top of page

ไปพูดเรื่องหัวใจที่เมืองอิเหนา

  • รูปภาพนักเขียน: drpanthep
    drpanthep
  • 18 พ.ย. 2566
  • ยาว 4 นาที

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ผมมีโอกาสได้ไปเป็น speaker ในการประชุม Regional Forum on Universal Health Coverage in SHIFT Country Program ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดโดย Australian Federation of AIDS Organization (AFAO) และ Indonesia AIDS Coalition (IAC) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องระบบบริการสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ โดยเขาให้ผมมาพูดเล่าถึงกระบวนการที่ประเทศไทยสามารถบรรจุการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ด้วยยาต้านไวรัสเข้าในระบบหลักประกันสุขภาพ อินโดนีเซียกำลังก้าวเข้าสู่ Badan Penyelenggara Jaminan Sosial หรือ BPJS คือระบบหลักประกันสุขภาพ จึงพยายามแกะรอยประเทศไทยที่เป็นประเทศแรก ๆ ครั้งนั้นผมไปพูดเรื่อง HIV


เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๖๒ ผมได้รับหนังสือจาก Indonesia Society of Interventional Cardiology (ISIC) เชิญไปเป็นวิทยากรการประชุม The 11th Indonesian Society of Interventional Cardiology Annual Meeting -Indonesia Live (11th ISICAM-InaLIVE) ในหัวข้อสัมมนาเรื่อง Cardiology Intervention in BPJS Era คือการรักษาโรคหัวใจด้วยการทำปฏิบัติการผ่านสายสวนในระบบหลักประกันสุขภาพของอินโดนีเซียช่วงเดือนพฤศจิกายน เขากำหนดให้ผมพูดเกี่ยวกับ Universal health Coverage in Cardiovascular Intervention in Thailand Experience คือประสบการณ์ในการจัดระบบบริการรักษาโรคหัวใจด้วยการฉีดสีผ่านสายสวนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีคุณภาพ งงเหมือนกันว่าทางอินโดฯ รู้ได้อย่างไรว่าผมเป็นคนเริ่มเรื่องนี้ พอผมตอบรับไปทางโน้นก็มีเมล์มาว่าขอให้ผมพูดเพิ่มอีกรายการในหัวข้อสัมมนาเรื่อง Cardiovascular Surgery in Universal Health Coverage : Opportunity and Dilemma หรือโอกาสและความลำบากของการจัดระบบการผ่าตัดหัวใจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยให้ผมพูดเกี่ยวกับ Cardiovascular Surgery Covered by UHC in Thailand เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดระบบบริการผ่าตัดหัวใจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


ทางผู้จัดให้ผมเลือกว่าจะเดินทางเที่ยวบินไหน ผมเลือกที่จะเดินทางด้วยการบินไทยเพื่อเปรียบเทียบกับสายการบินการูด้าของอินโดฯที่ผมใช้บริการครั้งที่แล้ว เที่ยวไปเดินทางวันที่ ๒๗ พ.ย.เที่ยวบิน TG433 ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเวลา ๐๘.๒๐ น. เขายืนยันว่าผมสามารถเดินทางไปสนามบินทันเวลาหากผมจะกลับหลังจากที่พูดเสร็จ ผมเลยเลือกกลับวันที่ ๒๘ พ.ย.เที่ยวบิน TG436 ออกจากจาการ์ต้าเวลา ๑๙.๐๕ น. เขาซื้อตั๋วมาจากทางอินโดฯแล้วส่ง E-ticket มาพร้อมกับบอกว่าไปถึงจะมีคนจากโรงแรมแชงกรีล่า จาการ์ต้าในชุดเสื้อบาติกสีแดงมารอรับ และขอให้ผมส่งขนาดรอบคอเพราะเขาจะมอบเสื้อบาติกให้วิทยากรผมมัวยุ่งกับงานจนมาทำสไลด์สำหรับนำเสนอก่อนเดินทาง ๒-๓ วัน เสร็จแล้วก็ซ้อมนำเสนอให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานนี้ช่วยกัน comment ปรับแก้ พร้อมกับไปซื้อประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ ขอเปิด roaming โทรศัพท์


