๘๔.เครือข่ายบริการกลุ่มโรคที่มีอัตราตายสูง ๒
- drpanthep
- 3 พ.ค. 2565
- ยาว 1 นาที
เมื่อ สปสช.สามารถพัฒนาเครือข่ายบริการ STEMI ได้แล้ว ก็ได้มีการต่อยอดไปพัฒนาเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือที่เรียกกันว่า เครือข่าย Stroke fast tract
Stroke fast tract หมายถึงการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลันอย่างเร่งด่วน
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลันจะมีอาการได้หลายอย่างเช่นปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หนังตาตก แขนขาอ่อนแรง ฯลฯ
การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลันคือการให้ยา rtPA ซึ่งออกฤทธิละลายลิ่มเลือดที่อุดตัน โดยจะต้องให้ยา rtPA ภายในเวลา ๓ ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ
เนื่องจากการรักษาค่อนข้างยุ่งยากต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ ต้องมีเครื่องตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์(CT scan) และค่ายา rtPA มีราคาแพง และต้องรักษาให้ทันภายในเวลา จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาทันเวลาน้อยมาก
การพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน ก็ล้อไปตามแบบเครือข่าย STEMI คือสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มศักยภาพของหน่วยบริการ และมีการจ่ายชดเชยค่ายา rtPA เพิ่มขึ้น
เครือข่ายจะประกอบด้วยหน่วยบริการ ๓ ระดับคือ
๑.แม่ข่าย หมายถึงหน่วยบริการที่มีศักยภาพพร้อม สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ สามารถให้การผ่าตัดสมองได้ จะทำหน้าที่สนับสนุนทั้งวิชาการ และบริการให้ลูกข่าย
๒.ลูกข่ายที่ให้ยา rtPA ได้ กลุ่มนี้จะมีบุคลากรที่ได้รับการอบรมให้ฉีดยา rtPA และดูแลผู้ป่วยได้ โดยมีแม่ข่ายเป็นพี่เลี้ยง หากมีปัญหาก็จะส่งผู้ป่วยไปที่หน่วยบริการแม่ข่าย
๓.ลูกข่ายที่ให้ยา rtPA ไม่ได้ เนื่องจากขาดความพร้อมทั้งบุคลากร หรือเครื่องมือ แต่กลุ่มนี้สามารถให้การวินิจฉัยเบื้องต้น และจะมีแนวทางการดูแลเบื้องต้นก่อนส่งไปหน่วยบริการเหนือขึ้นไปภายในเวลาที่ กำหนด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยา rtPA ทันภายใน ๓ ชั่วโมง
การดูแล Stroke fast tract จะยุ่งยากกว่าการดูแลผู้ป่วย STEMI เพราะเวลาที่เป็น golden period สำหรับการให้ยาละลายลิ่มเลือดเพียงแค่ ๓ ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ
ดังนั้น จึงต้องมีการประสานกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถติดต่อไปที่หมายเลขโทรศัพท์ ๑๖๖๙ เพื่อขอรถรับผู้ป่วยจากบ้านไปยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุด
ปัจจุบัน สปสช. โดย สปสช. ๑๓ เขต ได้จัดให้มีเครือข่ายบริการทั่วประเทศ ตามแผนที่ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าหากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติและรีบไปหน่วยบริการใกล้ บ้าน จะได้รับการดูแลอย่างดีตามแนวทางที่แต่ละเครือข่ายกำหนด
การพัฒนาระบบนี้ทำโดย สปสช.เพื่อประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ๓๐ บาท แต่ส่งอานิสงส์ถึงประชาชนในสิทธิอื่นๆทั้งสวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม เพราะหน่วยบริการมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่การจ่ายชดเชยของสิทธิอื่นก็เป็นไปตามที่สิทธินั้นๆกำหนด
วิธีการที่ผู้ป่วยจะไปรับการรักษาได้เร็วที่สุดก็ใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยโทรศัพท์ไปที่หมายเลข ๑๖๖๙ เพื่อให้จัดรถไปรับผู้ป่วยจากบ้านนำส่งหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุด
Comments