค์กรเพื่อหาข้อสรุปว่าจะยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับเทคโนโลยีใดไปยังกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ ที่ทุก ๒ ปีจะเปิดให้มีการยื่นข้อเสนอสำหรับรายการใหม่ ๆ หลังจากนั้นก็จะมีกระบวนการเจรจาต่อรองโดยสร้างความมั่นใจให้รัฐบาลว่าใครคือผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีความคุ้มค่า
Apheresis ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีการยื่นข้อเสนอตามขั้นตอนดังกล่าว จนได้รับบรรจุเข้าเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับการจ่ายชดเชย ๓๐ กลุ่มโรค ในกรณีที่รักษาด้วยวิธี apheresis
หลังจากนั้นก็เป็นการนำชมห้อง ICU ของ รพ.มหาวิทยาลัยโออิตะ เขาพาไปชมผู้ป่วยหนักรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ป่วยหลังการผ่าตัดหัวใจ ยังมีเครื่องช่วยหายใจ มีการใช้เครื่องหัวใจ-ปอดเทียมที่เรียกว่า ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenator) เพื่อช่วยทำงานแทนหัวใจและปอดของผู้ป่วยที่มีปัญหา ในผู้ป่วยรายนี้เป็นการใช้ VA-ECMO คือมีท่อต่อรับเลือดดำจากผู้ป่วยไปผ่านการฟอกด้วยส่วนปอดเทียมของเครื่อง ECMO ให้เป็นเลือดแดงแล้วปั๊มกลับเข้าทางหลอดเลือดแดงของผู้ป่วย เป็นการช่วยทั้งการทำงานของหัวใจและปอดของผู้ป่วย นอกจากนี้ผู้ป่วยรายนี้ยังมีการใช้ Aortic balloon pump ซึ่งเป็นเครื่องพยุงการทำงานของหัวใจอีกแบบ โดยจะสอดใส่บอลลูนเข้าไปในหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าในช่องท้อง ทุกครั้งที่หัวใจหรือเครื่อง ECMO ปั๊มเลือดแดงไปเลี้ยงร่างกาย เครื่อง Aortic balloon pump ก็จะเป่าบอลลูนให้โป่งทำให้เลือดแดงไปเลี้ยงท่อนร่างของร่างกายน้อยลง หันไปเลี้ยงร่างกายท่อนบนโดยเฉพาะสมองให้มากพอแทน แต่วัตถุประสงค์ที่เขาพาเราไปดูผู้ป่วยรายนี้คือผู้ป่วยมีการใช้เครื่องไตเทียมแบบ CRRT (Continuous Renal Replacement Therapy) คือใช้เครื่องทำการฟอกล้างเลือดแทนไตของผู้ป่วยตลอดเวลา ซึ่งในการใช้งาน CRRT จะมีการใช้ตัวกรองที่คล้ายคลึงกับตัวกรองของเครื่อง apheresis ตามที่เราไปดูกระบวนการผลิตมาแล้วเมื่อวาน
เนื่องจาก ICU มีความคับแคบเขาจึงแบ่งพวกเราเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มที่เป็นผู้บริหารระบบบริการ และกลุ่มที่เป็นแพทย์รักษาผู้ป่วย ในระหว่างที่อีกกลุ่มเข้าชมใช้เวลาประมาณ ๒๕-๓๐ นาที เราก็ไปนั่งจิบกาแฟรอกันที่ร้านกาแฟสตาร์บั๊คภายในโรงพยาบาล

เมื่อสิ้นสุดการดูงานที่ รพ.มหาวิทยาลัยโออิตะ เราเดินทางไปยังสนามบินโออิตะเพื่อเดินทางต่อไปยังสนามบินฮาเนดะ โตเกียว ระหว่างรอเช็คอินก็เดินถ่ายรูปเล่น ผมชี้ให้ไก่ดูสัญลักษณ์ของโออิตะที่บานประตูเลื่อนอัตโนมัติของสนามบิน เธอบอกว่าเหมือนหม้อชาบู ผมบอกว่านั่นคือถังแช่น้ำอุ่น เพราะโออิตะเป็นดินแดนแห่งน้ำพุร้อนและบ่อออนเซ็น ผมเคยได้รับเข็มกลัดตราสัญลักษณ์นี้โดยผู้ว่าการเมืองโออิตะปลดจากเสื้อมาติดให้ผมเมื่อผมบอกว่าผมเคยมาโออิตะและเบปปุแล้วชอบการแช่ออนเซ็นมาก ไก่เลยไปยืนถ่ายรูปแต่ใกล้เซนเซอร์ไปหน่อยประตูมันเลยเปิด เจ้าหน้าที่ต้อนรับของสายการบิน JAL เธอยืนหัวเราะอยู่ด้านหลัง แล้วยื่นซองบรรจุพลาสเตอร์เป็นตราสัญลักษณ์ของโออิตะให้เราคนละซองเป็นที่ระลึก ต้องขอบคุณประตูอัตโนมัติ

