๘๙.เมื่อผมต้องสอนคนนอกสายวิชาชีพ
- drpanthep
- 26 ต.ค. 2566
- ยาว 1 นาที
ต้นปี พ.ศ.๒๕๖๔ ก่อนที่ผมจะเกษียณจากหน่วยงาน ผมดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งเป็นตำแหน่งในสายวิชาการ เพราะตอนปี พ.ศ.๒๕๖๓ ผมแสดงความจำนงขอลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักซึ่งเป็นสายบริหารไปอยู่สายวิชาการ เพื่อพักก่อนเกษียณ และเปิดทางให้องค์กรสรรหาคนมาดำรงตำแหน่งแทนตั้งแต่ผมยังไม่เกษียณ ผมจะยังคงเป็นที่ปรึกษาให้ได้ถ้าต้องการ เพราะตำแหน่งผู้อำนวยการของผมมันเป็นการบริหารบนหลักวิชาการของโรคหลายระบบ ไม่ใช่การบริหารแบบสั่งงานให้คนโน้นคนนั้นทำ แต่มันต้องทำเองหลายเรื่อง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ
ต่อมาผู้อำนวยการคนใหม่ที่มาแทนผมเกิดปิ๊งไอเดียว่าจะโยกเจ้าหน้าที่ในสำนักให้เปลี่ยนงานในหน้าที่ มือขวาผมที่เป็นพยาบาลเรียนรู้เรื่องการทำงานเชิงวิชาการจนฟังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจพูดรู้เรื่องโดนโยกไปงานอื่น คนที่มารับงานแทนเป็นคนเก่งในทีมผมเช่นกัน แต่เธอ ๒ คนไม่ได้มาจากสายวิชาชีพสาธารณสุข ไม่ใช่พยาบาล มาจากสายสังคมศาสตร์ การที่ต้องมารับงานด้านโรคหัวใจจึงเป็นเรื่องยาก ผมนั่งกินมื้อเที่ยงพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในสำนักทุกวันเลยคิดว่าเราต้องช่วยเจ้าหน้าที่ที่เป็นลูกทีมเก่าของเรา ผมจึงเอ่ยปากไปว่าผมจะเปิดสอนเรื่องราวเกี่ยวกับโรคหัวใจตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน ไปจนเรื่องการบริหารที่จะต้องทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
คราวนี้ความทุกข์จึงเกิดกับผม ผมจะทำอย่างไรให้คนที่มีความรู้เพียงแค่รู้ว่าหัวใจคนเรามีขนาดเท่ากำปั้นของตนเอง อยู่ในอกด้านซ้าย ทำหน้าที่สูบฉีดไปเลี้ยงร่างกาย เข้าใจเรื่องโรคต่าง ๆ เพื่อจะนำไปใช้ในงานบริหาร ผมต้องอดหลับอดนอนเตรียมการสอนหลายวันหลายคืน มันยากกว่าที่เคยสอนนักเรียนแพทย์ มันยากกว่าที่ไปสอนพยาบาลเฉพาะทาง เพราะกลุ่มนั้นรู้ศัพท์แสง มีความรู้พื้นฐานด้านกายวิภาคศาสตร์ของหัวใจ สรีรวิทยาของระบบไหลเวียนเลือด แต่ ๒ คนนี้ ผมต้องไม่ใช้ศัพท์แสงทางการแพทย์ ต้องแปลเป็นไทยแทบทุกคำ ในที่สุดผมก็เตรียมการสอนเสร็จ ได้สไลด์ประกอบการสอน ๖๐ สไลด์ โดยไปหารูปภาพจากตำราจากเว็บต่าง ๆ มาประกอบเพื่อให้คนที่ไม่มีความรู้ได้มองเห็นภาพของจริง เมื่อหาวันเวลาว่างได้ผมก็ทำการสอนโดยไม่แจกสไลด์ล่วงหน้า เพื่อที่ทุกคนจะต้องตั้งใจฟังและซักถามได้ตลอดเวลาเมื่อมีคำถามในใจ
เพื่อไม่ให้สิ่งที่อดหลับอดนอนเตรียมสูญหายไปตามกาลเวลา เลยขอเอามาโชว์ที่นี่บางส่วน



ใช้อธิบายกายวิภาคศาสตร์ของหัวใจ

ใช้อธิบายสรีรวิทยาหรือการทำงานของหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด

ใช้อธิบายเรื่องของลิ้นหัวใจ

ใช้อธิบายเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจ

ใช้อธิบายการเกิดโรคหัวใจ ใช้ศัพท์ทางการแพทย์ แต่เวลาสอนแปลเป็นไทย เพื่อที่จะได้จดและจำ เวลาไปฟังคนอื่นพูด

ใช้อธิบายโรคหัวใจพิการมาแต่กำเนิดมาแบ่งเป็น ๒ ชนิดใหญ่ ๆ

ใช้อธิบายว่าเวลาเขาพูดถึงชื่อโรค มันคือความผิดปกติที่ไหน ทำไมต้องผ่าตัด

ใช้อธิบายเกี่ยวกับการติดเชื้อของหัวใจส่วนต่าง ๆ

ใช้อธิบายเรื่องโรคหลอดเลือดโคโรนารี ซึ่งเป็นงานหลักเรื่องหนึ่งของ สปสช.

ใช้อธิบายว่าหมอจะต้องซักประวัติอะไรบ้าง จะต้องตรวจร่างกายแบบไหนบ้าง

ใช้อธิบายการตรวจคลื่นหัวใจ ที่เป็นการตรวจพื้นฐาน

ใช้อธิบายการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียง

ใช้อธิบายการตรวจด้วยการวิ่งออกกำลังบนสายพาน

ใช้อธิบายเรื่องการตรวจสวนหัวใจที่เราต้องไปตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ

ใช้อธิบายว่าเวลาสวนหัวใจฉีดสีจะเห็นอะไร

ใช้อธิบายเรื่องยาละลายลิ่มเลือดที่ สปสช.มีการจ่ายค่ายาเพิ่มเติมจากค่ารักษาทั่วไป

ใช้อธิบายการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดโคโรนารีที่ตีบ

ใช้อธิบายการใส่ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดโคโรนารี(stent)

ใช้อธิบายเรื่องเครื่องหัวใจและปอดเทียมสำหรับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด

ใช้อธิบายหลักการรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีด้วยการผ่าตัด

ใช้อธิบายการคิด DRG สำหรับคำนวณการจ่ายชดเชย

จบด้วยการอธิบายเรื่องการจัดการด้านคุณภาพบริการที่เป็นภารกิจใหม่
ผมไม่รู้ว่าคนที่ฟังผมสอนยังจะจำสิ่งเหล่านี้ได้หรือเปล่า เพราะว่าปัจจุบันก็โดนเปลี่ยนงานอีกแล้ว ผมอาจจะต้องสอนคนใหม่ที่เพิ่งมารับงานด้านนี้อีก เลยไปรื้อสไลด์เก่ามาดู
Comments