top of page

๙๑.ก่อนจะเป็น CA anywhere

รูปภาพนักเขียน: drpanthepdrpanthep

วันนี้มีคนแอบกระซิบถามผมว่าอาจารย์รู้จักกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนนี้ใช่ไหม ผมตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่าใช่ผมรู้จักหมอหนู อนุทิน ชาญวีรกุลดี แต่เขาไม่รู้จักผมหรอกนะ ฮิ ๆๆ ผมถามกลับว่าทำไมคิดว่าผมรู้จักกับรัฐมนตรี เขาบอกว่าก็เห็นช่วงนี้รัฐมนตรีกำลังหาเสียงเรื่องผู้ป่วยมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ จำได้ว่าเรื่องนี้อาจารย์เคยทำมาก่อนเลยคิดว่าอาจารย์นำไปเสนอรัฐมนตรี

อืม! ชีวิตผมนี่จับงานเรื่องสารพัดโรคของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาเยอะมาก โดยเฉพาะโรคทางตติยภูมิที่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือพิเศษ หลายโรคผมมารับช่วงต่อจากผู้ที่เริ่มไว้ หลายโรคผมก็มาเริ่มต้นเอง และก็มีหลายโรคที่ผมไปจัดการปิดงานที่คนอื่นเริ่มไว้มีทั้งที่ปิดดีและปิดร้าย ปิดดีคือปรับระบบให้เข้าที่แล้วเปลี่ยนรูปแบบจากของเดิมไปเลย ปิดร้ายก็คือหักดิบยกเลิกงานนั้นเอาดื้อ ๆ จนโดนด่าแหลกมาแล้ว หลายเรื่องผมเล่าไปแล้ว สำหรับมะเร็งนี้ผมจับมาตั้งแต่งานโรคเฉพาะคือมะเร็งเม็ดเลือดขาวมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จนขยับไปจับงาน excellent center มะเร็ง พัฒนาระบบบริการโรคมะเร็งทั้งเคมีบำบัด รังสีรักษา แล้วไปสร้างเครือข่ายระบบบริการโรคมะเร็งตามพื้นที่ทั่วประเทศไทย ก่อนจะโดนเตะโด่งไปไกลเพราะเขาคงกลัวผมจะเป็นมะเร็ง แต่สุดท้ายก็โยนกลับมาหาผม ก่อนที่ผมจะโบกมือลาไปนั่งเป็นที่ปรึกษาที่ไม่มีใครมาปรึกษา ฮิ ๆๆ

ช่วงที่เริ่มใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้ระบบการเงินการคลังเพื่อสุขภาพของประชาชนแบบเหมาจ่ายรายหัว เป็นลักษณะของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข หรืออีกนัยคือวัดดวง ถ้าพื้นที่ไหนมีประชากรเท่ากันก็จะได้งบเหมาจ่ายรายหัวเท่ากัน แต่พื้นที่ไหนมีคนป่วยน้อยกว่าค่าใช้จ่ายก็จะน้อยกว่าจะมีเงินเหลือมากกว่า หลักการนี้ส่งผลกระทบโดยตรงถึงโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงต้องใช้ทรัพยากรมาก ต้องใช้บุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษราคาแพง เป็นสาเหตุให้การเข้าบริการของผู้ป่วยยากมาก

ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช.จึงจัดให้มีโครงการที่เรียกว่า “การบริหารจัดการโรคเฉพาะ หรือ Disease management program” เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดกับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ๆ ดังกล่าว โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว(leukemia) และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง(lymphoma) จึงถูกจัดเข้าโครงการนี้ด้วยเรื่องจากการรักษาต้องให้ยาเคมีบำบัดที่มีราคาแพง เราเรียก ๒ โรคนี้แบบย่อ ๆ กันว่า LL

