top of page

พขส.๓_ญี่ปุ่น

  • รูปภาพนักเขียน: drpanthep
    drpanthep
  • 8 มิ.ย. 2566
  • ยาว 4 นาที

พขส๓_ญี่ปุ่น_๑


หลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ได้นำนักศึกษารุ่นที่ ๓ หรือ พขส.๓ เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีจุดหมายปลายทางที่ฟุกุโอกะและฮิโรชิมะ คณะที่เดินทางไปศึกษาดูงานมีอาจารย์ ๓ ท่าน นักศึกษา ๔๓ คน โดยมี ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าเป็นหัวหน้าคณะ




เราออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสายการบินไทยเที่ยวบิน TG648 วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เที่ยวบินเราดีเลย์ ๑ ชั่วโมง จาก ๐๑.๐๐ น. เป็น ๐๒.๐๐ น. เจ้าหน้าที่ของบริษัททัวร์ที่เป็นผู้ดูแลคณะนัดเราตั้งแต่ ๓ ทุ่ม วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ผมให้ลูกไปส่งถึงสุวรรณภูมิตั้งแต่ ๒ ทุ่ม เดินเล่นมองหาพรรคพวกจับกลุ่มคุยกันจน ๓ ทุ่มเจ้าหน้าที่บริษัททัวร์มาแจกพาสปอร์ตและ boarding pass ให้ หลังจากติด tag กระเป๋าเป็นสัญลักษณ์ของหมู่คณะแล้วก็ไปโหลดกระเป๋ากัน ช่วงนี้ฮือฮามากเพราะมีเพื่อนในกลุ่ม พขส.๓ คนหนึ่งเดินมามีเจ้าหน้าที่ในชุดปฏิบัติการเดินนำหน้าและประกบด้านข้าง คิดว่าพี่บัติแกไปทำความผิดอะไรจึงโดนคุมตัวมา ที่ไหนได้ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นเจ้าหน้าที่ด่านแรงงานของกรมการจัดหางานมาบริการลูกพี่ เพราะพี่บัติแกเป็นผู้อำนวยการกองของกรมนั้น

เราจึงมีเวลาเหลือเฟือไม่รู้จะทำอะไรก็ไปช็อปกระจายกันที่ร้านค้าปลอดภาษีคิงส์พาวเวอร์ ผมมีบัตรสมาชิกคิงส์พาวเวอร์ประเภทที่ลดราคาร้อยละ ๑๕ เลยมีเมรี่ หัวหน้าส่วนสารบรรณจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตอนฯผู้ที่มีใบสั่งเยอะมากเดินตามประกบ ซื้อเพลินมากผมเซ็นชื่อในสลิปจนมือหงิกเลย

จากนั้นเราไปนั่งหาอะไรรองท้องกันที่เลานจ์ของคิงส์พาวเวอร์ คืนนั้นในเลานจ์มีแต่พวกเรา พขส.๓ เกินครึ่ง นั่งกินนั่งคุยกันประมาณชั่วโมงเศษก็เริ่มขยับขยายกันไปที่ทางออกขึ้นเครื่องบิน ไปนั่งโม้กันต่อจนถึงเวลาขึ้นเครื่อง



รอเพื่อนฝูงก็ถ่ายรูปกันก่อนกับนิมิต กรมทรัพยฯ และเมรี่ ซินโครตรอน


ช็อปดิวตี้ฟรีจนกระเป๋าแฟบตั้งแต่ยังไม่ออกจากประเทศเลย


TG648 เสิร์ฟมื้อดึกเป็นแซนด์วิชแฮมชีสกับน้ำผลไม้ ผมกินแต่น้ำผลไม้แล้วเปิดภาพยนตร์เรื่อง Mama Mia ฟังเพลงของ ABBA หลับ ๆ ตื่น ๆ ไปจนเขาเปิดไฟ พนักงานเดินแจกผ้าร้อนเช็ดหน้าเช็ดตาเตรียมเสิร์ฟอาหารเช้า พนักงานต้อนรับเป็นชาวญี่ปุ่นมาถามเป็นภาษาไทยว่าจะรับอาหารเช้าเป็นอะไรดีคะ มีชุดไข่เจียวกับอะไรอีกอย่าง ผมก็ลองเลือกชุดไข่เจียว พอนำมาเสิร์ฟถึงรู้ว่าน้องเขาพยายามแปลทุกอย่างเป็นภาษาไทย ไข่เจียวของคุณเธอที่แท้คือออมเลต (Omelette) นั่นเอง หลังจากอิ่มหนำสำราญสักพักก็เดินทางถึงสนามบินฟุกุโอกะผมดันลืมหยิบแซนด์วิชติดมือลงมาด้วย ขาดทุนไปหลายบาทเลย เราใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔ ชั่วโมงครึ่ง ไปถึงฟุกุโอกะประมาณ ๐๘.๓๐ น.

กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินฟุกุโอกะค่อนข้างเข้มงวด พวกเราใช้พาสปอร์ตราชการเล่มสีน้ำเงินไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องอัตโนมัติ ต้องให้เจ้าหน้าที่แสตมป์พาสปอร์ตหลายคนโดนสุ่มถามว่าไปญี่ปุ่นทำไม พักที่ไหน แต่ผมเดินเข้าไปพร้อมกับส่งเสียงดังไปก่อนเลย Ohiyo gozaimus เจ้าหน้าที่คงรำคาญเลยไม่ถามอะไรผมสักคำ

ผ่าน ตม.ออกไปรับกระเป๋าที่สายพานลำเลียง ผมเดินออกไปสูดอากาศภายนอกอาคารอากาศไม่หนาวมากสบาย ๆ ประมาณ ๑๐ องศา ลมไม่แรง เดิมทีตั้งใจว่าถ้าหนาวก็จะเข้าไปสวมเสื้อ Heattech อีกชั้น ส่วนกางเกงผมสวมกางเกง Blocktech อยู่แล้วสะดวกดีไม่ต้องใช้เข็มขัด ผมเลยเปิดกระเป๋าเดินทางใบใหญ่เอาเสื้อโค๊ทชั้นในมาเตรียมไว้เผื่อเจอลมแรง ๆ สำหรับผู้ที่จะต้องไปเผชิญอากาศหนาวเย็นต่างประเทศแนะนำให้ไปหาซื้อเสื้อกางเกงชั้นใน Heattech ที่ Uniqlo ติดไปนะครับคุณภาพคับแก้วจริง ๆ (ผมใช้ตั้งแต่ลูกสาวผมยังไม่ได้เข้าไปเป็น Uniqlo manager candidate นะครับ)



ถ่ายกับซามูไรที่สนามบิน Fukuoka

เนื่องจากเป็นวันแรกบนดินแดนซามูไร พวกเราเดินทางด้วยรถบัสใหญ่ ๒ คัน ออกจากสนามบินฟุกุโอกะไปยังศาลเจ้ายูโทคุอินาริ(Yutoku Inari) ที่จังหวัดซากะ ทางตอนใต้ของสนามบินฟุกุโอกะไปประมาณ ๑๐๐ กม. ช่วงนี้บนเกาะคิวชิวซึ่งอยู่ตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูหนาวจึงยังเห็นบรรยากาศใบไม้เปลี่ยนสีตลอดทาง การเดินทางไกลด้วยรถบัสนี้เขาจะหยุดให้ลงไปเข้าห้องน้ำห้องส้วมทุก ๔๕-๖๐ นาที เพื่อให้พนักงานขับรถได้พักด้วย