ถึงวันเดินทางผมตื่นตั้งแต่ตี ๓ ครึ่ง อาบน้ำแต่งตัวเรียก Line Taxi ออกจากบ้าน ๐๔.๒๐ น.ไปสนามบินสุวรรณภูมิเพราะไม่แน่ใจว่าช่วงนี้ ต.ม.จะแน่นหรือเปล่า ไปถึงเกือบตี ๕ เช็คอินแล้วแลกเงินติดกระเป๋าไป ๕๐ ดอลลาร์สหรัฐ กับอีก ๓๐๐,๐๐๐ รูเปี๊ยสเผื่อฉุกเฉิน จ่ายไป ๒,๕๖๓ บาทเป็นของเงินรูเปี๊ยส ๑,๐๓๒ บาท ผ่านเข้าไปด้านใน ต.ม.ไม่มีคนเลย มีเวลาเหลือเฟือผมเลยไปปักหลักที่ King Power space ฝั่งตะวันตก เพราะใกล้ทางออก Gate D6 ๐๗.๒๐ น.เขาเปิดให้เข้า gate พอ ๐๗.๕๐ น.ก็ขึ้นเครื่องวันนี้เป็น Airbus330-300 เริ่มออกจากหลุมจอดประมาณ ๐๘.๒๐ น. ผมก็เปิดเพลงฟังหลับเอาแรงไปประมาณ ๑ ชั่วโมงกินอาหารเช้าเอาแรงมีข้าวแกงเขียวหวานลูกชิ้นกับบะหมี่ไก่อบผมเลือกกินบะหมี่ อิ่มแล้วหลับเอาแรงต่ออีกนิดจนถึงสนามบิน Sukarnoe-Hatta จาการ์ต้าประมาณ ๑๑.๓๐ น.


ลงเครื่องเปิด roaming โทรศัพท์ ใช้เวลาไม่นานก็ผ่าน ต.ม.อินโดฯ ของผมสบายหน่อยเขาเห็นข้อมูลว่าเคยมาเมื่อปีที่แล้วก็พลิกหาตราประทับเก่าพอเจอก็ไม่ถามอะไรประทับตราใหม่ให้ผ่านแบบง่ายดาย ออกไปเจอพนักงานโรงแรมแชงกรีล่า จาการ์ต้าในชุดเสื้อบาติกสีแดงยืนชูป้ายโรงแรม เข้าไปแสดงตัวกับแกแล้วแกบอกว่าจะให้นั่งแท๊กซี่ไปโรงแรมเลย ไม่ต้องรอคนอื่นเจ้าหน้าที่ของ Silver Bird ก็พาผมไปขึ้นแท๊กซี่รถแท๊กซี่นี่ทำให้คิดถึงเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้วที่รถแท๊กซี่ปัตตานี-หาดใหญ่จะเป็นเบนซ์หางปลา แต่คราวนี้เป็น E200 โชเฟอร์แกเป็นคนอัธยาศัยดีชวนคุยตลอด ดูป้ายชื่อแกชื่อ Nirwanto ผมแปลงเป็นภาษาไทยตามหลักสันสกฤตว่า นิรวันท์ ผู้ที่ไม่ค้อมหัวให้ใคร บอกแกว่าผมพอจะรู้บาฮาซาอินโดนีเซียบางคำเพราะผมเป็นคนปัตตานีที่ชาวบ้านส่วนใหญ่พูดมลายู แกยิ่งคุยแต่พอผมถามแกมากเข้าแกบอกว่าแกพูดภาษาอังกฤษได้แค่นี้ ฮิ ๆๆ ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๕๐ นาที ฝ่าการจราจรที่ไม่ติดมากนัก เพราะเป็นช่วงเที่ยงแล้ว