การจัดการโครงการ LL นั้นเริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือต้องการให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทองได้รับบริการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานแห่งการรักษาโรค เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี บนพื้นฐานสำคัญคือลดภาระการแบกรับค่ารักษาพยาบาลของหน่วยบริการที่เป็นค่าใช้จ่ายสูง พูดภาษาชาวบ้านคือจัดการให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างดี หน่วยบริการที่ดูแลผู้ป่วยไม่เกิดภาระด้านการเงินการคลังจนขาดทุน และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ได้ นั่นคือต้องให้เกิดความสมดุลของ ๓ ฝ่าย ต้องยกความดีให้คน ๒ คนสำหรับงานนี้คือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในขณะนั้นผู้จุดประกาย และ นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการโรคเฉพาะที่รับลูกมาจัดการจนเป็นรูปธรรม ผมมารับลูกต่อในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการโรคเฉพาะช่วยพี่ชูชัยในปี พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๑ สปสช.สามารถเชิญชวนหน่วยบริการระดับแนวหน้าที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับรักษาผู้ป่วย LL ให้เข้าร่วมโครงการนี้ได้ ๔๑ แห่งทั่วประเทศ

ในส่วนของผู้ป่วยนั้นกำหนดว่าต้องเป็นผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองและเป็นผู้ป่วย LL รายใหม่ ซึ่งจะได้รับการรักษาตาม protocol หรือแผนการรักษาที่ สปสช.ร่วมกับสมาคมโลหิตวิทยากำหนดขึ้น

ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถไปขอรับการรักษาที่ไหนก็ได้ใน ๔๑ แห่ง ทางหน่วยบริการจะจัดการลงทะเบียนผู้ป่วยในระบบโดยมีเงื่อนไขว่าต้องรักษาตาม protocol และต้องมีการรายงานผลการติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตามที่ สปสช.กำหนด ตลอดจนรับผิดชอบในกรณีที่ผู้ป่วยมีการเจ็บป่วยจากภาวะแทรกซ้อนหรือโรคอื่น ๆ ในช่วง ๑ ปีแรก หลังจากนั้นผู้ป่วยจะถูกจำหน่ายจากระบบบริการโรคเฉพาะเข้าสู่ระบบปกติ แต่หน่วยบริการยังคงต้องติดตามดูแลผู้ป่วยต่ออีก ๑ ปี โดยรายงานผลให้ สปสช.ทราบตามกำหนด

แล้วจะทำอย่างไรให้หน่วยบริการมั่นใจว่าการให้บริการผู้ป่วย LL ตามโครงการนี้แล้วจะไม่เป็นภาระทางการเงินของหน่วยบริการ นั่นคือต้องกำหนดราคาจ่ายชดเชยที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขการจ่ายชดเชยให้เหมาะสม สปสช.จึงกำหนดการจ่ายชดเชย ๒ แบบคือจ่ายชดเชยค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการตามรายการที่กำหนด และการจ่ายค่าเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาตาม protocol โดยแบ่งจ่ายเป็นงวดตามกำหนดเวลาที่หน่วยบริการรายงานข้อมูลเข้าระบบ ด้วยการบริหารจัดการวิธีนี้ลงตัวด้วยกันทุกฝ่าย มีผู้ป่วย LL เข้ารับบริการ แยกเป็นผู้ป่วยใหม่โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ปีละ ๖๐๐-๘๐๐ ราย ผู้ป่วยใหม่โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งเด็กและผู้ใหญ่ปีละ ๕๐๐-๘๐๐ คน

นี่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ไปรับการรักษาที่ไหนก็ได้ตามที่ สปสช.กำหนด โดยเป็นการเลือกหน่วยบริการที่ต้องการไปรับการรักษาได้แค่ครั้งแรก แล้วต้องรักษาต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กำหนด หน่วยบริการเต็มใจรับผู้ป่วยไปรักษาโดยไม่สนใจว่าเป็นผู้ป่วยจากพื้นที่ใด และไม่เป็นภาระต่อสถานะทางการเงินของหน่วยบริการเพราะมีการกำหนดราคาจ่ายชดเชยและเงื่อนไขการจ่ายที่เหมาะสม