หลังจากเช็คอิน โหลดกระเป๋าขึ้นเครื่อง Kanazawa san ก็ปล่อยพวกเราไปหาอาหารเที่ยงกินกันตามอัธยาศัยเพราะได้ค่าอาหารมื้อนี้จาก AOTS แล้ว เนื่องจากสนามบินโออิตะเป็นสนามบินเล็ก ๆ มีร้านอาหารไม่มากเดินดูโหงวเฮ้งร้านอาหาร ๔-๕ ร้าน ผมกับหมอกมล หมอโรคไตชื่อดังจากรพ.มหาราชนครศรีธรรมราช และไก่จึงไปนั่งกินด้วยกัน ผมกับหมอกมลสั่งข้าวหน้าปลาดิบ ราคาชุดละ ๑,๒๕๐ เยน ส่วนไก่สั่งข้าวไก่ทอด ราคาชุดละ ๙๕๐ เยน ในขณะที่มื้อเที่ยงเราได้ค่าอาหาร ๘๒๐ เยน คนไทยเสียอย่างสนใจความอร่อยมากกว่ารายรับ กินกันอิ่มหนำสำราญแล้วยังมีเวลาเหลืออีกร่วมชั่วโมง จึงไปเดินสำรวจร้านขายของที่ระลึกซึ่งมีสินค้าหลากหลายที่เป็นสินค้า OVOP ของโออิตะ OVOP หรือ One Village One Product คือต้นตำรับที่รัฐบาลทักษิณมาแปลงเป็น OTOP นั่นเอง
เราออกเดินทางประมาณ ๑๔.๔๐ น. ไปถึงสนามบินฮาเนดะประมาณ ๔ โมงเย็น ต้องนั่งรถบัสอีกชั่วโมงเศษไปยังย่านกินซ่า ระหว่างทางรถบัสแล่นผ่านโอไดบะ ซึ่งเป็นผืนดินที่เกิดจากการนำขยะมาถมทะเลเป็นเวลาร่วมร้อยปี มองเห็นชิงช้าสวรรค์ยักษ์ใกล้สะพานสายรุ้ง (Rainbow Bridge) ที่ผมได้ไปนั่งชมวิวโอไดบะยามค่ำคืนเมื่อมกราคมปีที่แล้ว ที่โอไดบะนี่ยังมีสถานที่ที่ผมยังตกค้าง ต้องไปให้ได้อีกแห่งคือโอเอโดะออนเซ็นโมโนตาการิ ซึ่งเป็นเหมือนย่านคอมเพล็กซ์ที่มีออนเซ็นและร้านค้าร้านอาหาร เราถึงโรงแรม Monterey Ginza ใจกลางย่านกินซ่าประมาณ ๕ โมงนิด ๆ กินซ่านี่เปรียบเสมือนย่านสีลมของบ้านเราคือเคยเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อน เต็มไปด้วยร้านสินค้าแบรนด์เนมใหญ่ ๆ ที่เราไม่กล้าเฉียดเข้าไปใกล้




