top of page

๗๕.เปลี่ยนจากยาเป็นเงิน

  • รูปภาพนักเขียน: drpanthep
    drpanthep
  • 26 เม.ย. 2565
  • ยาว 1 นาที

วันนี้ขอคุยเรื่องงานสักนิด มีหลายคนถามมาว่าที่มีข่าวว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดนห้ามไม่ให้ซื้อยาและเวชภัณฑ์เพราะมีการทุจริตใช่หรือไม่ บางคนก็ถามว่าจะมีผลกระทบอะไรกับคนไข้บ้าง พอดีช่วงนี้ผมต้องไปรับผิดชอบงานสนับสนุนระบบบริการโรคเอดส์และวัณโรค เลยต้องไปยุ่งกับเขานิดหน่อยเพราะว่า สปสช.มีการซื้อยาต้านไวรัสเอดส์ ยาลดไขมันในเลือดสำหรับผู้ป่วยกินยาต้านไวรัส และยารักษาวัณโรคจากองค์การเภสัชกรรมแล้วจัดส่งไปให้หน่วยบริการต่าง ๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็อยากจะเล่าให้เพื่อนฝูงผมฟังบ้าง


เดิม สปสช.มีการจัดซื้อยาบางประเภทแบบซื้อรวมทั้งประเทศแล้วส่งไปยังหน่วยบริการต่าง ๆ ได้แก่ ยาต้านพิษ วัคซีน น้ำยาล้างไต ยาต้านไวรัสเอดส์ และยา จ(2) (คือยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะให้เข้าถึงยาได้อย่างสมเหตุผลและคุ้มค่า) เนื่องจากหน่วยบริการหลายแห่งแห่งไม่ได้สำรองไว้ หรือหน่วยบริการจัดหายาไม่ได้ เพราะเป็นยาที่หายาก ไม่มีผู้จำหน่าย หรือมีผู้จำหน่ายน้อยรายราคาแพงต่อรองราคาไม่ได้ ซึ่งก็ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายเข้าไม่ถึงยาหรือมีปัญหาการการเรียกเก็บและส่งต่อระหว่างโรงพยาบาล


จนมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันมีการทักท้วงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) แจ้งว่าการที่ สปสช.นำเงินกองทุนไปจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาในรายการที่จำเป็นนั้น ไม่มีบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ให้อำนาจไว้ พูดง่าย ๆ คือไม่ใช่หน้าที่ของ สปสช.


แต่เมื่อ คตร.ตรวจสอบและพิจารณาเหตุผลที่ สปสช.ต้องซื้อยาดังกล่าวเองพบว่ามีประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้ และพบว่าสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้อย่างชัดเจน ประกอบกับตรวจสอบไม่พบว่าการดำเนินการจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมมีการทุจริตแต่อย่างใด คตร.จึงมีหนังสืออนุญาตให้สปสช.จัดหายา วัคซีนและเวชภัณฑ์รายการจำเป็น เป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราว จนกว่าจะได้ข้อยุติทางกฎหมาย เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ระบบสาธารณสุขในภาพรวมของประเทศ


ต่อมา คตร.มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่าหากรัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองราคาที่เกี่ยวกับการจัดหายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ในภาพรวม โดยให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีอำนาจในการดำเนินการจัดหาเพื่อส่งมอบให้กับหน่วยบริการ สมควรที่จะต้องดำเนินการแก้ไข พรบ.ให้รองรับกรณีดังกล่าวไว้ให้ชัดเจน เพื่อมิให้กระทบกับวัตถุประสงค์หลักของกองทุนฯ พูดแบบชาวบ้านคือถึงจะทำนอกเหนือหน้าที่แต่ส่งผลดีต่อประเทศ ก็ไปหาทางให้เป็นหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฏหมาย โดย คตร. ยังได้แจ้งให้ รมว.สธ. ประสานงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาการบริหารงานและการใช้งบประมาณของ สปสช. ด้วย ซึ่งมีมติว่าเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนและระบบบริการสาธารณสุข ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ให้ สปสช.ดำเนินการต่อเนื่องไปก่อน และปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ให้ปรับเปลี่ยนวิธีไม่ให้ขัดแย้งกับข้อกฎหมาย