กลางปีพ.ศ.๒๕๕๑ ผมย้ายสำนัก หลังจากนั้นไม่นานพี่ชูชัยก็ย้ายสำนัก สำนักบริหารจัดการโรคเฉพาะเปลี่ยนผู้บริหาร และผู้รับผิดชอบงาน LL การบริหารจัดการจึงเกิดปัญหา เอาไว้ต่อภาค ๒ ว่าเกิดปัญหาอะไร และ สปสช.แก้ปัญหาอย่างไร รออ่านตอนต่อไปนะครับ


ตอนที่แล้วพูดถึงการบริหารจัดการโรคเฉพาะที่มีความพิเศษ พูดถึงการจัดการโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เรียกย่อ ๆ ว่า LL ซึ่งเป็นโรคที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง แล้วทิ้งท้ายว่ามีการเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบงานนั้นจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ วันนี้จะมาเล่าต่อ

ความยุ่งยากของโครงการ LL คือการรายงานข้อมูล เนื่องจาก สปสช.ต้องจ่ายค่ารักษาแบบเหมาจ่ายในราคาพิเศษราคาต่อรายแพงมาก ถ้าจำไม่ผิดมีตั้งแต่ ๓ แสนกว่าบาทจน ๘ แสนกว่าบาท จึงมีการกำหนดว่าหน่วยบริการต้องรายงานข้อมูลตามที่กำหนด ข้อมูลเหล่านี้มีทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการด้านการเงิน และมีทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อการกำกับติดตามคุณภาพบริการ และ สปสช.ใช้ลงทะเบียนผู้ป่วยตลอดจนรายงานต่าง ๆ ผ่านโปรแกรม DMIS ซึ่งเป็นโปรแกรมบนระบบออนไลน์

จากการตรวจสอบการชดเชย พบว่ามีการลงข้อมูลในโปรแกรม DMIS ไม่ถูกต้อง จนกลายเป็นการให้บริการผิดเงื่อนไขของการจ่ายชดเชยตามที่ สปสช.กำหนด จึงมีการเชิญหน่วยบริการมาทำความเข้าใจ และมีการเดินสายตรวจเยี่ยมหน่วยบริการเพื่อรับฟังปัญหานำมาปรับปรุงกระบวนการให้เหมาะสม

หลังจากที่เปลี่ยนตัวผู้บริหารสำนักบริหารจัดการโรคเฉพาะและผู้รับผิดชอบโครงการ LL การจัดการก็เปลี่ยนไปไม่ได้บริหารจัดการบนฐานวิชาการเข้มข้น หน่วยบริการพันธมิตรโดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์เริ่มส่งเสียงสะท้อนภาพลบ เพราะหลายเรื่อง สปสช.ตามวิชาการทันสมัยไม่ทัน protocol ที่ สปสช.กำหนดให้ใช้กลายเป็นล้าสมัย สถานการณ์เริ่มตึงเครียดไม่สู้ดีเหมือนอดีต ผมซึ่งย้ายไปเป็นรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพบริการและมีหมวกอีกใบเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาระบบบริการตติยภูมิเฉพาะด้านดูแลงาน excellent center โรคหัวใจและโรคมะเร็งจึงถูกเรียกไปเจรจาให้รับงาน LL มาดูแล ผมยื่นเงื่อนไขไป ๒ ข้อ คือ ผมขอรับมาแต่งานไม่รับผู้รับผิดชอบคนเดิมที่จะตามงานมา และหากผมเห็นว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอะไรต้องยอมรับให้มีการเปลี่ยนแปลง รองเลขาธิการที่เป็นเจ้านายผมรับปาก งาน LL จึงกลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของผมอีกครั้ง