เช็คอินที่โรงแรมแล้วก็นอนงีบไปพักใหญ่ตื่นมาตอนเย็นอาบน้ำแต่งตัวลงไปเดินสำรวจรอบ ๆ โรงแรม บรรยากาศไม่น่าเดินเลย หลังโรงแรมเป็นเหมือนชุมชนมีร้านอาหารแบบตลาดเป็นแถวแต่ดูแล้วไม่เหมาะที่จะเดินเข้าไป บริเวณรอบโรงแรมไม่ใช่ย่านการค้าไม่มีช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ล้วนแล้วแต่เป็นอาคารสำนักงานสูง ๆ ที่สำคัญคือหน้าอาคารเต็มไปด้วย รปภ.ท่าทางน่าเกรงขามมีเครื่องแสกนทั้งแบบประตูแบบมือถือเดินครบรอบแล้วตัดสินใจกลับเข้าโรงแรมดีกว่า ที่โรงแรมแชงกรีล่า จาการ์ต้านี่มี ๒ ด่าน คือด้านนอกเป็นด่านตรวจรถยนต์ที่ผ่านเข้าโรงแรมและคนที่เดิน รถยนต์ต้องเปิดท้ายให้ตรวจมี รปภ.จูงสุนัขดมกลิ่น รปภ.อีกคนนำเครื่องมือบางอย่างเข้ามาในรถเข้าใจว่าคงจับความร้อนหรือรังสีอะไรนี่แหละ ส่วนคนที่เดินก็ต้องผ่านเครื่องแสกน เมื่อเข้าไปด้านในก่อนเข้าอาคารจะมีเครื่องแสกนอีกเครื่อง ต้องนำทุกอย่างในตัวมาใส่ถาดก่อนผ่านเครื่องแสกนเหมือนเวลาผ่านเข้าสนามบิน ผมหยุดดูเจ้าสุนัขดมกลิ่น รปภ.ค่อนข้างเป็นมิตรยิ้มแย้มพูดคุยด้วยดี สิ่งที่ผมถามแกคือเป็นมุสลิมหรือเปล่าแกบอกว่าใช่ ผมขออนุญาตถ่ายรูปแกกับหมาแกก็ยิ้มบอกกับผมว่าแกยังไม่รู้เลยว่าผมมาจากไหน ผมเลยเล่าให้แกฟังว่าผมเป็นคนปัตตานีซึ่งอยู่ตอนใต้ของประเทศไทยพอได้ยินคำว่าไทยแลนด์เท่านั้นแหละแกยิ้มใหญ่แล้วบอกว่าถ่ายได้เลย ผมเลยชวนคุยต่อว่าที่ปัตตานีเป็นคนมุสลิมมากกว่าร้อยละ ๘๐ ที่นั่นมุสลิมห้ามโดนสุนัข เพราะถ้าโดนน้ำลายสุนัขต้องล้างด้วยน้ำ ๗ ครั้ง แกหัวเราะแล้วไม่พูดอะไรต่อ ซึ่งผมคุยกับ Mr.Praditya Virza เลขานุการของ ISIC แกบอกว่าศาสนาอิสลามกำหนดไว้ตามนั้น แต่ที่อินโดนีเซียไม่เคร่งเรื่องนี้จึงเห็นคนเดินจูงสุนัข เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมประจำถิ่น