เย็นวันนี้ Hirano san แจ้งว่าทาง Asahi Kasei จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงมื้อเย็นแบบไม่เป็นทางการ ผมกับไก่ขออนุญาตไม่ร่วม เพราะผมมีเป้าหมายอยู่ที่คานิมิโสะ มันปูย่างร้านอิโซมารุ ซุยซังแถว ๆ หน้าวัดเซนโซจิ อาซากุสะ ส่วนไก่บอกว่าจะไปซื้อของตามใบสั่งที่อูเอโนะ นั่งรถไฟใต้ดินสายเดียวกันคือ Ginza line เลยตกลงไปด้วยกันโดยแวะให้ไก่ช็อปปิ้งที่อูเอโนะก่อน แล้วไปกินคานิมิโสะเจ้าดังที่ไหมญาติผู้น้องผมแนะนำ ผมเคยไปกินแล้วติดใจมาก ร้านอิโซมารุ ซุยซังอยู่ใกล้ทางขึ้นสถานีอาซากุสะประตู ๑ เลย ร้านนี้มีข้อดีคือเปิด ๒๔ ชั่วโมงไปถึงมีโต๊ะว่างพอดี ผมได้กินคานิมิโสะคลุกข้าวสวยสมใจ มื้อนี้จ่ายไป ๔,๗๓๒ เยน ก็ตกคนละ ๒,๓๖๖ เยน ในขณะที่ได้ค่าอาหารเย็น ๑,๑๓๐ เยน กินเท่าตัวอีกแล้ว ฮิ ๆๆ ผมยังคุ้นเคยกับย่านนี้เลยเดินไปสำรวจสินค้าที่ดองกิโฮเตะ หรือที่คนไทยเรียกด็องแบบไม่ซื้ออะไร แล้วไปถ่ายรูปวัดเซนโซจิยามราตรี ก่อนไปนั่งรถไฟกลับกินซ่า




นั่งรถกลับไปถึงกินซ่ายังสว่างไสว เลยชวนกันเดินไปดองกิโฮเตะ กินซ่า ซึ่งดูแผนที่กูเกิ้ลแล้วไม่ไกลจากที่พักและสถานีกินซ่า แต่เจออากู๋ทำพิษมันรวนชี้ทิศมั่ว ระยะทางประมาณ ๗๐๐ เมตร เราเดินกันเป็นกิโลเพราะงงกับแผนที่ เดินย้อนไปย้อนมาหลายรอบกว่าจะตั้งหลักได้ เดินไปจนดองกิโฮเตะ กินซ่ากันแล้วก็หมายตาไว้ว่าจะมาซื้อคืนสุดท้าย ก็กลับไปพักผ่อนเพื่อทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น เป็นอันสิ้นสุดวันแรกที่กินซ่า โตเกียว
วันที่ ๓ ของการศึกษาดูงานครั้งนี้ เป็นการไปเยี่ยมชม Apheresis Unit ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจุนเทนโด โตเกียว แล้วตอนบ่ายจะเป็นการสรุปการดูงานที่ METI (Ministry of Economy, Trade and Industry)
ตื่นมากินอาหารเช้าแล้วออกไปยืนสูดอากาศยามเช้าอุณหภูมิประมาณ ๔ องศา แต่ลมแรงมาก เห็นว่ายังพอมีเวลาเลยเดินย่อยอาหารรอบ ๆ โรงแรม จนถึงเวลาก็นั่งรถบัสไป รพ.มหาวิทยาลัยจุนเทนโด โตเกียว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงแรม เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน รพ.บริหารแบบ รพ.เอกชนซึ่งต้องให้ความเป็นส่วนตัวแก่ผู้ป่วยและญาติเขาจึงไม่ให้เราไปเดินเพ่นพ่านในอาคาร เขาแบ่งเราเป็น ๒ กลุ่มเหมือนเดิมให้กลุ่มที่เป็นแพทย์รักษาคนไข้เข้าไปดูก่อน ส่วนพวกเราที่เป็นผู้บริหารเขาจับนั่งรถบัสแล้วขับเวียนดูเมืองโตเกียว ผ่านไปตามย่านต่าง ๆ เช่นหน้าลานพระราชวังอิมพิเรียล สถานีรถไฟโตเกียว วนผลาญน้ำมันเล่นอยู่เกือบ ๑ ชั่วโมงจึงไปจอดผลัดเปลี่ยนให้กลุ่มเราเข้าไปภายในอาคาร