ช่วงนั้นผมเพิ่งรับเจ้าหน้าที่สาวน้อยเป็นพยาบาลวัยเอ๊าะ ๆ มาใหม่ ผมก็บอกเธอว่าให้เอาเอกสาร LL ไปอ่านทุกบรรทัด แล้วดูว่ามีอะไรเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา สุดยอดมากครับเอาไปอ่านสักพัก เธอก็รายงานผมว่านอกจากเรื่องเดิม ๆ คือกรอกข้อมูลไม่ครบทำให้จ่ายเงินให้หน่วยบริการไม่ได้ เธอเจออะไรที่สนุกกว่านั้นคือพบว่าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงาน LL เดิมซึ่งจบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ใช่พยาบาลเลยไม่มีองค์ความรู้เรื่อง LL เลย เกิดความเข้าใจผิดในชื่อโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ปกติเราจะใช้คำย่อ ไม่เรียกชื่อเต็มกัน เช่น ALL หมายถึง acute lymphocytic leukemia หรือ CML หมายถึง chronic myeloid leukemia เจ้า A หรือ acute หมายถึงเป็นเฉียบพลันในเวลาอันสั้น การดำเนินของโรคก็เร็วมากรุนแรง ส่วนเจ้า C หรือ chronic หมายถึงเป็นเรื้อรังคือค่อย ๆ แสดงอาการอย่างช้า ๆ การดำเนินของโรคก็ไปเรื่อย ๆ เนื่องจากเจ้ามะเร็งเม็ดเลือดขาวมันจะพบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่โดยมีการวินิจฉัยที่แตกต่างกัน ใน protocol ที่ใช้สำหรับให้หน่วยบริการรักษาผู้ป่วยจึงมีทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ พ่อคนเก่งเจ้าหน้าที่คนเดิมแกดันคิดว่า A คือ adult หรือผู้ใหญ่ C คือ children หรือเด็ก เวลาหน่วยบริการลงข้อมูลมาถ้าเป็นเด็กพี่แกก็จะนำไปลงรหัส protocol ของโรคที่ขึ้นต้นด้วย C ทั้งหมด ส่วนของผู้ใหญ่ก็จะเป็น A ทั้งหมด การจ่ายชดเชยจึงผิดมั่วไปหมด ถึงว่าทำไมหน่วยบริการเขาถึงโวยว่าได้เงินไม่ครบ เจองานช้างแล้วสิผม

ผมต้องระดมผู้ที่เกี่ยวข้องจากสำนักอื่นทั้งจ่ายชดเชย ไอที และตรวจสอบการชดเชย มาสรุปปัญหาที่มันเกิดขึ้นมาเรื้อรังในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา คุยกันสัก ๒-๓ ครั้ง ผมก็สรุปว่าเราเห็นพ้องต้องกันว่าต้องปรับระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการ LL ไม่ให้ยุ่งยากแต่ยังคงมีประสิทธิภาพต่อการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยไม่เป็นภาระต่อหน่วยบริการ และต้องจัดการสะสางบัญชีเก่าที่ยังมีปัญหาในการเบิกจ่ายให้หน่วยบริการ ผมนำข้อสรุปนี้ไปคุยกับพี่พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการ สปสช.เจ้านายสายตรงผมในขณะนั้น พี่พี่บอกว่าถ้าเอ็งคิดว่าเดินถูกทางแล้วทำไปเลย ไฟเขียวดวงใหญ่ภายในสว่างโร่แล้ว แต่ผมยังต้องเจอไฟแดงจากภายนอกอีก

ผมเชิญบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งโลหิตวิทยามาหารือล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ในวงการนี้ หลายท่านก็เป็นคู่กรณีที่ส่งเสียงสะท้อนภาพลบกับโครงการ LL ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ผมพยายามทำใจว่าผมจะต้องเจออะไรหนัก ๆ ในที่ประชุมแน่นอน เจ้าหน้าที่ผมแอบไปกระซิบกับอาจารย์เมธินี ไหมแพง ซึ่งเป็นอาจารย์สอนผมตอนเป็นนักเรียนแพทย์ปัจจุบันอาจารย์เป็นผู้บริหารระดับสูงในเครือดุสิตเวชการหรือ รพ.กรุงเทพ อาจารย์เมมานั่งประกบติดกับผม ช่วงที่มีการแสดงความคิดเห็นรุนแรงชวนโมโห อาจารย์เมจะจับขาผมเตือนให้ใจเย็น ๆ ตลอด หลังจากที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ระบายจบ ผมก็ชี้แจงว่าเราทราบแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากอะไร ผมกำลังจะขอการสนับสนุนจากทุกท่านในการปรับการจ่ายชดเชยบริการ LL ใหม่ คราวหน้าผมจะนำข้อมูลที่ละเอียด พร้อมร่างข้อเสนอมาหารือกัน ทุกท่านก็รับปากว่ายินดีให้ความร่วมมือช่วยเหลือ จากไฟแดงเริ่มเป็นไฟเหลืองแล้วครับ

หลังจากนั้นผมก็ให้เจ้าหน้าที่วัยเอ๊าะ ๆ คนเก่งของผมโทรศัพท์ไปตะล่อมผู้เชี่ยวชาญที่เสียงดังบ่อย ๆ แล้วนัดประชุมครั้งที่ ๒ คราวนี้ผมนำข้อมูลการเบิกจ่ายที่ผ่านมานำเสนอว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหนบ้าง สิ่งที่ทำให้หนังบู๊เริ่มกลายเป็นหนังชีวิตไฟเหลืองเปลี่ยนเป็นไฟเขียวก็คือข้อมูลเหล่านี้ ผมถามอาจารย์ท่านหนึ่งว่าที่โรงพยาบาลของพี่ให้บริการ LL ปีที่แล้วไปกี่ราย พี่เขาบอกตัวเลขมา ผมบอกว่าพี่ครับผมตรวจสอบในฐานข้อมูลแล้วมันไม่มีสักรายเลยนะครับ เจ้าหน้าที่ของพี่ไม่ได้ลงข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายเลยครับ จากคนเสียงดังพี่แกพูดเบาลงทันที อ้าว! นี่เป็นที่เจ้าหน้าที่ผมเองหรือ ผมคิดว่าเกิดจาก สปสช.เสียอีก ผมก็บอกว่า สปสช.ก็มีส่วนครับ การลงข้อมูลอาจจะยุ่งยากเจ้าหน้าที่ที่ต้องลงข้อมูลเลยเบื่อ เขาไม่ลงข้อมูลเขาก็ไม่เดือดร้อนเพราะได้เงินเดือนเท่าเดิม แต่หน่วยบริการต่างหากที่ไม่ได้รับเงินชดเชยค่ารักษาตามที่ สปสช.ต้องจ่าย และทางหน่วยบริการเองก็ไม่เคยตรวจสอบ

ผมเสนอร่างการจ่ายชดเชยแบบใหม่ว่าจะมีการจ่าย ๒ แบบ คือจ่ายตาม protocol หรือจะจ่ายตามระบบ DRGs เหมือนผู้ป่วยในของโรคทั่วไป รบกวนให้ผู้เชี่ยวชาญทุกท่านช่วยทำการบ้านปรับ protocol ให้ทันสมัยและปรับราคาเป็นปัจจุบัน และลองดูว่าโรคชนิดไหนไม่ต้องจ่ายพิเศษตาม protocol เพื่อจะได้นำมาหารือกันต่อไป บรรยากาศการประชุมคราวนี้ชื่นมื่นมากอาจารย์เมไม่ต้องมาจับขาเตือนสติผม พอเลิกประชุมอาจารย์แสงสุรีย์ จูฑา ซึ่งเป็นเจ้าแม่ด้านโลหิตวิทยาท่านหนึ่งถึงกับเอ่ยปากชมเจ้าหน้าที่คนเก่งของผมว่า อาจารย์ปานเทพเปลี่ยนคนทำงานเรื่องนี้เป็นคุณวนิดาพี่สบายใจขึ้นเยอะคุยกันรู้เรื่องไม่เหมือนคนเก่าเลย