จุดจอดรถที่เขาให้ลงไปฉี่ แต่เราต้องถ่ายรูป

เมื่อถึงที่ศาลเจ้ายูโทคุอินาริ ก็เป็นเวลาอาหารเที่ยงพอดี พวกเรากินอาหารมื้อแรกกันที่ภัตตาคารคาโตะคุยะ (Katokuya) ซึ่งเป็นภัตตาคารสไตล์ญี่ปุ่นอยู่บริเวณข้าง ๆ ศาลเจ้า อาหารมื้อแรกเป็นอาหารชุดปลาแซลม่อนย่างเกลือ ซาชิมิและเต้าหู้หม้อไฟ ไกด์เดินแจกน้ำพริกน้ำย้อยที่ขนไปจากเมืองไทย แต่สำหรับผมเมื่อมาถึงถิ่นเขาแล้วก็ต้องกินเหมือนเจ้าถิ่นไม่มีการปรุงแต่งแบบไทย ๆ อาหารมื้อนี้อร่อยถูกปากผมมาก

เมื่อกินอิ่มหมีพีมันแล้วก็เป็นการเดินชมศาลเจ้าซึ่งตั้งอยู่บนที่สูงมองเห็นเด่น ประกอบกับมีบรรยากาศของใบไม้เปลี่ยนสีทำให้สวยงามมาก ถ่ายรูปกันเพลิน ผมก็ได้แต่พยายามเก็บภาพแห่งความทรงจำด้วยกล้องของไอโฟน ๖ เอสพลัส แต่โชคดีที่บริษัททัวร์จัดให้มีช่างภาพประจำทริปนี้ด้วย ๑ คนชื่อคุณเก๋ เลยทำให้ได้รูปภาพตนเองจากกล้องคุณเก๋ ศาลเจ้ายูโทคุอินารินี้เป็นศาลเจ้าประจำตระกูลของผู้ครองเมืองซากะสร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๒๓๑ ที่นี่เป็นสถานที่ถ่ายทำละครเรื่อง “กลกิโมโน” ที่พี่เบิร์ด ธงชัยแสดงคู่กับชมพู่ อารยา



ลงจากรถหันซ้ายหันขวาจับกลุ่มย่อยถ่ายรูปกันก่อน


โทริข้างศาลเจ้า ปากทางไปร้านอาหาร


อาหารมื้อแรกอร่อยถูกปากสุด ๆ
















เดินขึ้นไปสักการะองค์เทพและเดินชมบริเวณรอบศาลเจ้ากันจนได้เวลาก็ออกเดินทางต่อ คราวนี้เดินย้อนกลับไปทางเดิมประมาณ ๘๐ กม.ก็ถึงโทสุพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต (Tosu Premium Outlet) แหล่งสินค้าดีราคาไม่แพงเหมาะสำหรับขาช็อปเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ ผมเดินดูรองเท้า Asics, Adidas, Nike ราคาถูกมากโดยเฉพาะ Adidas กำลังมีรายการลดราคาจากป้าย เพียงแต่ไม่ใช่รุ่นใหม่ล่าสุด พวกบ้าของรุ่นใหม่แบบผมเลยไม่ได้ซื้อสักคู่






ประมาณ ๔ โมงเย็นเราออกจากโทสุพรีเมี่ยมเอาท์เล็ตมุ่งหน้าไปยังโคะคุระ (Kokura) ซึ่งเป็นตอนเหนือสุดของเกาะคิวชิว อยู่ในเขตคิตะคิวชิว (Kitakyushu) จังหวัดฟุกุโอกะ ระยะทางประมาณ ๑๐๐ กม. ไปถึงก็ค่ำเกือบ ๆ ๑ ทุ่ม กินอาหารเย็นที่ร้านอาหารใกล้ ๆ โรงแรมริกะรอยัลโคะคุระ (Rihga Royal Kokura Hotel) ซึ่งเป็นที่พักของพวกเรา อาหารมื้อนี้เป็นชาบูชาบูหมูกับผัก ไกด์แจกน้ำจิ้มสุกี้ที่นำไปด้วย ผมสละสิทธิ์ขอลิ้มรสแบบญี่ปุ่น พร้อมกับเหน็บพวกที่ขอน้ำจิ้มสุกี้ว่าช่วงอยู่เมืองไทยเห็นนิยมกินอาหารญี่ปุ่น แต่พอไปญี่ปุ่นจริง ๆ กลับเรียกหาน้ำจิ้มแบบไทยตลกดี




พอเช็คอินนำสัมภาระเข้าห้องพักแล้วก็มีบางกลุ่มนัดหมายกันออกตระเวนราตรี เพราะโรงแรมอยู่ในย่านที่เป็นแหล่งรวมร้านเหล้าแบบอิซากายะ (Izakaya) คือร้านขายเหล้าแบบญี่ปุ่นที่เน้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สารพัดชนิด โดยมีกับแกล้มพวกปิ้งย่างเบา ๆ ผมเดินไปกับสาว ๆ เจอร้าน Pablo ชีสเค๊กอันเลื่องชื่อ เลยชวนสาวๆซื้อยืนกินกันหน้าร้านนั่นแหละ เดินดูบรรยากาศกันสักพักก็ชวนกันไปช็อปในร้านมัตสึโมโตะ คิโยชิ (Matsumoto Kiyoshi) ซึ่งเป็นแหล่งรวมเครื่องสำอางและสารพัดยารวมทั้งวิตามิน อาหารเสริม จับจ่ายกันจน ๔ ทุ่มครึ่งเขาปิดร้านจึงแยกย้ายกันไปพักผ่อน เป็นอันจบวันแรกบนดินแดนบูชิโด






พขส๓_ญี่ปุ่น_๒


หลังจากหลับสนิทเพราะเหนื่อยจากการเดินทาง ผมก็ตื่นตามนาฬิกาปลุกของไอโฟนที่ตั้งให้ปลุกทุกวันเวลา ๐๔.๕๐ น. รู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวเพราะมาญี่ปุ่นคราวนี้ไม่ได้สัมผัสออนเซ็น อาบน้ำอาบท่าแต่งตัวแล้วลงไปกินอาหารเช้า อาหารเช้าก็เป็นลูกผสมแบบญี่ปุ่นปนกับฝาหรั่ง กินเสร็จออกไปสูดอากาศยามเช้านอกอาคาร อากาศเย็นสบายประมาณ ๑๐ องศา ไม่มีลม โรงแรมริกะรอยัลโคคุระอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟโคคุระ รอบ ๆ เป็นอาคารพาณิชย์










เนื่องจากเราติดต่อสถานที่ที่จะไปศึกษาดูงานได้รอบ ๑๒.๓๐ น. ช่วงเช้าเราจึงเดินทางไปยังปราสาทโคะคุระ ซึ่งมีประวัติเก่าแก่ยาวนานแต่โดนทำลายลงแล้วมีการสร้างใหม่ตามแบบเดิมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ แต่โชคไม่ดีที่ช่วงนี้ตัวปราสาทปิดบูรณะซ่อมแซมเราจึงอดเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ภายใน ได้แต่เดินชมสวนรอบตัวปราสาท แต่บอกได้เลยว่าบรรยากาศงดงามสุด ๆ ชนิดที่กดชัตเตอร์กันเพลิน ถ้าเป็นกล้องฟิล์มยุคเก่าคงเสียค่าล้างฟิล์มค่าอัดรูปกันบานตะไท













กลุ่มไพลิน พขส.๓



ออกจากปราสาทโคะคุระเราเดินทางไปกินอาหารเที่ยงกันที่ภัตตาคาร SUI ชั้น ๔ โรงแรมฮิลตัน ฟุกุโอกะ มื้อนี้เป็นอาหารแบบญี่ปุ่นเช่นเคย เป็นชุดปลาย่างซีอิ๊ว มีหม้อไฟซีฟู๊ดไว้ซด หลังจากกินเสร็จมีการรวมตัวกัน ลุงเอก พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผ.อ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลเป็นตัวแทนกล่าวแสดงความยินดีกับอาจารย์วุฒิสารที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าต่ออีก ๑ สมัย