ที่ รพ.มหาวิทยาลัยจุนเทนโด โตเกียวเป็น Apheresis ที่ใหญ่ที่สุด และเป็นที่เดียวที่แพทย์ผู้ดูแลไม่ใช่อายุรแพทย์โรคไต โดยอยู่ในความรับผิดชอบของ Dr.Yamaji ซึ่งเป็น Rheumatologist หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ ดังนั้นผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยวิธี apheresis จึงเป็นพวกที่เป็นโรค SLE, โรครูห์มาตอยด์รุนแรงเป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยนอกมารับการรักษา ๒-๓ ชั่วโมงแล้วกลับบ้านได้ มีทั้งที่ใช้วิธี DFPP และ PA ผู้ป่วยเหล่านี้ต่างจากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมตรงที่ไม่ต้องมีการผ่าตัดเตรียมเส้นเลือด มาถึงก็นอนให้พยาบาลหรือวิศวกรทางคลินิกแทงเข็มเข้าทางหลอดเลือดดำที่แขน ๒ ข้าง ก่อนแทงเข็มเขาจะมีแผ่นยาชาแปะไปที่ผิวหนังก่อนเพื่อให้ไม่เจ็บเนื่องจากเข็มที่ใช้มีขนาดใหญ่ประมาณเบอร์ ๑๕ ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยวิธี apheresis จะมีผลแทรกซ้อนน้อยมาก อาจจะมีอาการไม่พึงประสงค์ได้บ้างเช่นหน้ามืด วิงเวียน ตามทฤษฎีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนมีประมาณร้อยละ ๙ แต่จากประสบการณ์ของ Dr.Yamaji พบน้อยมาก ค่าใช้จ่ายในการทำ apheresis จะตกประมาณครั้งละ ๑ แสนเยนเศษ ก็ราว ๆ ๓ หมื่นกว่าบาท เป็นราคาเดียวทั่วประเทศ แต่ผู้ป่วยในแต่ละกองทุนอาจจะมีการร่วมจ่ายไม่เท่ากัน หลังจากกล่าวขอบคุณและมอบของที่ระลึกให้ Dr.Yamaji ซึ่งจะมาพบพวกเราที่ กทม.ในวันที่ ๗ ก.พ.๒๕๖๒ นี้ เราก็ขึ้นรถบัสเดินทางไปรับประทานอาหารมื้อเที่ยงกัน

รถบัสไปส่งเราที่ศูนย์การค้า Lalaport ย่านโตโยสุซึ่งบรรยากาศเหมือนเป็นท่าเรือเก่าที่รีโนเวทเป็นศูนย์การค้าคล้าย ๆ กับที่อีสต์เอเชียติคถนนเจริญกรุง เราต้องหาอาหารกันเองเพราะเป็นอีก ๑ มื้อที่ได้รับค่าอาหาร พวกรสนิยมสูงรายได้ต่ำแบบผมกับไก่เดินสำรวจร้านอาหารจนทั่วแล้วตัดสินใจปักหลักที่ Ducky Duck เพราะหน้าร้านมีขนมเค๊กน่ากินมาก กะว่ากินของคาวเสร็จจะต่อด้วยขนมเค๊กแบบญี่ปุ่นต่อ พอไปนั่งจะสั่งอาหาร แย่เลยเมนูไม่มีภาษาอังกฤษแต่ดีที่มีรูปบวกกับคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นในหัวผมว่ากิ้วคือเนื้อวัว บุตะคือเนื้อหมูเราก็สั่งอาหารได้ ผมสั่งข้าวราดแกงกะหรี่เนื้อห่อไข่ ส่วนไก่สั่งสปาเก็ตตี้คาโบนาร่า เสร็จของคาวเราพบว่าอาหารมันจานใหญ่เริ่มอิ่ม แต่ความอยากขนมหวานมันทำให้เราแยกกระเพาะของคาวของหวานออกจากกันได้ เลยสั่งเค๊กสตรอเบอรี่มา ๑ ชิ้น แบ่งกัน เพราะกลัวว่าอิ่มเกินรายการวิชาการภาคบ่ายผมจะหลับ มื้อนี้เราจ่ายไป ๓,๒๙๐ เยน ตกคนละ ๑,๖๔๕ เยน เกินงบไปเล็กน้อย กินอิ่มแล้วก็รีบออกจากอาคารที่อบด้วยความร้อนจากฮีทเตอร์ไปสูดอากาศหนาวกลางแดดเปรี้ยงภายนอก แต่ก่อนออกไปเราเจอร้านชอคโกแลตไฮโซ เจ้าหน้าที่สาวไฮโซสำนักผมบอกว่าขออนุญาตซื้อชอคโกแลต Godiva สักแก้วนะคะ ภายนอกอาคารเจอต้นซากุระเริ่มออกดอกแล้วด้วย