แต่คุณวนิดาคนเก่งของอาจารย์แสงเปลี่ยนไปเยอะ ปัจจุบันเป็นแม่ลูกสอง ไม่ใจเย็นเหมือนเมื่อก่อน ผมแอบเห็นเธอทะเลาะกับแม่ค้าออนไลน์บ่อย ๆ เพราะเธอเป็นนักช็อปออนไลน์ตัวยง เดี๋ยวเธอก็คงมาแสดงตัว ฮิ ๆๆ

ยังไม่จบนะครับ รออ่านมะเร็งไปไหนก็ได้ ตอนที่ ๓ นะครับ


ตอนที่แล้วเล่าถึงการได้ไฟเขียวจากเจ้านายให้ปรับระบบการจ่ายชดเชย LL และคุณวนิดาเจ้าหน้าที่คนเก่งของผมทำให้ได้ไฟเขียวจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย จนท่านเหล่านั้นรับไปปรับปรุง protocol ต่าง ๆ ให้มันทันสมัยพร้อมกับปรับราคาให้มันเป็นปัจจุบัน หลังจากถกกันถึงความเหมาะสมเราก็ได้ข้อสรุปว่าเราจะแบ่งโรคออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ acute leukemia หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน กับกลุ่มอีกกลุ่มประกอบด้วย chronic leukemia หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังกับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

กลุ่ม acute leukemia มีความซับซ้อนในการรักษาจึงเห็นว่าสมควรให้มีการจ่ายชดเชยตามระบบเดิมคือเหมาจ่ายเป็นรายคน โดยหน่วยบริการต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยจนครบ ๑ ปีรวมถึงภาวะแทรกซ้อนหรือโรคร่วมอื่น ๆ ด้วย

ส่วนกลุ่มที่ ๒ chronic leukemia และ lymphoma ปรับรูปแบบการจ่ายชดเชยเป็นตามระบบ DRGs สำหรับกรณีที่เป็นผู้ป่วยในเหมือนโรคทั่วไป เพียงแต่กำหนดราคาพิเศษสำหรับน้ำหนักสัมพัทธ์ของโรค ส่วนกรณีที่เป็นผู้ป่วยนอกจ่ายตามราคา protocol หากไม่มีการกำหนด protocol ก็จ่ายตามจริงไม่เกิน ๔,๐๐๐ บาทต่อครั้ง

ความยุ่งยากของการที่มีการจ่าย ๒ แบบ คือการส่งข้อมูลเพื่อการเบิกจ่าย การใช้โปรแกรม DMIS เหมือนเดิมก็คงจะเกิดปัญหาแบบเดิม ๆ อีกคือยุ่งยากในการกรอกข้อมูล ผิดพลาดง่าย ช่วงนั้น สปสช.เพิ่งจะเริ่มใช้โปรแกรม e-claim สำหรับให้หน่วยบริการลงข้อมูลเพื่อเบิกค่าชดเชยบริการ ผมได้คุณเจี๊ยบ กฤษณา โกสีหเดช จากสำนักบริหารการชดเชยซึ่งเป็นเจ้าแม่ e-claim มาช่วยคิดว่าหากเราจะใช้ e-claim สำหรับ LL รูปแบบใหม่จะทำอย่างไร คุณเจี๊ยบบอกว่าง่ายมากแค่กำหนด project code สำหรับแต่ละรายการกำกับข้อมูลการเบิกจ่าย เป็นอันว่าเราปรับรูปแบบการจัดการ LL ตลอดจนปรับราคาและวิธีเบิกจ่ายทีเดียวเบ็ดเสร็จ

