top of page

คำให้การเด็กหัวตลาด ตอนที่ ๑๐๔ เรื่องของวันสงกรานต์

  • รูปภาพนักเขียน: drpanthep
    drpanthep
  • 12 เม.ย.
  • ยาว 1 นาที

ทางปฏิบัตินั้นฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวังจะประกาศสงกรานต์ในช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี

ประกาศสงกรานต์จะระบุศก นางสงกรานต์ และฤกษ์ยาม

ประกาศสงกรานต์มีสารประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของราษฎรหลายเรื่อง เช่น ทำให้ทราบวัน เวลา ขึ้นศักราชใหม่ กำหนดการพระราชพิธีต่าง ๆ การเกิดจันทรุปราคา สุริยุปราคาในบางปี รวมถึงเกณฑ์น้ำฝนที่จะทำนา และวันเริ่มต้นทำนาปลูกข้าว เป็นต้น


พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงให้จารึกเรื่องมหาสงกรานต์ไว้ที่ระเบียงวัดพระเชตุพน จำนวน ๗ แผ่นจารึก

ใจความสำคัญอยู่ที่แผ่นที่ ๔ ที่ท้าวกระบิลพรหมลงมาทายปัญหาธรรมบาลกุมาร โดยเอาศีรษะของแต่ละฝ่ายเป็นเดิมพัน

จารึกแผ่นที่ ๕ ธรรมบาลกุมารไปได้ยินนกอินทรีย์ผัวเมียถามตอบปัญหากัน

จารึกแผ่นที่ ๖ ท้าวกระบิลพรหมแพ้ จะต้องโดนตัดศีรษะ แต่ว่าศีรษะท้างกระบิลพรหมหากตกถึงพื้นดินจะเกิดไฟไหม้โลก จึงสั่งให้ธิดา ๗ คนนำพานมารองรับศีรษะ

จารึกแผ่นที่ ๗ บอกเล่าว่าธิดาทั้ง ๗ นางของท้าวกระบิลพรหมจะผลัดกันนำศีรษะบิดาออกมาแห่รอบเขาพระสุเมรุ


ปีนี้ธิดาของท้าวกระบิลพรหมที่ทำหน้าที่นำศีรษะบิดาออกมาเวียนแห่คือนางทุงสะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราค ภักษาหารอุทุมพร (มะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ

ปีนี้ตรงกับปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช ๑๓๔๗ คนโบราณจะเรียกขานปีตามนักษัตร ถ้าเอ่ยปีมะเส็งก็ยากที่จะรู้ว่าเป็นปีมะเส็งรอบไหน แต่การที่บอกว่าสัปตศกหมายความว่าศกนั้นหรือปีนั้นจะลงท้ายด้วย ๗ นั่นคือเป็นปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วย ๗

ปีนี้ทางจันทรคติเป็นอธิกวาร สุริยคติเป็นปกติสุรทิน อธิกวารหมายความว่าปีนี้เป็นปีปกติ แต่เดือน ๗ จะมีข้างแรม ๑๕ วัน ๑ รอบปีมี ๓๕๕ วัน ปกติสุรทินหมายความว่าปฏิทินทางสุริยคติปีนี้จะมี ๓๖๕ วัน


วันเถลิงศก หรือวันเปลี่ยนปีตรงกับวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๘ เวลา ๘ นาฬิกา ๒๗ นาที ๓๖ วินาที หมายความว่าวันที่ ๑๖ เมษายน ตามเวลาดังกล่าวจะเริ่มนับเป็นจุลศักราช ๑๓๔๗


ช่วงวันสงกรานต์จะมีวัน ๓ วัน คือวันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก

วันมหาสงกรานต์ คือวันที่ดวงอาทิตย์เคลือ่นจากราศีมีนเข้าราศีเมษ

ปีนี้วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๘ ประมาณ ๖๐ ปีวันมหาสงกรานต์จะเปลี่ยนระหว่างวันที่ ๑๓ กับวันที่ ๑๔ เมษายน

ถัดจากวันมหาสงกรานต์เรียกว่าวันเนา

ถัดจากวันเนาจะเป็นวันเถลิงศก เมื่อพูดถึงวันเถลิงศก คือวันที่เปลี่ยนศกตามจุลศักราช

ดั้งเดิม ไทยเรานับวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งมาตามคติทางพุทธศาสนาที่จะถือเอาฤดูหนาวหรือเหมันตฤดูเป็นก้าวเข้าสู่ปีใหม่

ต่อมาเราเปลี่ยนไปตามคติพราหมณ์ คือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่

ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๒ ประเทศไทยนิยมใช้วันทางสุริยคติ จึงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ เมษายน

จนมีการเปลี่ยนแปลงครั้งหลังสุดให้เป็นไปตามสากลนิยม คือเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔

เป็นเหตุให้ปี พ.ศ.๒๔๘๓ จึงมีแค่ ๙ เดือน คือ เมษายน จนถึงสิ้นธันวาคม


เราไม่เคยใช้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่

การที่กล่าวว่าวันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ไทยจึงกล่าวผิด

แต่หลังวันมหาสงกรานต์ ๒ วันจะเป็นวันเถลิงศก คือเปลี่ยนจุลศักราช บันทึกวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๘



โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


เว็บไซต์นี้จัดทำเพื่อรวบรวมรายชื่อทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ตันเตียงสิ่น)ทุกสายสกุล และมีเรื่องราวต่าง ๆ ของตระกูลและท้องถิ่น รวมถึงนานาสรรพสาระต่าง ๆ

bottom of page