ผมกลับเข้าห้องนั่งอ่านสิ่งที่จะต้องพูดในวันพรุ่งนี้แล้วก็จัดการเข้าเว็บไซต์การบินไทยเพื่อเช็คอิน แต่ปรากฎว่าทำอย่างไรก็จัดการไม่ได้มันฟ้องว่าท่านไม่สามารถดำเนินการได้ต้องไปเช็คอินที่สนามบินในขณะที่สถานะของผมเป็นรอที่นั่ง ยุ่งละสิเพราะพรุ่งนี้ผมจะพูดรายการสุดท้ายเสร็จบ่าย ๓ โมง แล้วต้องรีบฝ่าการจราจรที่ติดแสนสาหัสไปเช็คอินให้ทันก่อน ๖ โมงแล้วรีบผ่าน ต.ม.เข้าไปรอขึ้นเครื่องอย่างจวนเจียนเต็มทีผมพยายามนึกว่าผมจะขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้างคนแรกที่คิดถึงคือฝน ฐนิดา ขับกล่อมส่ง รุ่นน้องสาธิตรูสะมิแล พนักงานต้อนรับผู้โดยสารวีไอพีของการบินไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิที่ผมเจอในเฟซทุกวัน ส่งข้อความไปทักแต่ฝนไม่ได้อ่าน คนต่อไปที่ผมคิดถึงคือปุก ปุริม คณานุรักษ์ ญาติผู้น้องของผมที่ early retire จากการเป็นครูสอนการโหลดน้ำหนักของการบินไทยและมีภรรยาเป็นพนักงานการบินไทยเช่นกัน ปุกบอกว่าตรวจสอบแล้วเกิดจากการที่ทางสำนักงานการบินไทยจาการ์ต้าบล๊อกการเช็คอินทางอินเตอร์เน็ตเนื่องจากมีผู้โดยสารมาด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ ให้ผมกดเช็คอินไปเรื่อย ๆ ส่วนปุกจะพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่การบินไทยที่จาการ์ต้า ผมนั่งกดเช็คอินจน Amadeus ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบตั๋วและการเช็คอินให้การบินไทยมันบล๊อกผมเนื่องจากเข้าใจว่าผมเป็น robot ที่เข้าโจมตีเว็บไซต์ คราวนี้ผมคิดถึงเจ๊โอ พีรยา เพ็ชรสุวรรณ รุ่นน้องสาธิตรูสะมิแลอีกคนที่ทำงานที่ Amadeus ส่งข้อความไปทักเจ๊ แกก็ไม่อ่านเหมือนกัน ผมเลยปล่อยวางว่าอะไรจะเกิดก็ช่างมัน นอนพักเตรียมตัวขึ้นเวทีเสวนาดีกว่า


หลับสบายไร้กังวลเพราะเมื่อคืนนอนน้อย ตื่นเช้าเหมือนปกติดีที่เวลาในอินโดนีเซียตรงกับบ้านเราเลยไม่เกิดอาการผิดเวลา นั่งทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยจน ๖ โมงครึ่งลงไปกินอาหาร ห้องอาหารใหญ่โตมีอาหารหลายประเภทมากเลือกกินไม่ถูก ผมก็กินอาหารตามสไตล์ฝรั่งเช่นเคย ที่แปลกคือตอนไปสั่งให้เขาทำออมเล็ตตรงหน้าเป็นถาดเบคอนสงสัยว่าทำไมที่นี่ห้องอาหารไม่ฮาลาลนะ พอนั่งกินถึงได้รู้ว่ามันเป็นเบคอนเนื้อวัวไม่เคยกินมาก่อนเลย กินอิ่มกลับขึ้นไปบนห้องประมาณ ๗ โมง ฝน ฐานิดาทักเข้ามาถามว่ามีอะไรพอตอบไปว่ามีปัญหาการเช็คอิน ฝน call เข้ามาสอบถามรายละเอียดแล้วบอกว่าจะติดต่อเพื่อนที่สำนักงานการบินไทยจาการ์ต้าให้จองที่นั่งไว้ให้ผมก่อนเลย ทำให้เบาใจว่ามีที่นั่งกลับบ้านแน่ ๆ ประมาณ ๘ โมงเศษลงไปที่ห้องประชุม ลงทะเบียนในฐานะวิทยากรได้ถุงหิ้วมา ๑ ใบ ในนั้นนอกจากเอกสารการประชุมแล้วยังมีเสื้อบาติกอีก ๑ ตัว ถามเจ้าหน้าที่ว่าเขามีห้องสำหรับวิทยากรมั๊ยเขาทำหน้างง ๆ เลยเดินไปดูผังบริเวณการประชุมเห็นมีห้องเตรียมสไลด์ เดินเข้าไปเป็นห้องเล็ก ๆ มีเจ้าหน้าที่นั่งอยู่หน้าคอมพ์ ๒ คน เข้าไปขอให้เขาเช็คดูว่าสไลด์ที่ส่งมาก่อนหน้านั้นใช้ได้มั๊ย เขาบอกว่ามีแค่ชุดเดียวของภาคเช้า ภาคบ่ายในโปรแกรมไม่มีรายการที่ผมจะต้องพูด เอาละสิเกิดอะไรขึ้น เลยบอกว่าไม่เป็นไรเอาของภาคเช้าให้เรียบร้อยก่อน