จากนั้นเดินทางไป Fukuoka City Disaster Prevention Center ประเทศญี่ปุ่นเป็นเกาะอยู่ในแนวเคลื่อนของพื้นโลกจึงเกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยมาก นอกจากนี้ความที่เป็นเกาะจึงเจอกับพายุที่มีความรุนแรงบ่อย ทุกครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติไม่ว่าจะแผ่นดินไหว พายุ ทะเลโคลน หรือไฟไหม้สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทั้งทำลายชีวิตผู้คน ทำลายทรัพย์สินเพราะมักจะเกิดขึ้นแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว จึงต้องมีการเตรียมการรองรับสถานการณ์ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชน หามาตรการรองรับเมื่อเกิดภัยพิบัติ และหามาตรการดูแลตนเองให้ปลอดภัย







อ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า


เจ้าหน้าที่ที่นำชมจุดต่าง ๆ

กลุ่มไพลิน พขส.๓

จังหวัดฟุกุโอกะจึงมีการตั้งศูนย์ป้องกันภัยพิบัติขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้เรื่องภัยธรรมชาติและไฟไหม้ เมื่อไปถึงมีเจ้าหน้าที่มาต้อนรับ การเยี่ยมชมที่นี่จะมี ๕ จุดด้วยกัน

จุดแรกเป็นห้องชมภาพยนตร์ที่เล่าข้อมูลพื้นฐานของภัยพิบัติ



จุดที่ ๒ เป็นห้องมืดจำลองสถานการณ์ไฟไหม้มีควันไฟ ให้เราเดินหาทางออกให้ได้โดยอาศัยป้ายทางออกที่มีแสงจากไฟฟ้าฉุกเฉินที่จะสว่างได้ประมาณ ๑๕ นาทีหลังไฟฟ้าดับ เขาให้จัดเป็นกลุ่มละ ๔ คนเดินต่อแถวกันเข้าไป เมื่อเดินเข้าไปจะมืดสนิทมีกลิ่นควัน จะเห็นป้ายทางออกทั้งหลอกทั้งจริง ที่หลอกคือไฟส่องสว่างจะไม่ติด เราต้องรีบหาทางออกให้ได้ พร้อมกับสูดควันเข้าปอดให้น้อยที่สุด

จุดที่ ๓ เป็นที่ฝึกการใช้ถังเคมีดับเพลิง ถังนี้จะมีน้ำหนักประมาณ ๖ กิโลกรัม บรรจุสารเคมีที่มีแรงพุ่ง ๔-๗ เมตร ฉีด ๑๕ วินาทีสารเคมีจะหมดถัง วิธีการคือฉีดไปยังจุดต้นเพลิง เขาให้จัดกลุ่ม ๔-๕ คนไปยืนหน้าจอโปรเจคเตอร์ที่ฉายภาพยนตร์พอเห็นไฟติดที่พื้น เราต้องตะโกนเป็นภาษญี่ปุ่นว่า “คาจิดะ” แปลว่าไฟไหม้ พร้อมกับปรบมือดังๆให้คนรอบข้างรู้ว่ามีไฟไหม้ แล้วใช้มือข้างที่ไม่ถนัดหิ้วถังน้ำยาเคมีขึ้นมา ใช้มือด้านถนัดดึงสลักออกแล้วจับสายหัวฉีดชี้ไปทางจุดต้นเพลิง มือที่หิ้วถังกดกระเดื่องฉีดน้ำยา ถ้าดับได้สำเร็จก็จบ แต่หากฉีดแล้วควบคุมเพลิงไม่ได้ให้ตะโกนว่า “นีเกโร” พร้อมกับปรบมือดังๆแล้วรีบวิ่งหนี






จุดที่ ๔ เป็นการเรียนรู้เรื่องของพายุ ญี่ปุ่นแบ่งระดับความแรงลมเป็น ๕ ระดับ ความเร็วลม ๑๐-๑๕ เมตร/วินาทีจัดเป็นลมแรง ความเร็วลม ๑๕-๒๐ เมตร/วินาทีเป็นลมแรงมากผู้สูงอายุไม่สามารถยืนต้านลมได้ ความเร็ว ๒๐-๒๕ เมตร/วินาที เป็นพายุขนาดอ่อนต้องยืนเกาะต้นไม้ไม่ให้ล้ม ความเร็ว ๒๕-๓๐ เมตร/วินาทีเป็นพายุขนาดแรงปานกลางต้นไม้ใหญ่จะโค่นล้ม ความเร็วตั้งแต่ ๓๐ เมตร/วินาทีจะถือว่าเป็นพายุที่มีความรุนแรงมากสามารถทำลายบ้านเรือนได้ ที่ฐานนี้เขาให้เราสวมแว่นตากันลมแล้วเข้าไปในห้องปิดประตูแน่นหนา แล้วเปิดลมเป่าเข้าหาเราทางด้านหน้า ค่อยๆเพิ่มความเร็วลมจนถึง ๓๐ เมตร/วินาที เพื่อให้จับความรู้สึกว่ามีความรุนแรงแค่ไหน พอความเร็วถึง ๒๐ เมตร/วินาทีเจ้าปลายสายยางคาดแว่นมันตีหูผมแสบไปหมดเลย

จุดที่ ๕ เป็นการเรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหว ญี่ปุ่นไม่ได้วัดความแรงของแผ่นดินไหวด้วยมาตราริกเตอร์ แต่ใช้ระดับ เริ่มจาก ๐ คือปกติ ระดับ ๑ รู้สึกสั่น ระดับ ๒ มีการไหวของวัตถุที่แขวน ไล่ไปจนถึงระดับ ๕ ถือว่าเริ่มรุนแรง คือมีการสั่นมากขึ้นข้าวของที่วางไว้มีการเคลื่อนที่ ระดับ ๕ และ ๖ แบ่งเป็นเบาและแรง ระดับ ๖ แรง นี่คือบ้านเรือนที่ทำด้วยไม้พังจากแรงสั่นสะเทือน ระดับ ๗ ถือว่าแรงที่สุดอาคารที่เป็นตึกพังทลาย ที่จุดนี้เขาให้เราไปนั่งที่โต๊ะเหล็ก พื้นมันสั่นมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงระดับ ๗ ผมลองนั่งปล่อยมือไม่เกาะโต๊ะ พอถึงระดับ ๕ นี่เริ่มจะไม่ไหว พอ ๖ นี่ต้องรีบจับโต๊ะเลย




หลังจากเข้าชมและฝึกครบทุกฐานก็เป็นการกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนต้อนรับคณะเรา ผมทำหน้าที่กล่าวคำขอบคุณเป็นภาษาอังกฤษ ลุงเอกเป็นผู้มอบของที่ระลึกจากสถาบันฯ




หลังจากนั้นเราออกเดินทางมุ่งหน้าไปยัง Kyushu University ระหว่างทางเราแวะที่ Momochi Seaside Park ซึ่งเป็นสวนสาธารณะริมทะเล ตรงข้าม Fukuoka Tower ที่นี่มีอาคารสำหรับจัดงานแต่งงานสวยงามมาก ช่วงที่เราลงไปเดินลมแรงทำให้รู้สึกหนาวแต่ดีที่สวมเสื้อเชิ๊ร์ตแขนยาวผูกเนคไทและสวมสูททับ