เรานั่งรถเดินทางไปยังสำนักงานกระทรวง METI มี Yoshida san เจ้าหน้าที่ของ AOTS มาแจกการ์ดสำหรับแตะผ่านประตู มีการจัดที่นั่งระบุป้ายชื่อไว้ชัดเจน ฝ่ายญี่ปุ่นมีผู้แทนจาก METI, AOTS, Oita Prefecture, Asahi Kasei และ Medical Excellent Japan
พิธีการเริ่มด้วย Kanazawa san แนะนำผู้เข้าร่วมประชุมทั้งฝั่งญี่ปุ่นและฝั่งไทย จากนั้น Yamamoto san จาก METI กล่าวถึงนโยบายของ METI ที่ให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยมี MEJ และภาคเอกชนเช่น Asahi Kasei มาร่วมจับมือกันพัฒนาธุรกิจของอุตสาหกรรมทางการแพทย์ให้กับประเทศต่างๆ
สำหรับประเทศไทยนั้น METI เคยมีโครงการสร้างความร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับกล้อง endoscope มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมที่ กทม. ยังมีโครงการรักษาภาวะไตวายเฉียบพลันตามแบบญี่ปุ่นด้วยการใช้ plasmapheresis ซึ่งต้องส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม หากทางประเทศไทยคิดว่าอยากจะให้ METI ช่วยเหลือด้านใดอีกสามารถแจ้งเข้ามาได้เลย
จากนั้นเป็นการให้ผู้แทนจากสมาคมโรคไตฯ, สมาคมประสาทวิทยาฯ และมูลนิธิโรคไตฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสรุป ๓ ประเด็น๑.ได้เรียนรู้อะไรจากโปรแกรมการศึกษาดูงานครั้งนี้บ้าง๒.มีความประทับใจหรือมีข้อเสนอแนะอะไรบ้างต่อการจัดโปรแกรมนี้๓.คำถามที่อาจจะเกิดแล้วยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนระหว่างการศึกษาดูงาน
จากนั้นก็ขอให้ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐแสดงความคิดเห็น คุณหมอประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขพูดเป็นคนแรก ต่อด้วยพี่บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ผ.อ.สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (ต่อมาได้เป็นเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน) ระหว่างที่พี่สงค์พูด พี่เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมโรคไตฯ ซึ่งนั่งฝั่งตรงข้ามไกล ๆ ก็พยักพเยิดให้ผมพูด พอพี่สงค์พูดจบ Kanazawa san แกก็บอกว่าหมดเวลาแล้วผมคิดว่าสบายแล้วไม่ต้องพูด แต่ Kanazawa แกต่อว่าอยากฟัง Panthep sama อีกคนเป็นคนสุดท้าย แกอุตส่าห์ยกย่องผมเป็น sama ผมเลยต้องพูด สิ่งที่ผมพูดในวันนั้นเป็นข้อเท็จจริงของระบบหลักประกันสุขภาพแบบ ๓ กองทุนในประเทศไทย ผมพยายามจะให้ญี่ปุ่นเข้าใจบริบทของประเทศไทยเพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกันได้ง่าย ผมเริ่มด้วยสิ่งที่ Dr.Tomo บรรยายที่ รพ.มหาวิทยาลัยโออิตะว่า ไทยต่างจากญี่ปุ่นที่เรามี ๓ กองทุน แต่ละกองทุนมีมาตรฐานในการดูแลรักษาผู้ป่วยต่างกัน ผมพูดตรงนี้ผมก็ได้ยินเสียงกระซิบดัง ๆ จากผู้ยิ่งใหญ่ฝั่งกระทรวง สธ. ๒ คน ว่าคนละมาตรฐานตรงไหน แค่เอ่ยปากมาผมก็รู้แล้วว่าพวกนี้ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิในการรับบริการและคุณภาพบริการ แค่สิทธิบัตรทองบังคับให้ต้องใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ สิทธิสวัสดิการข้าราชการจะใช้ยาอะไรก็ได้ สิทธิประกันสังคมจะใช้ยาอะไรก็ได้แต่ต้องร่วมจ่ายบางกรณี อันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่ามีมาตรฐานในการรักษาโรคเดียวกันต่างกัน ในขณะที่ญี่ปุ่นมีแค่มาตรฐานเดียวไม่ว่าใครจะสิทธิอะไรเมื่อเป็นโรคเดียวกันต้องได้รับการรักษาเหมือนกันเป๊ะ ผมยังต่อไปว่ากระบวนการคัดเลือกอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือยาใหม่เข้าในสิทธิประโยชน์ของบ้านเราก็ทำแบบเดียวกันโดยเฉพาะสิทธิบัตรทอง ต้องมีการเสนอเรื่องเข้ามา มีข้อมูลเชิง HTA (health technology assessment) ข้อมูลความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แต่ประเทศไทยไม่มีสมาพันธ์ฯ สหพันธ์ฯ ๒ องค์กรแบบญี่ปุ่น เราจึงไม่มีคนช่วยกลั่นกรองเรียงลำดับความสำคัญ ในแต่ละปีเราต้องพิจารณาข้อเสนอเป็น ๑๐๐ เรื่อง เพื่อทำการศึกษาต่อ ผมคิดว่าทางฝั่งญี่ปุ่นน่าจะพอมองออกว่าการจะเพิ่ม apheresis เข้าเป็นสิทธิประโยชน์ควรจะคุยกับใคร
เมื่อจบการแสดงความคิดเห็น เป็นการมอบประกาศนียบัตรให้ผู้ที่มาเข้าร่วมโปรแกรมศึกษาดูงานครั้งนี้โดย Kipano san จากกระทรวง METI เป็นอันว่าสิ้นสุดการศึกษาดูงานโดยสมบูรณ์