เป็นการประชุมที่แปลกมากคือหน้าห้องประชุมจะมีบู๊ธของบริษัทครุภัณฑ์ทางการแพทย์มีผู้เข้าร่วมประชุมเดินกันขวักไขว่ แต่ไม่มีโต๊ะของเจ้าหน้าที่จาก ISIC มีเจ้าหน้าที่เฝ้าหน้าห้องประชุมแต่ละห้องแต่ถามอะไรไม่ได้รายละเอียดเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัทรับจัดงานอีกทีผมไม่รู้จะประสานใครว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้างก็เลยเดินไปนั่งรอในห้อง Ballroom B ที่ผมจะต้องขึ้นเวที นั่งฟัง session ก่อนหน้าผมไปพลาง ๆ สักพักก็มีคนเข้ามาทักบอกว่าเดินตามหาผม แนะนำตัวกันแล้วแกคือ Dr.Sunarya Soerianata อดีตนายกสมาคม ISIC ที่กำลังจะส่งมอบตำแหน่งให้คนใหม่ แกบอกว่าแกรู้จักผมจากพี่ดำรัส ตรีสุโกศล อายุรแพทย์โรคหัวใจโรงพยาบาลกรุงเทพ อดีตอาจารย์ศิริราชซึ่งเคยเป็นประธานคณะทำงาน PCI ของผม แล้วแนะนำให้ผมรู้จักกับ Dr.Doni Firman ผู้ที่กำลังจะรับมอบตำแหน่งนายกสมาคม ISIC และ Dr.Harmani Kalim ศัลยแพทย์ทรวงอกหรือหมอ CVT อาวุโส


เมื่อถึงเวลา Dr.Sunarya และ Dr.Doni ขึ้นทำหน้าที่ประธานมีการแนะนำตัวผมว่าเป็นใครมาจากไหน เนื่องจากวิทยากรคนแรกซึ่งเป็นผู้แทนจาก BPJS เจอการจราจรติดขัดยังเดินทางมาไม่ถึง Dr.Doni ซึ่งเป็นวิทยากรคนที่ ๒ จึงขึ้นมาพูดก่อน แกเล่าถึงสถานการณ์การรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในอินโดนีเซีย ปัจจุบันอินโดนีเซียมีห้องปฏิบัติการสวนหัวใจหรือ cath lab ทั้งหมด ๑๙๙ แห่งใน ๑๗๑ โรงพยาบาล มีอายุรแพทย์โรคหัวใจทั้งหมดประมาณ ๘๕๐ คน ไม่มีข้อกำหนดว่าใครคือผู้ที่มีสิทธิทำหัตถการสวนหัวใจ