จากนั้นเราเดินทางต่อไปยัง Kyushu University เพื่อไปฟังการบรรยายของ รศ.Shuji Iijima เกี่ยวกับ Ethnography in peace strategy and conflict management in Japan อาจารย์อิจิม่าเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องชาติพันธุ์ เคยมีประสบการณ์ลงไปลุกคลีกับชนเผ่าพื้นเมืองของออสเตรเลีย เพื่อศึกษาถึงวิถีชีวิตและหาทางแก้ไขความขัดแย้งระหว่างชนพื้นเมืองกับคนเมือง สำหรับประสบการณ์ในญี่ปุ่นคือการเป็นคนกลางลงไปแก้ไขความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่มินามาตะ(Minamata) และโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียที่มีสารตะกั่วจนทำให้เกิดพิษของสารตะกั่วเป็นโรคมินามาตะ อาจารย์อิจิม่าปูพื้นเรื่องของชาติพันธุ์วิทยาว่าแบ่งเป็น ๒ ยุค ยุคปี ค.ศ.๑๙๒๐-๒๐๐๐ สนใจในเรื่องความแตกต่างของวัฒนธรรม เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างของเชื้อชาติ แต่หลังปี ค.ศ.๒๐๐๐ จะสนใจในเรื่องความทุกข์ยากของคนเพื่อให้เข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง การศึกษาเรื่องชาติพันธุ์วิทยาจึงดูหลายมิติทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ สังคม ตลอดจนศาสนาและวัฒนธรรม การบรรยายของอาจารย์อิจิม่ามาสนุกตอนสุดท้ายเพราะให้ทำแบบฝึกหัด โดยให้ลองตั้งคำถาม ๑๐ คำถามว่าหากเราต้องคุยกับใครสักคนที่เราไม่รู้จักเราจะถามอะไรเขาบ้าง จากนั้นให้จับคู่กันแล้วผลัดกันถามคำถาม ๑๐ ข้อนั้น จากนั้นอาจารย์ให้ลองทบทวนว่าคำถามที่โดนถามมีบางคำถามที่เราคงอึดอัดที่โดนถามแบบนั้น ขณะเดียวกันเมื่อเราถามคนอื่นเขาก็คงรู้สึกแบบเดียวกัน ให้เราลองเปลี่ยนรูปแบบคำถามให้นุ่มนวลมากขึ้น เป็นคำถามเชิงบวกมากขึ้น เรานั่งจับคู่ถามตอบกันสักพักจาก ๒ คนกลายเป็น ๔-๖ คน เพราะในคู่ใกล้ ๆ กันเกิดมีคำถามคำตอบที่น่าสนใจเลยไปรวมกลุ่มรับฟังกัน





ฟังบรรยายไปพร้อมกับหาข้อมูลจากอากู๋




เตรียมเสือกเรื่องเพื่อน

เมื่อจบการบรรยายเดินออกจากอาคารเรียนไปขึ้นรถบัสสัมผัสกับความหนาวเย็นที่สุดตั้งแต่เดินทางถึงญี่ปุ่นครั้งนี้ อุณหภูมิประมาณ ๑๒ องศา แต่เนื่องจาก Kyushu University อยู่ใกล้ทะเลจึงมีลมแรงงมากทำให้ความรู้สึกเหมือนอุณหภูมิต่ำกว่า ๑๐ องศา เราเดินทางไปกินอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ลูกผสมญี่ปุ่น-ตะวันตกที่ห้องอาหาร ARK ไกด์บอกว่ามื้อนี้มี complementary จากทางร้านเป็นเสต๊กเนื้อกับหมู ใครไม่กินเนื้อ ไม่กินหมูขอให้ยกให้เพื่อนร่วมโต๊ะ เอาเข้าจริงมันกลายเป็นเนื้อหมูกับเนื้อวัวสับผสมกันแล้วอบราดน้ำเกรวี่ คนไม่กินหมูก็กินไม่ได้ คนไม่กินเนื้อก็กินไม่ได้ อาหารมื้อนี้รสชาติธรรมดามาก








กลับถึงโรงแรมพวกเรารวมพลกันได้ ๑๕ คนทั้งชายหญิง มุ่งหน้าหาร้านเหล้าแบบอิซากายะ(Izakaya) คือเน้นเครื่องดื่มมีกับแกล้มเบาๆพวกปิ้งย่าง เดิมทีผมหาจากเน็ตเจอว่าใกล้โรงแรมมีร้านเก่าแก่บรรยากาศดี แต่เราเดินหาไม่เจอ เลยมุ่งหน้าเข้าร้านใกล้ ๆ ดื่มกินคลายเครียดกันเต็มที่มีทั้งดื่มเบียร์ ดื่มสาเกร้อน แกล้มด้วยอาหารปิ้งย่างที่รสชาติดีมาก นั่งส่งเสียงเฮกันเต็มที่แบบญี่ปุ่นไม่ต้องเกรงใจใคร ธรรมเนียมญี่ปุ่นนั้นถ้านอกเวลางานไปนั่งร้านอิซากายะจะดื่มกินส่งเสียงดังแค่ไหนก็ได้ แต่ห้ามยุ่งกับโต๊ะอื่น และห้ามเมาจนอ้วกแตกอ้วกแตนใส่ร้าน นับว่าคืนนี้พวกเราถึงญี่ปุ่นกันแล้ว จนร้านปิดเที่ยงคืนก็แยกย้ายกันกลับห้องพัก




กับแกล้มที่อร่อยที่สุดของทุกอิซากายะ

พขส๓_ญี่ปุ่น_๐๓


เมื่อคืนสรวลเสเฮฮากันพอสมควร เช้านี้ตื่นมากินอาหารเช้าแล้วออกเดินทางจากโคะคุระไปยังฮิโรชิมะใช้เวลาเดินทางด้วยรถบัสข้ามเกาะประมาณ ๓ ชั่วโมงเศษ อุณหภูมิประมาณ ๙ องศา แต่มีแดด หลับ ๆ ตื่น ๆ สักพักก็ถึงท่าเรือเฟอรี่ข้ามฟากไปเกาะมิยาจิมะซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของฮิโรชิมะ ใช้เวลาข้ามฟากประมาณ ๒๐ นาที ระหว่างทางจะเห็นฟาร์มหอยนางรมเต็มทะเล

เมื่อขึ้นไปบนเกาะก็จะเจอหมู่กวางเดินขวักไขว่ หลังจากนัดหมายเรื่องเวลาและจุดนัดพบพวกเราก็แยกย้ายกันเป็นหลายกลุ่มถ่ายรูปกันสนุกมือ เพราะทัศนียภาพสวยมากและแสงกำลังดีเนื่องจากมีแดดและไม่ร้อนมาก คุณเก๋ช่างภาพของบริษัททัวร์ไปยืนปักหลักหามุมรอไว้เลยใครเดินผ่านก็จับเข้ากล้อง

เวลา ๒-๓ ชั่วโมงบนเกาะมิยาจิมะนี่มันน้อยเกินไปจริง ๆ เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนมันก็ชวนให้เก็บภาพจริง ๆ ถึงเที่ยงนิด ๆ เราก็พร้อมกันที่ร้านยามาอิชิ(Yamamichi) ซึ่งเป็นร้านอาหารใกล้ท่าเรือเฟอรี่ เมื่อมาถึงแหล่งหอยนางรมสดอาหารมื้อเที่ยงจึงเป็นหอยนางรมชุบแป้งทอดกินกับข้าวและผักดอกเครื่องเคียง เรียบร้อยแล้วก็ออกมาเดินย่อยอาหารรอขึ้นเรือเฟอรี่ ช่วงนี้มีการเชิญชวนกันกินซอฟท์ครีม ระหว่างนั่งกินกันอย่างสบายอารมณ์เจ้ากวางตัวดีก็เดินมาฉกซอฟท์ครีมจากมือพวกเราคนหนึ่งไปกินดื้อ ๆ ชนิดที่เจ้าตัวตั้งหลักไม่ทันเลย