จากนั้นเราเดินทางกลับโรงแรมบรรดาคุณหมอทั้งหลายจะเดินทางกลับเที่ยงคืน ส่วนพวกผู้บริหารกลับวันพรุ่งนี้ มื้อเย็นวันนี้ Hirano san ยังคงเป็นเจ้ามือในนาม Asahi Kasei ร้านอาหารเดินไปจากโรงแรม Monterey Ginza ประมาณ ๑๐ นาที อาหารเป็นแบบ Kaiseki เช่นเคย พอนั่งก็มีพนักงานกับ Koshima san มาถามว่าใครดื่มเครื่องดื่มอะไรบ้าง ส่วนใหญ่สั่งไวน์กับเหล้าบ๊วยกัน Koshima san ถามว่าใครไม่ดื่มแอลกอฮอล์ผมยกมือ พ่อหนุ่มตะโกนลั่นแบบสงสัยว่า You drink water ทุกคนในโต๊ะเลยเฮกันลั่น เพราะใคร ๆ ก็คิดว่าคืนสุดท้ายผมคงซัดแอลกอฮอล์เต็มที่ แต่ผมมีนัดกับน้องที่ชิบูย่าเลยไม่อยากไปพบน้องสาวแบบเดินเซเหม็นเหล้า ทุกคนเฮกันลั่นอีกครั้งตอนผมบอก Koshima san ว่า I want some orange juice แหม! พระเอกจะกินน้ำนางเอกสักหน่อยก็ไม่ได้นะพวกนี้ ผมกินไปโม้กับพี่เกรียงศักดิ์ไปจนเพลินลืมถ่ายรูปอาหารไป ๒-๓ อย่าง