เนื่องจากช่วงนั้น สปสช.กำลังจัดตั้งเครือข่ายระบบบริการโรคที่มีอัตราตายสูงเป็นการต่อยอดจากการพัฒนา excellent center มีการจัดเครือข่ายโรคมะเร็ง เราก็ปรับระบบ LL จากการไปไหนก็ได้ครั้งแรก เป็นการส่งตัวไปรับบริการตามเครือข่าย ผู้ป่วยไม่สามารถเดินไปที่ไหนก็ได้ ทั้งนี้เพราะต้องการให้เป็นระบบเครือข่ายมีการดูแลผู้ป่วยร่วมกันตามเขตพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้ป่วย หน่วยบริการประจำของผู้ป่วยก็จะทราบรายละเอียดว่าประชาชนในความรับผิดชอบของตนป่วยเป็นโรค LL รักษาที่หน่วยบริการไหนด้วยวิธีใด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาเร่งด่วนหน่วยบริการประจำสามารถให้การดูแลเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังไม่เกิดการออไปรับบริการที่หน่วยริการแห่งใดแห่งหนึ่งมากเกินไปจนเป็นภาระของทีมผู้รักษา

จากการระดมสมองของหลายฝ่ายทำให้สามารถปรับรูปแบบการจ่ายชดเชยค่าบริการ LL เป็นที่พึงพอใจของหน่วยบริการทุกแห่ง และไม่กระทบต่อการเข้าถึงบริการของผู้ป่วย แต่โจทย์ของผมและทีมงานยังไม่จบ คราวนี้เป็นเรื่องของเงิน ๆ ทอง ๆ คือจัดการเคลียร์หนี้เก่าที่เป็นปัญหาให้หน่วยบริการทุกแห่ง เนื่องจากกรณีของ acute leukemia เป็นเม็ดเงินมหาศาล จึงตกลงกันว่าให้หน่วยบริการลงข้อมูลในโปรแกรม DMIS ในส่วนที่ขาดให้ครบ และแก้ไขข้อมูลส่วนที่ผิดพลาดให้ถูกต้อง ส่วนกรณีของ chronic leukemia และ lymphoma ก็ใช้วิธีการให้ฝั่ง สปสช.ตรวจสอบข้อมูล หากพบว่าเป็นผู้ป่วยใหม่ และได้รับการรักษาตาม protocol ที่กำหนดก็จะจ่ายย้อนหลังให้โดยไม่ต้องลงรายละเอียด เรียกว่าเป็นการล้างไพ่ชุดใหญ่

เป็นอันจบมหากาพย์การใช้กลไกทางการเงินเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของโรงมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งผมมีส่วนร่วมตั้งแต่ยุคแรก ๆ จนต้องกลับมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วงไปด้วยดี ปัจจุบันงาน LL ก็ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของผมแล้ว

ตอนนี้ สปสช.ก็กำลังรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาดำเนินการเรื่อง “มะเร็งไปไหนก็ได้” อีกครั้ง ก็ต้องดูว่าคราวนี้จะมีการออกแบบระบบบริการอย่างไร จะเกิดปัญหาอะไรหรือเปล่า


บันทึกวันที่ ๑๗, ๑๙ และ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๓

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

๙๒. วิกฤติบัตรทองใน กทม. พ.ศ.๒๕๖๓

วิกฤติบัตรทอง กทม. ช่วงนี้คงจะเห็นข่าวความวุ่นวายที่เกิดกับประชาชน กทม.ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง...

Comments


เว็บไซต์นี้จัดทำเพื่อรวบรวมรายชื่อทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ตันเตียงสิ่น)ทุกสายสกุล และมีเรื่องราวต่าง ๆ ของตระกูลและท้องถิ่น รวมถึงนานาสรรพสาระต่าง ๆ

bottom of page