ฟาร์มหอยนางรม



















เมื่อเราข้ามฟากกลับไปแผ่นดินใหญ่ก็ทราบว่าลุงเอกลืมเป้สะพายหลังไว้บนเฟอรี่ที่แล่นกลับไปฝั่งโน้นแล้ว ปกติลุงเอกท่านจะเดินตัวเปล่าแต่วันนั้นไม่ทราบคิดอะไรถึงได้สะพายเป้ แล้วก็ลืมเพราะไม่เคยชิน อาจารย์วุฒิสารเลยตัดสินให้พวกเราจากบัส ๑ เดินทางไปกับบัส ๒ โดยทิ้งบัส ๑ ไว้รอรับเป้ลุงเอก เราเดินทางเข้าเมืองฮิโรชิมะ มุ่งหน้าไปยังย่านฮอนโดริ(Hondori) ซึ่งเป็นย่านที่รวมสารพัดร้านค้าเหมาะต่อการช็อปปิ้งไม่ว่าจะห้าง Parco ห้าง H&M หรือจะเป็นด็องกอโฮเตะ(Don Quixote) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อว่าด็อง หรือมัตสึโมโตะ คิโยชิ(Matsumoto Kiyoshi) ก่อนจะถึงฮอนโดริรถบัสผ่านโรงแรมเอเอ็นเอคราวน์พลาซ่า (ANA Crowne Plaza) โรงแรมที่ผมมาพักเมื่อมีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว ครั้งนั้นเดินทางไปร่วมประชุม The 3rd Asian Chapter Meeting of International Society of Peritoneal Dialysis ซึ่งเป็นเวทีวิชาการว่าด้วยการล้างไตทางช่องท้องในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย หลังจากที่ไกด์พาเดินไปถึงจุดนัดพบหลังจากช็อปปิ้ง ผมก็แยกตัวไม่ได้ช็อปปิ้ง แต่เดินย้อนกลับไปทางโรงแรมเอเอ็นเอคราวน์พลาซ่า เพื่อไปถ่ายรูปต้นซากุระยักษ์ที่รอดจากการทำลายล้างของระเบิดปรมาณูเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ครั้งก่อนที่ผมมาฮิโรชิมะกล้องถ่ายรูปผมตกเสียหายเลยไม่ได้ถ่ายรูปคราวนี้ต้องขอเก็บภาพ

หลังจากนั้นผมก็เดินกลับไปฮอนโดริ แต่ไม่รู้จะซื้ออะไร ของตามใบสั่งลูกสาวก็เหลือแค่ ๒-๓ อย่าง ที่ต้องไปซื้อที่อื่น ผมจำได้ว่าฮอนโดริมี Sex shop ตั้งใจว่าจะไปถ่ายรูปเพื่อมาเผยแพร่เป็นวิทยาทาน แต่เดินจนทั่วก็หาไม่เจอ คงจะย้ายหรืออาจจะปิดกิจการไปแล้ว



ต้นซากุระยักษ์


เมื่อถึงเวลานัดเราเดินไปกินมื้อเย็นที่ร้านซา วะตะมะ(Za Watami) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ อาหารมื้อนี้เป็นชุดสำหรับ ๔ คน มีปลาย่าง ชาบูเต้าหู้ ไก่ทอด สลัด และพิซซ่าญี่ปุ่น มื้อนี้เจริญอาหารด้วยเบียร์พรีเมี่ยมมอลท์แก้วละ ๖๐๐ เยน จากนั้นจึงเดินทางไปยังที่พัก โรงแรมออเรียนตัลฮิโรชิมะ(Oriental Hiroshima Hotel) ซึ่งอยู่บนถนนสายเดียวกับโรงแรมเอเอ็นเอคราวน์พลาซ่า ถนนหน้าโรงแรมกำลังมีการประดับไฟสวยงามมากหลังจากเช็คอินเอาสัมภาระไปเก็บผมจึงลงมาเดินฉายเดี่ยวถ่ายรูปซุ้มไฟต่างๆตั้งแต่หน้าโรงแรมออเรียนตัลฯไปจนถึงโรงแรมเอเอ็นเอฯระยะทางประมาณ ๘๐๐ เมตร เดินไปกลับ ๒ ฝั่งก็ ๑ กิโลเมตรครึ่ง ตั้งใจว่าจะหาเหล้าบ๊วย(Umeshu) ไปจิบที่ห้อง แต่เห็นมีก๊วนสาวกำลังเดินถ่ายรูปอยู่ใกล้เลยเดินไปสมทบ ได้ระยะทางในการเดินเพิ่มขึ้นอีก สุดท้ายเรากลับไปนั่งคุยกันต่อที่ล็อบบี้โรงแรมจนดึกจึงแยกย้ายกันไปพักผ่อน









พขส๓_ญี่ปุ่น_๐๔


เช้านี้ตื่นมาที่อุณหภูมิ ๘ องศา มีลมเลยรู้สึกหนาว แต่แค่สวมเสื้อแขนยาวผูกเนคไท สวมเสื้อนอกก็เอาอยู่ หลังจากกินอาหารเช้าแล้วเราออกเดินทางไป Hiroshima Peace Institute(HPI), Hiroshima City University เพื่อฟังบรรยายในหัวข้อ Security challenges and peace building in Japan โดย รศ. HA. Kyung Jin อาจารย์ฮาเป็นชาวเกาหลีที่เพิ่งเข้ามาเป็นอาจารย์ที่ HPI ได้บรรยายถึงการเปลี่ยนแปลงของฮิโรชิมะและญี่ปุ่นหลังจากโดนทำลายด้วยระเบิดปรมาณู จนถึงการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพราะญี่ปุ่นเห็นว่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพ อันที่จริงผมมีคำถามในใจแต่ไม่ได้ถามอาจารย์ฮา เพราะอาจารย์เป็นชาวเกาหลีไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นแท้ ผมคิดว่าความฝังใจมีความสำคัญในชีวิตคนเรา หากเราตัดสินใจเรื่องอะไรสักอย่างจะต้องมีปัจจัยของความฝังใจเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ในความคิดผมการที่ถูกทำลายล้างด้วยระเบิดปรมาณูน่าจะสร้างความฝังใจที่ไม่ดี ความฝังใจเชิงลบให้คนฮิโรชิมะ คนญี่ปุ่น จึงไม่น่าจะเห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แต่คำถามนี้ผมนำไปถามล่ามชาวญี่ปุ่นที่พาคณะเราส่วนหนึ่งนำชม Hiroshima Peace Memorial Museum แกบอกว่าเนื่องจากญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับไฟฟ้า และญี่ปุ่นไม่มีวัตถุดิบอื่นที่จะนำมาเป็นพลังงาน ญี่ปุ่นไม่มีแหล่งน้ำมัน ไม่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติ ไม่มีแหล่งถ่านหิน ญี่ปุ่นจึงต้องพึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยเชื่อมั่นว่าภายใต้วัฒนธรรมเคารพกฎกติกาของคนญี่ปุ่นบวกกับประสบการณ์ที่เคยเจอการทำลายล้างด้วยระเบิดปรมาณู ญี่ปุ่นจะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดอันตรายจากพลังงานนิวเคลียร์ เป็นแนวคิดน่าสนใจดี เพราะนำเอาความฝังใจด้านลบไปพลิกให้เป็นบวกจนพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้รวดเร็วมาก








หลังจบการบรรยายเราเดินทางไปยัง Hiroshima Peace Memorial Museum ซึ่งผมมีโอกาสได้มาชมเมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว เราไปถึงประมาณ ๑๑ โมง จึงเดินถ่ายรูปบริเวณสวนสันติภาพรอบ ๆ อาคารพิพิธภัณฑ์กันก่อน แล้วเข้าไปกินมื้อเที่ยงที่ร้านอาหารของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นอาหารกึ่งบุฟเฟต์ให้ตักข้าวตักซุปตักสลัดขนมปังได้ตามพอใจ แล้วจึงเสิร์ฟจานหลัก