หลังจากร่ำลากันผมก็ไปสถานีกินซ่าซึ่งทางลงอยู่หน้าร้านอาหารพอดี มีไก่กับอัง จากสำนักงานประกันสังคมตามไปด้วย ไก่ต้องไปพบน้องฮาชิ ผมเลยส่งไลน์ไปบอกไหม ญาติผู้น้องที่ไปเป็นสะใภ้ญี่ปุ่นว่าเจอกันตรงฮาชิโกะ ไปยืนรอที่ฮาชิโกะแป๊บเดียวไหมกับโยชิก็เดินมา ก็เลยเดินคุยเดินถ่ายรูปกันไปเรื่อย โยชิพยายามเปิดแผนที่อากู๋หาร้านไดโสะหรือร้าน ๑๐๐ เยนค่ายอื่น ๆ ให้เราไปซื้อของตามใบสั่งแต่ปิดหมดแล้วเพราะเราไปถึงชิบูย่าก็ปาเข้าไป ๔ ทุ่ม หาร้านอะไรก็ปิดหมด เลยเดินคุยกันสักพัก ก็แยกย้ายกันกลับ ถึงกินซ่าอังขอแยกกลับไปโรงแรมส่วนผมกับไก่มีโปรแกรมช็อปที่ดองกิโฮเตะส่งท้าย ผมไปหาซื้อของฝากเจ้าหน้าที่ในสำนัก กว่าจะช็อปเสร็จก็ปาเข้าไปเที่ยงคืนกว่า เดินหอบสัมภาระถึงโรงแรมแล้วรีบอาบน้ำให้หายง่วงจัดกระเป๋าจนเสร็จ เพราะเราต้องเดินทางไปสนามบินฮาเนดะตอน ๘ โมงเช้า


กว่าจะได้หลับก็ราว ๆ ตี ๓ พอถึงตี ๕ ผมก็ตื่นมาแบบไม่อยากตื่น จัดเก็บสัมภาระยกสุดท้าย อาบน้ำอาบท่าแล้วเอาสัมภาระไปฝากที่ล็อบบี้ก่อนจะไปกินอาหารเช้า วันนี้ห้องอาหารเช้าเจอทัวร์จีนบุกรอคิวตักอาหารกันพอสมควร ภายนอกอาคารอุณหภูมิ ๒ องศาฟ้าครึ้ม มีละอองฝนเป็นฝอยบาง ๆ ดูแล้วน่าจะเจอหิมะ ผมก็ลุ้นว่าจะเจอพายุหิมะหรือเปล่า เพราะเดือนมกราคมปีที่แล้วผมติดค้างที่นาริตะ เพราะมีพายุหิมะ ANA ยกเลิกเที่ยวบินดื้อ ๆ หลังจากเช็คอินโหลดกระเป๋าแล้วผมยังไม่รีบเข้าไปด้านใน เดินวนเวียนหามุมถ่ายรูปสักพักจึงผ่าน ต.ม. ไม่ได้เดินช็อปปิ้งร้านปลอดภาษีเพราะไม่มีใบสั่ง

ไปนั่งรอที่ประตูทางออกขึ้นเครื่องถอดอุปกรณ์กันหนาวเก็บเข้ากระเป๋า เห็นคนหน้าตาคุ้น ๆ เลยเดินเข้าไปทักทายท่านรองฯแบงค์ ดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นลูกหลานปัตตานีเหมือนกัน รองฯแบงค์เป็นเชื้อสายตระกูลจีนเก่าแก่ตระกูลหนึ่งของปัตตานีแซ่ซิ้มแต่เป็นมุสลิมเพราะคุณปู่แต่งงานกับสตรีมุสลิม รองฯแบงค์เป็นมุสลิมที่ผมนับถือในแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของพุทธ-มุสลิมในสังคมพหุวัฒนธรรมของปัตตานี

วันนี้เดินทางด้วยเครื่องโบอิ้ง ๗๔๗-๔๐๐ ผมได้ที่นั่งชั้นบนริมหน้าต่าง เป็นครั้งแรกที่นั่งชั้นบน แปลกดีเหมือนกัน หลังจากจัดการอาหารเที่ยงที่เขาเสิร์ฟเรียบร้อย ผมก็เปิดฟังเพลงสุนทราภรณ์ที่เล่นโดยวง BSO แล้วเอนเบาะนอนหลับยาวแบบปิดสวิทช์ตนเอง เพราะแบตเตอรี่อ่อนมาตั้งแต่เมื่อคืน หลับไป ๒ ชั่วโมงกว่า ตื่นมาพนักงานถามว่าจะรับอาหารอีกรอบมั๊ย เลยกินโซบะไปอีก ๑ ชุด เครื่องลงประมาณ ๔ โมง ผ่าน ต.ม. รับกระเป๋า ไปเรียกแท็กซี่กลับถึงบ้าน ๕ โมงเศษเกือบ ๕ โมงครึ่ง เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางไปญี่ปุนอีกครั้งของผม








ปรับปรุงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๘
Comments