๘๕.โรคหัวใจขาดเลือด
- drpanthep
- 3 พ.ค. 2565
- ยาว 1 นาที
รู้สึกไม่สบายตัวมีอาการปวดจุกลิ้นปี่ ถ่ายเหลวมาตั้งแต่เมื่อวาน เช้านี้ยังไม่ดีขึ้นเลยเดินออกกำลังกายแค่ครึ่งหนึ่งของปกติ ไม่รู้จะทำอะไรนั่งปล่อยลมหายใจทิ้ง ๆ เกิดนึกขึ้นได้ว่าช่วงนี้เจ้าหน้าที่ผมมีคนใกล้ตัวเป็นโรคหัวขาดเลือดกัน ๒-๓ คน ต่างก็มาปรึกษาผมที่รู้แบบงู ๆ ปลา ๆ เดี๋ยวถอดความเรื่องหัวใจขาดเลือดจากแนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดในประเทศไทย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๕๗ ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯมาเล่าสู่กันฟังดีกว่า ก่อนอื่นต้องทำข้อตกลงกันก่อนว่าเป็นการเล่าสู่กันฟังเพื่อรู้ แต่ไม่ใช่เพื่อให้เกิดวิตกจริต หรือนำไปใช้ในการโต้เถียงกับหมอคนอื่น
โรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease : IHD) หรือบางทีก็เรียกว่าโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary Arterial Disease : CAD) คืออะไร ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจะต้องมีหลอดเลือดแดงมาเลี้ยงเพื่อนำเม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนมาให้เซลล์ต่าง ๆ ใช้เป็นพลังงาน หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เป็นปั๊มสูบฉีดเลือดแดงไปทั่วร่างกาย ตัวหัวใจเองก็ต้องมีหลอดเลือดแดงมาเลี้ยงหลอดเลือดแดงนี้มีชื่อว่าหลอดเลือดแดงโคโรนารี
ในคนที่มีความผิดปกติของระดับไขมันในเลือดมันจะเกิดการพอกของไขมันที่ผนังของหลอดเลือดแดงโคโรนารีทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง เมื่อตีบแคบมากขึ้นก็จะทำให้เลือดแดงไปเลี้ยงหัวใจน้อยลงเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด หรือในบางร้ายก็มีการหลุดของลิ่มเลือดที่เกาะอยู่กับไขมันที่พอกตัวนี้กลายเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดแดง สรุปหัวใจขาดเลือดเกิดได้ ๒ สาเหตุคือไม่ตีบก็ตัน
หัวใจขาดเลือดจะมีได้หลายแบบอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือเหนื่อย ใจสั่น ไปจนเป็นลมหมดสติ หรือเสียชีวิตเฉียบพลัน เราแบ่งกลุ่มอาการออกเป็น ๒ กลุ่มคือแบบเฉียบพลันหรือที่เรียกว่า ACS มาจากคำว่า Acute Coronary Syndrome กับแบบเรื้อรังที่เรียกกันว่า CCS มาจากคำว่า Chronic Coronary Syndrome หรืออาจจะเรียกว่า Stable angina
ในกลุ่ม ACS ยังแบ่งออกเป็น STEMI กับ Non-STEMI ซึ่งมีสาเหตุต่างกันแยกกันด้วยลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เรียกว่า EKG หรือ ECG โดย STEMI จะเกิดจากการอุดตัน ส่วน Non-STEMI จะเกิดจากการตีบ ในกรณีที่ตันหรือ STEMI จะเห็นชัดเจนจาก EKG คือมีการยกตัวสูงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจส่วน ST เรียกว่าเห็นปุ๊บวินิจฉัยเลยว่าเป็น STEMI แต่กรณีที่ตีบหรือ Non-STEMI ลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจจะไม่มีอะไรผิดปกติ ต้องใช้วิธีเจาะเลือดหาค่าเอนไซม์โทรโปนินซึ่งถ้าสูงกว่าปกติก็เป็นตัววินิจฉัยว่าเป็น Non-STEMI การรักษาตีบกับตันก็จะต่างกัน
กรณีที่เป็น STEMI การรักษาคือการให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน ๖ ชั่วโมงอย่างช้าไม่เกิน ๑๒ ชั่วโมงหลังจากมีอาการ แต่หากอยู่ในหน่วยบริการที่มีศักยภาพคือมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีความชำนาญ มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม มีทีมงานที่มีความชำนาญก็พิจารณาทำการฉีดสีสวนหัวใจดูหลอดเลือดโคโรนารีแล้วทำการดูดลิ่มเลือดที่อุดตันพร้อมกับถ่างขยายหลอดเลือดที่ตีบ ที่เรียกกันว่า Primary PCI ซึ่งต้องทำภายใน ๑๒๐ นาทีหลังจากมีอาการ
สำหรับกรณี Non-STEMI ไม่มีการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือทำ Primary PCI แต่ใช้วิธีให้ยาต้านเกร็ดเลือดและยากันเลือดแข็งตัว เพื่อให้เลือดมันเหลวไหลผ่านรูตีบได้คล่องขึ้น และรักษาตามอาการอื่น ๆ เช่นให้ยาแก้ปวดลดอาการเจ็บแน่นหน้าอก จนอาการผู้ป่วยคงที่แล้ว ๓-๕ วันจึงจะนำผู้ป่วยไปทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเช่นการตรวจสมรรถภาพหัวใจในขณะออกกำลังกาย หรือที่เรียกว่า Exercise Stress Test : EST ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่าไปวิ่งสายพาน หากมีข้อบ่งชี้จึงจะทำการฉีดสีสวนหัวใจดูหลอดเลือดโคโรนารี
ส่วนในรายที่เป็นหัวใจขาดเลือดเรื้อรังการรักษาก็ให้ยาต้านเกล็ดเลือด และยาลดไขมันในเลือดลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดความเสี่ยง และควรได้รับการตรวจพิเศษแบบที่เรียกว่า Non-invasive investigations คือการทำ EST หรือการทำ Coronary CTA ซึ่งเป็นการดูหลอดเลือดโคโรนารีด้วยการทำ CT scan ไม่ต้องสวนหัวใจ
จะเห็นว่าอันที่จริงแล้วการที่จะฉีดสีสวนหัวใจ หรือการทำ PCI นั้นมันมีข้อบ่งชี้มีขั้นตอนของมัน ไม่ใช่ว่าพอเจอผู้ป่วยเจ็บหน้าอกมาก็จับไปฉีดสีทุกราย
Commentaires