อิ่มแล้วออกมาจับกลุ่มมีอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นมาเป็นคนนำชมสวนสันติภาพรอบๆพิพิธภัณฑ์ Masaoka san เป็นผู้ที่นำกลุ่มผม มาซาโอกะซังเป็นข้าราชการบำนาญของฮิโรชิมะ อายุ ๗๕ ปี เป็นผู้ที่ปวารณาตนเองของเป็นอาสาสมัครที่นี่เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของประวัติศาสตร์อันโหดร้ายด้วยความหวังว่าคนที่รับรู้จะช่วยกันทำให้โลกเกิดสันติภาพอย่างแท้จริง ผมถามแกว่าตอนที่ฮิโรชิมะโดนระเบิดปรมาณูครอบครัวแกเป็นอย่างไรบ้าง แกบอกว่าตัวแกอายุขวบเศษอยู่นอกบ้านไม่ได้รับอันตราย พี่สาวคนติดกันอยู่ในบ้านโดนแรงอัดของกระจกเสียชีวิต พี่สาวคนโตเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในภายหลัง ส่วนพ่อแม่ปลอดภัย เมื่อถามว่าแกได้รับผลอะไรต่อสุขภาพบ้าง แกบอกว่าแกรู้สึกว่าร่างกายแกไม่เต็มร้อยแต่บอกไม่ถูกว่าเป็นอะไร

มาซาโอกะซังบอกว่าที่ตำแหน่งตรงนี้คือตำแหน่งที่ลูกระเบิด Little boy ถูกหย่อนลงมา และระเบิดเหนือพื้นดินประมาณ ๖๐๐ เมตร จุดที่ระเบิดทำงานเรียกว่า Hypocenter เราเดินชมจนทั่วบริเวณสวนสันติภาพก็ล่ำลาขอบคุณมาซาโอกะซัง แล้วเราก็เข้าไปชมภายในตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ น่าเสียดายที่จากเดิมอาคารแสดง ๒ หลัง ช่วงนี้เขาปิดปรับปรุง ๑ อาคาร และนำสิ่งแสดงบางส่วนไปแสดงในอาคาร ๑ แต่นำไปไม่หมด สิ่งแสดงที่เคยเรียกน้ำตาผมคือผิวหนังของคนที่โดนความร้อนจากระเบิด และกระจุกผมของเด็กที่เสียชีวิตแล้วพ่อแม่ตัดเก็บไว้เป็นที่ระลึกไม่ได้ถูกนำมาจัดแสดง แต่จากภาพและสิ่งแสดงอื่น ๆ ก็ทำให้เศร้าใจเมื่อคิดถึงความโหดร้ายของพวกบ้าสงครามที่ตัดสินใจทำลายล้างผู้คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยเลยหลายแสนคน มีคนญี่ปุ่นหลายคนเดินชมไปก็สะอึกสะอื้นไป ผมเข้าใจว่าคำบรรยายภาษาญี่ปุ่นน่าจะแสดงความรู้สึกได้ดีกว่าภาษาอังกฤษ เห็นแล้วยิ่งทำให้น้ำตาผมซึมออกมาไม่รู้ตัว
















ต่อจากนั้นเราเดินทางไปยังชิโมโนเซกิ(Shimonoseki) ซึ่งเป็นตอนล่างสุดของเกาะฮอนชิว(Honshu) ตรงข้ามกับคิตะคิวชิว(Kitakyushu)ของเกาะคิวชิว(Kyushu) เดินทางไปประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร ระหว่างทางแวะจุดพักรถอากาศภายนอกหนาวดีเพราะเริ่มมืดมีคนซื้อเบียร์กระป๋องมาแจกดื่มเพิ่มอุณหภูมิในร่างกาย จิบไปจนเกือบหมดกระป๋องผมก็อ่านข้างกระป๋อง อ้าว! นี่มันเบียร์อาซาฮี ดรายซีโร่ (Asahi Dry Zero) มันแอลกอฮอล์ ๐ เปอร์เซ็นต์ คือเป็นเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์แต่รสชาติมันใช่เลย เลยเฮกันลั่นท้ายรถบัส ๑ เพราะมีคนบอกว่ากำลังจะเมาแล้วถ้าผมไม่ทักขึ้นมา มีข้อสรุปว่าการดื่มแล้วเมามันอยู่ที่บรรยากาศไม่ใช่เพราะแอลกอฮอล์




มื้อเย็นเรากินอาหารประเภทบุฟเฟต์ปิ้งย่างที่ร้านเอโดะอิจิ (Edo-Ichi) ที่มีทั้งหมูและเนื้อวัวแบบต่างๆ ผัก ซูชิ ซุปต่าง ๆ อิ่มแล้วเดินทางไปที่พักคือโรงแรม Smile Shimonoseki วุ่นวายพอสมควรเพราะเป็นโรงแรมที่รถบัสเข้าไม่ถึง เราต้องลงจากรถบัสรับกุญแจห้องพักแล้วลากกระเป๋าสัมภาระไปประมาณ ๑๕๐ เมตร ไปถึงต้องรอลิฟท์ที่มีตัวเดียวเป็นลิฟท์ขนาดเล็กเข้าไปได้พร้อมกระเป๋าลูกใหญ่ได้ครั้งละไม่เกิน ๕ คน ในขณะที่คณะเรามีกันเกือบ ๕๐ คน ระหว่างรอลิฟท์ผมก็สำรวจพื้นที่สำหรับนั่งทำกิจกรรมกลุ่มกันต่อไป ติดกับทางขึ้นโรงแรมมีอยู่ ๒-๓ ร้าน พอเอาสัมภาระเก็บในห้องได้เราก็รวมตัวกันไปนั่งทำกิจกรรมกลุ่มวิจัยสาเกและเบียร์ญี่ปุ่นกันจนเที่ยงคืนร้านปิดก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน




ก๊วนนี้เมากันทุกคืน

พขส๓_ญี่ปุ่น_๐๕


ตื่นเช้าวันนี้อุณหภูมิประมาณ ๑๐ องศา ไม่มีลมจึงไม่หนาวมาก กินอาหารเช้าที่โรงแรมแล้วออกมาเดินเล่นสูดอากาศยามเช้าได้สบาย ๆ โดยสวมเสื้อยืดแขนยาวชั้นเดียว เช้าถึงได้เห็นว่าถนนหน้าโรงแรมมันเป็นถนนแคบ ๆ และมีช่องทางจักรยาน ๑ ช่องทาง ไม่อนุญาตให้รถจอดริมถนน เช้านี้พวกเราเอาสัมภาระมากองไว้ที่หน้าลิฟท์ชั้น ๑ เพราะล็อบบี้โรงแรมอยู่ชั้น ๔ ได้เวลาก็เข็นกระเป๋าสัมภาระไปขึ้นรถบัส เช้านี้เราจะเดินทางข้ามสะพานคันมง(Kanmon Bridge) กลับไปที่เกาะคิวชิวเพื่อไปที่ศาลเจ้าดาไซฟุ เท็นมันกุ(Dazaifu Tenmangu Shrine) ระหว่างทางเราแวะจุดพักรถที่โคกะ(Koga) ที่นี่มีห้องน้ำที่แปลกกว่าที่อื่นคือมีจอบอกว่าห้องส้วมเป็นแบบนั่งยอง หรือโถนั่ง หรือเป็นห้องที่มีที่เปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และมีไฟสีบอกว่าห้องว่างหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีร้านขายของฝากใหญ่มาก พวกเราใช้เวลาซื้อสารพัดขนมของฝากกันที่นี่ ผมก็ได้ขนมตามใบสั่งลูกที่นี่ ๒-๓ อย่าง จากนั้นก็เดินทางกันต่อ


















