๗๔.การจัดส่งน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง
- drpanthep
- 26 เม.ย. 2565
- ยาว 1 นาที
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (๒๑ ก.พ.๒๕๖๒) ผมเดินทางกลับจากลาพักผ่อนไปหามพระที่ปัตตานี ถึงสนามบินดอนเมือง ๕ โมงครึ่งมีเจ้าหน้าที่สำนักผมไปรอดักโฉบจับตัวขึ้นรถตู้ไปบางแสนเลย เพราะเขามีการประชุมหารือปรับปรุงการทำงานร่วมกันของ ๔ หน่วยงานที่ยุ่งอยู่กับการจัดส่งน้ำยาล้างไตทางช่องท้องไปยังบ้านผู้ป่วย ๔ หน่วยงานที่ว่าประกอบด้วยบริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลราชวิถี และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ดูหน้าดูตาผู้ที่เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ผมเป็นคนเก่าแก่ที่สุดของวงการ เพราะผมเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนระบบบริการล้างไตทางช่องท้องสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตั้งแต่ยุคแรกตั้งแต่การนำร่องใน ๒๐ กว่าหน่วยบริการก่อนจะได้รับการบรรจุเข้าเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ในขณะนั้นมีการเรียกร้องให้เพิ่มสิทธิประโยชน์การบำบัดทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการล้างไตผ่านทางช่องท้องกับการล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม พบว่าการล้างไตผ่านทางช่องท้องเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ไม่ต้องมีการลงทุนเครื่องไตเทียม ไม่ต้องลงทุนบุคลากรที่ต้องใช้พยาบาลไตเทียม ๑ คนต่อเครื่องไตเทียม ๒ เครื่อง ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลามานอนฟอกไตครั้งละ ๔ ชั่วโมงสัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง แต่อุปสรรคของการให้ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองคือจะให้ผู้ป่วยไปรับน้ำยาล้างไตจากที่ไหน ผู้ป่วยต้องใช้น้ำยาวันละประมาณ ๘ ลิตรทุกวัน
ในวันนั้นได้คำตอบว่าเราต้องจัดให้มีการส่งน้ำยาล้างไตทางช่องท้องไปถึงบ้านผู้ป่วยเลย ในการคัดเลือกผู้ป่วยเข้าโครงการจึงต้องมีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยทุกรายว่ามีสถานที่ที่เหมาะสมต่อการจัดเก็บน้ำยาหรือไม่ ในโครงการนำร่องเราเจรจากับบริษัทผู้จำหน่ายน้ำยาล้างไตทางช่องท้องให้ได้ราคากลางสำหรับหน่วยบริการนำร่องทุกแห่งจะได้จัดซื้อ โดยราคานี้รวมถึงการที่บริษัทจะต้องจัดส่งน้ำยาไปยังบ้านผู้ป่วยด้วย
เมื่อสามารถบรรจุการล้างไตผ่านช่องท้องเข้าเป็นสิทธิประโยชน์ได้แล้ว มีหน่วยบริการครอบคลุมทั่วทั้งประเทศมีผู้ป่วยอยู่ในระบบเป็นหลักหมื่น จึงปรับกระบวนการจัดหาน้ำยาล้างไตเป็นการซื้อรวมแล้วจ้างบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญเรื่องการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทำหน้าที่จัดส่งน้ำยาไปยังบ้านผู้ป่วย คุณภาพการจัดส่งน้ำยาดีมาก เห็นได้จากคราวที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.๒๕๕๔ ผู้ป่วยในระบบไม่มีรายใดขาดแคลนน้ำยาเลย เพราะทางบริษัทจัดส่งน้ำยาด้วยเรือแทนรถยนต์ แต่ราคาค่าจัดส่งน้ำยาค่อนข้างสูงเอาการ
เข้าสู่ยุคที่ ๓ สปสช.จัดซื้อน้ำยาผ่านองค์การเภสัชกรรม แล้วทางองค์การเภสัชกรรมจ้างบริษัทไปรษณีย์ไทยจัดส่งน้ำยาไปยังบ้านผู้ป่วย
มาสู่ยุคที่ ๔ สปสช.โดนตีความตามกฎหมายว่าไม่มีอำนาจในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ด้วยตนเอง ต้องจ่ายเงินให้หน่วยบริการเท่านั้น สปสช.จึงจ่ายเงินให้เครือข่ายราชวิถีทำหน้าที่เป็นผู้จัดซื้อน้ำยาล้างไตทางช่องท้องจากองค์การเภสัชกรรม องค์การเภสัชกรรมได้จ้างบริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทไปรษณีย์ไทยทำการจัดส่งน้ำยา
ฟังดูขั้นตอนการจัดส่งน้ำยาเหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงมันไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก เพราะต้องมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด ราชวิถีต้องติดตามว่ามีการนำน้ำยาออกจากคลังขององค์การเภสัชกรรมตรงกับจำนวนที่บริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นนำส่งหรือไม่ สปสช.ก็ต้องติดตามว่ามีผู้ป่วยรายไหนไม่ได้รับน้ำยาตามกำหนด หรือได้รับน้ำยาไม่ถูกประเภทตามการสั่ง หรือน้ำยาที่ส่งไปอยู่ในสภาพที่คิดว่าไม่มีคุณภาพ ซึ่งกระบวนการติดตามนี้ใช้ระบบ IT เล่นกับฐานข้อมูลเป็นหลัก พอทำงานไปสักพักเราก็จะเจอปัญหาจากระบบก็ต้องมานั่งพูดคุยกันปรับกันตั้งแต่คำจำกัดความที่อาจจะไม่ตรงกันเช่นการจัดส่งน้ำยาสำเร็จ ทางไปรษณีย์คิดว่าเมื่อรับน้ำยาออกจากคลังส่งไปถึงบ้านผู้ป่วยนับว่าสำเร็จ แต่ทาง สปสช.การจัดส่งสำเร็จหมายความว่าถึงบ้านผู้ป่วยถูกคน น้ำยาถูกประเภท ตรงตามวันที่กำหนด ผู้ป่วยลงชื่อรับน้ำยา ก็ต้องมาปรับแก้ในโปรแกรมรายงานการจัดส่งอะไรทำนองนั้น ทุกฝ่ายก็ต้องมาระดมสมองนำปัญหาของแต่ละฝ่ายมากางคลี่แผ่แล้วหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ระบบจัดส่งน้ำยาล้างไตทางช่องท้องมีประสิทธิภาพที่สุด การแก้ไขบางเรื่องก็เป็นปัญหาทางเทคนิคที่ผู้ปฏิบัติสามารถแก้ไขกันได้ แต่บางเรื่องก็ต้องเคลียร์กันในระดับนโยบายผู้บริหารอย่างผมก็จะเข้าไปมีบทบาทในการฟันธงว่าจะเอาอย่างไร
ทั้งหมดนี้พวกเราทำไปเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ต้องล้างไตผ่านทางช่องท้อง
Kommentare