คำให้การเด็กหัวตลาด ตอนที่ ๑๐๕ เหมืองลาบู
- drpanthep
- 14 เม.ย.
- ยาว 1 นาที
ได้อ่านเรื่องราวของเหมืองลาบูจากเพจหนึ่ง บทความนั้นยังตกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอนของเหมืองลาบู เด็กหัวตลาดจึงต้องนั่งรื้อเอกสารมาบันทึกกันลืม
ประชุมพงศาวดารภาค ๓ พงศาวดารเมืองปัตตานีมีการกล่าวถึงเหมืองลาบูไว้ว่าในสมัยที่หลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองยะลาได้มีการสร้างเหมืองดีบุกไว้ ๖ เหมืองได้แก่เหมืองดีดะ เหมืองล่าบู เหมืองหม่าเระ เหมืองบายอ เหมืองใหม่ และเหมืองแหมะบุหลัน ซึ่งดูตามประวัติศาสตร์หลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย) เป็นเจ้าเมืองยะลาหลังจากที่มีการยกทัพมาปราบการก่อความวุ่นวายของเจ้าเมืองปัตตานี ยะลา ไทรบุรี ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการจัดระเบียบหัวเมืองแถบนั้นก็อยู่ในช่วง พ.ศ.๒๓๘๒
พอถึง พ.ศ.๒๓๙๐ หลวงสวัสดิภักดี(ยิ้มซ้าย)กลับไปเป็นเจ้าเมืองยะหริ่ง แสดงว่าท่านสร้างเหมือง ๖ แห่งในช่วง พ.ศ.๒๓๘๒-๒๓๙๐ หลังจากนั้นเหมืองทั้ง ๖ แห่งตกเป็นสมบัติของเจ้าเมืองสงขลา จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ เมืองสงขลาเริ่มหมดอำนาจในการปกครองเมืองยะลา เมืองปัตตานี จึงมีการขออนุญาตทำเหมืองเรียกว่าขอประทานบัตร

ผู้ที่ได้ประทานบัตรเหมืองลาบูเป็นคนแซ่เหง่า แซ่เดียวกับเจ้าเมืองสงขลาและหลวงสวัสดิภักดี(ยิ่มซ้าย) เด็กหัวตลาดเพิ่งจะไปอ่านเจอชื่อของท่านในบันทึกคำอุทิศส่วนกุศลของปู่ขุนธำรงพันธุ์ภักดี(ซิมซุ่นจ่าย วัฒนายากร) ว่าท่านผู้นี้ชื่อเหง่ายี่เม่ง ภรรยาของท่านชื่อกิ้มกิ้น เรียกกันว่าโป่ลาบู
เหมืองลาบูจึงเปลี่ยนจากเป็นของเจ้าเมืองสงขลามาเป็นของเถ้าแก่เหง่ายี่เม่งและโป่ลาบู แล้วตกทอดมาถึงรุ่นลูกคือนายเหง่าไล้บู๊ หรือที่เรียกกันว่าหลงจู๊เหลี่ยง เถ้าแก่เหง่าไล้บู๊มีภรรยาชื่อเลี่ยนห้อง บ้านของท่านคือบ้านตึกจีนโบราณหัวมุมถนนอาเนาะรู ตรงข้ามบ้านรังนก กือดาจีนอ

เถ้าแก่เหง่าไล้บู๊และยายเลี่ยนห้องไม่มีลูกชาย ต่อมาจึงขายเหมืองลาบูให้กับฝรั่งก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งขอประทานบัตรในนามของบริษัทสเตรตสคอนโซลิเดเต็ดทินไมนส์จำกัด
เมื่อบริษัทฝรั่งเข้ามาก็เปลี่ยนรูปแบบการทำเหมืองแบบเดิมไปเป็นแบบอุโมงค์ โดยระเบิดภูเขาให้เป็นอุโมงค์ไปตามสายแร่ดีบุก
จนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เหมืองลาบูจึงหยุดกิจการไประยะหนึ่ง แล้วกลับมาดำเนินการแต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะหลังสงครามขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องจักร
จนกระทั่ง พ.ศ.๒๕๐๐ บริษัทธำรงวัฒนาจำกัดของปู่ขุนธำรงพันธุ์ภักดี(ซิมซุ่นจ่าย วัฒนายากร) จึงได้ซื้อกิจการเหมืองลาบูมาจากบริษัทสเตรตคอนโซลิเดเต็ดทินไมนส์จำกัด เป็นเหมืองที่มีอาญาจักรใหญ่มาก เป็นเมืองหนึ่งในป่าเลย
มีการบำรุงรักษาบังกะโลที่เป็นที่พักของฝรั่งให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เป็นที่พักของลูกหลานที่คุมเหมืองลาบู และลูกหลานที่ขึ้นไปเที่ยวตลอดมา
จนกระทั่งหมดอายุประทานบัตร เหมืองลาบูหยุดกิจการ แต่อาณาบริเวณเหมืองกลายเป็นชุมชนใหญ่

พ.ศ.๒๕๐๙ มีการประกาศให้พื้นที่ป่าลาบูและป่าถ้ำทะลุเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เหมืองลาบูจึงอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติไปด้วย


ปรับปรุงแก้ไข วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๘
Comments