ศาลเจ้าดาไซฟุ เท็นมันกุ(Dazaifu Tenmangu Shrine) เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงด้านการเล่าเรียน มีรูปหล่อวัวอยู่ด้านหน้าว่ากันว่าใครได้ไปลูบที่วัวจะมีโชคด้านการเรียน หลายปีก่อนผมเคยมาลูบไปครั้งหนึ่ง ได้ผลจริง ๆ จนป่านนี้ผมยังไม่เลิกเรียนเลย จากลานจอดรถไปยังตัวศาลเจ้าทั้ง ๒ ฝั่งถนนเต็มไปด้วยร้านขายขนมและของฝาก ขนมที่มีชื่อของที่นี่คือโมจิย่าง ผมเดินผ่านร้านพวกนี้ไปยังศาลเจ้าก่อนเพราะแดดกำลังดีน่าจะได้รูปสวย ๆ ไปถึงรูปหล่อวัวมีคิวทัวร์จีนยืนต่อแถวรอไปลูบวัวกันยาว ในตัวอาการศาลเจ้ามีพิธีชิชิโกซัน(Shichi-Go-San) ซึ่งเป็นพิธีทางศาสนาชินโตเกี่ยวกับการทำขวัญเด็กที่มีอายุ ๗(Shichi), ๕(Go) และ ๓(San) ปี จึงเห็นเด็กน้อยแต่งกายในชุดประจำชาติญี่ปุ่นน่ารักมาก ผมเดินถ่ายรูปได้สักพักก็เดินกลับไปชิมโมจิย่างหน้าศาลเจ้าพร้อมกับดูนักช็อปทั้งหลายซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า ที่นี่มีร้านสตาร์บั๊คส์แต่งหน้าร้านสวยงามดี
















ออกจากศาลเจ้าดาไซฟุ เท็นมันกุ เราไปกินมื้อเที่ยงที่ร้านฟูโยะ(Fuyo) อาหารมื้อนี้เป็นชุดเบนโตะมีสุกียากี้ร้อน ๆ ให้ซด

หลังจากอิ่มหมีพีมันกันแล้วก็เป็นช่วงเวลาสำหรับขาช็อปทั้งหลาย เราไปที่ย่าน Canal City ซึ่งเป็นศูนย์รวมห้างที่มีสินตั้งแต่ขนมไปจนเสื้อผ้ารองเท้าและข้าวของใช้สารพัด ผมมีเป้าหมายที่จะซื้อคือรองเท้า เนื่องจากผมเป็นคนที่เดินออกกำลังกายทุกเช้าจึงมีความพิศวาสรองเท้าที่พื้นนุ่มเป็นพิเศษ เดินดูหลายยี่ห้อหลายรุ่นยังไม่เจอที่โดนใจ จนเกือบจะเดินกลับไปหากาแฟกินใกล้ๆจุดนัดพบ เหลือบไปเห็นร้าน Sketchers หลบมุมอยู่ด้านใน เดินไปดูโดนใจมากมีรองเท้าที่เป็นรุ่นใหม่ยังไม่มีขายที่บ้านเรา ๒-๓ รุ่น เลยคว้า Sketcher GoWalk Evolution Ultra มาในราคา ๘,๕๐๐ เยน ก็ตกประมาณ ๒,๕๐๐ บาท สบายใจไป ก่อนจะขึ้นรถหลวมตัวซื้อกระติกสตาร์บั๊คส์รุ่น Japan Geography Series มีคำว่า Fukuoka เป็นตัวนูนมาในราคา ๔,๕๐๐ เยน สบายกระเป๋าไป












ออกจาก Canal City ไกด์พาเราไปยังแหล่งช็อปปิ้งอีกแห่งของฟุกุโอกะคือย่านเทนจิน (Tenjin) ย่านนี้มีห้างทั้งสินค้าแบรนด์เนมไปจนสิ้นค้าพื้นเมือง มีร้านค้าอยู่ชั้นใต้ดินเป็นแนวยาวไปตามเส้นทางรถใต้ดิน สำหรับผมสินค้าย่านนี้ไม่น่าสนใจเท่าย่าน Canal City ผมเดินหาซื้อเครื่องสำอาง Clinique และ Laneige ตามใบสั่งจนเมื่อยหาไม่ได้เลย




ช่วงที่รอพรรคพวกมาขึ้นรถกัน อุ้มรุ่นน้องในกลุ่มไพลินไลน์คอลล์มาให้ผมช่วยดูตรงที่นั่งเธอว่ามีกระเป๋าหล่นอยู่มั๊ย ได้ความว่ากระเป๋าถือหายในนั้นมีครบทั้งเงิน พาสปอร์ต บัตรเครดิต บัตรประชาชน ใบขับขี่ ผมหาดูจนทั่วไม่เจอเลยแจ้งคุณออ ไกด์ประจำรถ เลยเป็นเรื่องใหญ่ ตกลงแก้ปัญหาด้วยการให้ไกด์คนหนึ่งไปกับอุ้มย้อนไปตามเส้นทางเดิน อุ้มจำได้ว่าหยิบกระเป๋าครั้งสุดท้ายตอนจ่ายค่ากาแฟที่ Canal City เลยให้อุ้มนั่งรถแท็กซี่ไปกับไกด์ ส่วนพวกเราที่เหลือเดินทางไปยังร้านอาหารยามาดะ (Yamada) อาหารเย็นเป็นสไตล์ชาบูกะหล่ำปลีกับหมูและเนื้อวัวกินกับข้าวสวย ระหว่างนี้ก็ได้ข่าวจากทางอุ้มว่าไปตามที่ Information center ของห้างใน Canal City แล้วไม่มีใครนำกระเป๋ามาฝากไว้ พอกินอาหารเสร็จเราก็จัดให้พวกเรา ๕ คน ขึ้นไปสำรวจบนรถบัสอย่างละเอียดอีกรอบเผื่อจะเจอกระเป่าตกหล่นอยู่ แต่ก็ไม่เจอ ความยุ่งยากจึงเกิดขึ้นเพราะพรุ่งนี้เราจะเดินทางกลับแต่อุ้มไม่มีพาสปอร์ต และขณะนี้เป็นนอกเวลาทำการของสถานกงสุลวันพรุ่งนี้ก็เป็นวันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ อุ้มจะต้องอยู่รอดำเนินการขอใบแทนพาสปอร์ตในวันจันทร์ ยุ่งยากมากเพราะอุ้มพูดญี่ปุ่นไม่ได้จะต้องให้ไกด์อยู่กับอุ้ม ๑ คน หมายความว่าต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าเดินทางไปติดต่อเรื่องเอกสาร ค่าที่พัก ตลอดจนต้องดำเนินการเรื่องเลื่อนเที่ยวบิน อาจารย์วุฒิสารจึงติดต่อผู้ใหญ่ทางกระทรวงการต่างประเทศให้ช่วยประสานสถานกงสุลไทยประจำฟุกุโอกะซึ่งก็เพิ่งเปิดทำการได้ไม่นาน ในที่สุดทางสถานกงสุลได้อำนวยความสะดวกให้เป็นกรณีพิเศษโดยนัดหมายให้ไปเจอที่สถานกงสุลพรุ่งนี้เช้า ๗ โมง เพื่อออกเอกสารใบแทนพาสปอร์ตให้แล้วอุ้มต้องนั่งรถแท็กซี่ตามไปเจอคณะที่สนามบินฟุกุโอกะเลย ส่วนคืนนี้อุ้มต้องไปดำเนินการแจ้งความ และไปถ่ายรูปแล้วค่อยตามไปโรงแรม ส่วนพวกเราก็เดินทางไปยังที่พักคือโรงแรมเอแซด คิตะคิวชิว วะตะมัตสึ(AZ Kitakyushu Watamatsu)