ในเมื่อกฎหมายไม่ให้อำนาจ สปสช.จัดซื้อยา ในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ที่จะถึงนี้ สปสช.จึงต้องหยุดดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการซื้อยาและเวชภัณฑ์ จนกว่าจะมีทางออกที่เหมาะสม เมื่อเป็นเช่นนี้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบกับประชาชนและหน่วยบริการ รัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุขจึงออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอการบริหารเวชภัณฑ์ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมี รมว.สธ.เป็นที่ปรึกษา มีปลัด สธ.เป็นประธาน มีกรรมการจากหน่วยงานต่างๆของ สธ. ตัวแทน สตง. ตัวแทนหน่วยบริการต่าง ๆ และตัวแทนหน่วยบริการและเลขาธิการ สปสช.เป็นกรรมการ ให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่พิจารณาจัดทำข้อเสนอการบริหารเวชภัณฑ์ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


ดังนั้นก็อยากให้ทุกคนทราบโดยทั่วกันว่าการจัดซื้อยาของ สปสช.นั้นมีคุณประโยชน์ต่อรัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณได้ และเป็นการดำเนินงานที่โปร่งใสปราศจากทุจริต

ส่วนผลกระทบเมื่อ สปสช.ไม่สามารถจัดซื้อยาได้อีกต่อไปก็คงไม่ต้องกังวล เพราะถึง สปสช.จะไม่จ่ายเป็นยา แต่ก็เตรียมการที่จะจ่ายชดเชยการบริการให้กับหน่วยบริการตามเงื่อนไขเดิมทุกอย่างเพียงแต่เปลี่ยนจากการจ่ายคืนเป็นยาและเวชภัณฑ์เป็นการจ่ายคืนด้วยเงิน ภายใต้กรอบราคาไม่เกินกว่าที่ สปสช.เคยซื้อได้ ส่วนการจัดหายาและเวชภัณฑ์ให้หน่วยบริการก็ขึ้นกับแนวทางที่คณะทำงานฯซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานจะตัดสินใจวิธีการที่เหมาะสม เช่นให้หน่วยบริการแต่ละแห่งจัดซื้อเอง หรือจัดให้มีหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดทำหน้าที่ซื้อรวมแล้วแจกจ่ายให้หน่วยบริการ


ซึ่งในขั้นตอนของการเปลี่ยนจากการจ่ายเป็นยาและเวชภัณฑ์มาเป็นการจ่ายเป็นเงินทุกหน่วยงานของ สปสช.ที่เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการพร้อมแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของยาต้านไวรัสเอดส์ ยาลดไขมันในเลือดสำหรับผู้ป่วยกินยาต้านไวรัส และยารักษาวัณโรคที่ผมรับผิดชอบอยู่

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
๙๒. วิกฤติบัตรทองใน กทม. พ.ศ.๒๕๖๓

วิกฤติบัตรทอง กทม. ช่วงนี้คงจะเห็นข่าวความวุ่นวายที่เกิดกับประชาชน กทม.ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง...

 
 
 
๙๑.ก่อนจะเป็น CA anywhere

วันนี้มีคนแอบกระซิบถามผมว่าอาจารย์รู้จักกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนนี้ใช่ไหม ผมตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่าใช่ผมรู้จักหมอหนู อนุทิน...

 
 
 

Comments


เว็บไซต์นี้จัดทำเพื่อรวบรวมรายชื่อทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ตันเตียงสิ่น)ทุกสายสกุล และมีเรื่องราวต่าง ๆ ของตระกูลและท้องถิ่น รวมถึงนานาสรรพสาระต่าง ๆ

bottom of page