เนื่องจากคืนนี้เป็นคืนส่งท้ายอำลาแดนปลาดิบ บางคนจึงยังคงอาลัยอาวรณ์ แต่โรงแรมที่พักอยู่ในย่านนอกเมืองไม่มีร้านรวงอะไรเลย เงียบสนิท ยังดีที่ข้างโรงแรมมีร้านพวกปิ้งย่างอยู่ ๑ ร้าน ร้านสไตล์อาหารตามสั่งหลากหลาย ๑ ร้าน พวกเรา ๑๒ คนจึงเลือกนั่งทำกิจกรรมกลุ่มกันที่ร้านตามสั่ง นั่งกันจนเที่ยงคืนจึงแยกย้ายกันไปพักผ่อนเตรียมเดินทางกลับวันพรุ่งนี้



จีบนิ้วจิบสาเกกัน

พขส๓_ญี่ปุ่น_๐๖


เช้านี้ตื่นมาพบกับอากาศชนบทที่สดชื่นอุณหภูมิประมาณ ๑๐ องศา กินอาหารเช้าแล้วก็ขนสัมภาระขึ้นรถบัสเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย เราเดินทางจากโรงแรมประมาณ ๑ ชั่วโมงนิด ๆ ก็ถึงสนามบินฟุกุโอกะ ที่สนามบินนี้ค่อนข้างจะวุ่นวายพอสมควร สัมภาระที่จะโหลดเข้าใต้ท้องเครื่องบินทุกชิ้นต้องผ่านการแสกนของเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะไปให้สายการบินโหลดได้ ทั้งสนามบินมีเครื่องแสกนเพียง ๒ เครื่องเราต้องเข้าแถวรอคิวนานประมาณชั่วโมงเศษจึงจะถึงแถวกลุ่มเรา ปรากฏว่าระหว่างที่เราเดินเข้าแถวไปก็มีทัวร์จีนมาตั้งแถวคู่ขนานไปกับแถวพวกเราแล้วก็พยายามจะแทรกคิวกลุ่มเรา เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นที่เป็นผู้หญิงก็จะให้พวกเราตัดตอนเว้นช่วงให้แถวโน้นสลับเข้ามา เราก็ไม่ยอมเพราะเรายืนรอกันเป็นชั่วโมงแล้ว และเหลือเวลาอีกไม่ถึงชั่วโมงเที่ยวบินเราก็จะออกเดินทาง พี่ไทยเลยดันหลังกลุ่มกันเองติด ๆ ไม่เว้นช่องให้ใครแทรกเข้ามาได้ จนไกด์ต้องมาเจรจาชี้แจงเจ้าหน้าที่ พอผ่านเครื่องแสกนได้ก็เป็นช่วงลุ้นระทึกกับการโหลดสัมภาระที่มีน้ำหนักเกินของขาช็อปอย่างพี่ทิพคุณแม่ 4G พยาบาลจาก รพ.พุทธโสธร ฉะเชิงเทรา หรือหนูรี่ เมรีขี้เมาจากองค์กรแสงซินโครตอน เพราะไกด์บอกว่าสายการบินจะไม่ยอมให้แชร์น้ำหนักทั้งกลุ่ม ต้องพยายามจับคู่กันเอง ๒-๓ คน ไอ้ที่จับคู่กันไว้เดิมมันโดนแยกตอนแย่งคิวผ่านเครื่องแสกน ผมเป็นพวกสัมภาระไม่ถึง ๒๐ กก. เขาให้คนละ ๓๐ กก. ผมยังเป็นบัตรเงินการบินไทยได้เพิ่มอีก ๑๐ กก. พยายามหาคนมาแชร์เลยจับเมรี่มาแชร์ผ่านไปได้ฉลุย ก็ไปเข้าคุยตรวจคนเข้าเมืองขาออกช่วงนี้ไม่มากพิธีการเพราะญี่ปุ่นคงเบื่อเราเต็มทีแล้วรีบ ๆ ออกไปเลย เหลือเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง เหมือนเป็นนาทีทองเพราะผ่าน ตม.ออกมาเราก็เจอร้านปลอดภาษีดักรออยู่แล้ว ผมก็รีบไปหาซื้อขนมของฝากเที่ยวนี้ตัดใจว่าจะไม่ซื้อ Royce แล้วแต่ก็อดไม่ได้เผลอเข้าไปหยิบมันฝรั่งเคลือบช็อคโกแลตติดมา ๑ กล่อง คิวจ่ายเงินยาวเหยียดมีช่องแคชเชียร์ประมาณ ๖ ช่อง มีลุงแก่ ๆ คนหนึ่งคอยยืนอำนวยความสะดวกเรียกให้เข้าช่องที่ว่าง คิวยาวแต่ใช้เวลาแป๊บเดียวเอง อืม! การจ่ายเงินนี่มันง่ายดายจริงๆนะ





คนญี่ปุ่นเขาจะโกยขี้หมา ไม่ทิ้งไว้ข้างถนนหรือหน้าบ้านคนอื่น





จากนั้นเราก็หอบหิ้วสัมภาระของฝากไปรอเรียกขึ้นเครื่องทันเวลาพอดี รอประมาณ ๑๕-๒๐ นาทีก็ได้ขึ้นเครื่องการบินไทยเที่ยวบิน TG649 เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมาณเกือบๆ ๔ โมงเย็น เครื่องไม่ได้เข้างวงเราต้องนั่งรถบัสมาเข้าอาคาร ก็ดีไปเพราะรถจอดในจุดที่เดินนิดเดียวก็ถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองรอรับสัมภาระ จบสิ้นการเดินทางไปศึกษาดูงานของนักศึกษา พขส.๓ แบบทุลักทุเลทัวร์

มีเบื้องหลังของทุลักทุเลทัวร์ที่เราต้องนั่งรถบัสแทนที่จะได้นั่งชินกันเซ็น ต้องพักโรงแรมเล็ก ๆ ห้องแคบ ๆ เพราะเกิดความผิดพลาดของฝ่ายจัดการของสถาบันพระปกเกล้า เนื่องจากการเดินทางไปต่างประเทศจะแบ่งการจัดการเรื่องซื้อตั๋วเครื่องบินกับการจัดการเรื่องเดินทางที่พักและอาหารการกินในญี่ปุ่นออกจากกัน ตั๋วเครื่องบินสถาบันฯเป็นผู้ติดต่อขอซื้อจากการบินไทยเอง ส่วนเรื่องภายในประเทศญี่ปุ่นเปิดประมูลหาบริษัททัวร์มาดำเนินการ ได้บริษัททัวร์มาภายใต้กรอบว่าเดินทางไปพักที่ญี่ปุ่น ๔ คืน แต่ทางสถาบันเกิดซื้อตั๋วเที่ยวกลับไม่ได้ต้องขยายไปอีก ๑ วัน เมื่อเพิ่มวันอยู่ในญี่ปุ่นจึงต้องขอให้บริษัททัวร์จัดการใหม่ให้ลงตัวภายในวงเงินที่ประมูลได้ตามเดิม พวกเราเลยถูกลดสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างลง นี่เป็นครั้งแรกของผมที่ไปญี่ปุ่นแล้วไม่ได้ลงออนเซ็น

Comments


เว็บไซต์นี้จัดทำเพื่อรวบรวมรายชื่อทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ตันเตียงสิ่น)ทุกสายสกุล และมีเรื่องราวต่าง ๆ ของตระกูลและท้องถิ่น รวมถึงนานาสรรพสาระต่าง ๆ

bottom of page