จากนั้นผมก็ไปเล่าถึงเรื่องราวของบ้านเราบ้างโดยผมเล่าปูพื้นเกี่ยวกับ Universal Health Coverage หรือ UHC ว่าประเทศไทยเราก้าวเข้าสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลในสิทธิใดสิทธิหนึ่งระหว่างสวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ หรือประกันสังคมหรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ UCS ดูแลประชาชนร้อยละ ๗๕ ของประชาชนคนไทยทั้งหมด มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช.ทำหน้าที่บริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และดูแลเรื่องการจัดบริการให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานของวิชาชีพ สำหรับการทำหัตถการสวนหัวใจเรามีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ครั้งที่มีการสนับสนุนให้เกิด Excellent Center ด้านโรคหัวใจด้วยการจัดงบลงทุนให้หน่วยบริการซื้อเครื่องเอกซเรย์สำหรับสวนหัวใจ แล้วมีการจ่ายชดเชยค่ายาละลายลิ่มเลือด ค่าบอลลูน ค่าขดลวดค้ำยัน จนพบว่ามันมีการให้บริการกันเกร่อจนควบคุมคุณภาพไม่ได้ สปสช.จึงตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับ cath lab และกำหนดให้ cath lab ที่ผ่านการตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของ สปสช.เท่านั้นที่มีสิทธิเบิกค่าชดเชยบริการ


หลังจากนั้นผู้แทนจาก BPJS ได้เล่าสถานการณ์ทางการเงินการคลังของ BPJS ที่ใช้เกี่ยวกับโรคหัวใจ โดยพบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคหัวใจโดยรวมประมาณร้อยละ ๑๑ ของกองทุนเพื่อการรักษาพยาบาลของอินโดนีเซีย มีความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายของ cath lab และบุคลากร ในหลายพื้นที่มีการทำหัตถการมากเกินความจำเป็น ในขณะที่อีกหลายพิ้นที่ขาดการเข้าถึงบริการต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งต่อผู้ป่วยหรือค่าเดินทางของญาติไปพื้นที่อื่นโดยสรุปสถานการณ์ของอินโดนีเซียที่กำลังก้าวตามเราในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ ก็มีปัญหาในการจัดการกับระบบบริการที่เป็นบริการตติยภูมิมีความจำเพาะของบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ และมีค่าใช้จ่ายสูง ควบคุมคุณภาพบริการยากหากไม่จัดระบบบริการให้ดี อินโดนีเซียจึงมองประเทศไทยเป็นต้นแบบในการพัฒนา

สำหรับการทำหัตถการผ่านสายสวนนี้เป็นที่ยอมรับของ ISIC ว่าจำเป็นต้องจัดระบบให้ดีจึงจะควบคุมคุณภาพได้ และวิธีที่เหมาะสมก็คือทำตามที่ สปสช.วางระบบในปัจจุบันนี้ การบรรยายของผมจึงได้รับการปรบมือชื่นชมมากเป็นพิเศษ เอ๊ะ! หรือเป็นเพราะผมเป็น ๑ ใน ๓ คนของวิทยากรที่เป็นชาวต่างชาติ


หลังจากจบรายการแรก Dr.Harmani Kalim ที่มานั่งเป็นประธานแทน Dr.Sunarya Soerianata ก็ขอสรุปและจบแบบไม่ให้ซักถาม เพราะต้องการให้ทุกคนย้ายไปร่วมพิธีเปิดการประชุมที่ห้อง Ballroom A ผมเข้าไปปรากฎว่ามีคนเต็มห้องจนต้องยืน มีการฉายวิดีทัศน์เรื่องราวของ ISIC มีการเชิญใครต่อใครขึ้นไปกล่าวบนเวทีซึ่งพูดภาษาอินโดฯทั้งหมด ผมเลยไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรกันบ้าง ที่แปลกคือก่อนเริ่มพิธีเปิดเขาเปิดเพลงชาติอินโดนีเซียให้ทุกคนยืนเคารพเพลงชาติก่อน ในพิธีเปิดมีการมอบตำแหน่งนายกสมาคม ISIC จาก Dr.Sunarya Soerianata ให้ Dr.Doni Firman หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันชมนิทรรศการและเตรียมเข้า Luncheon symposium ซึ่งเป็นธรรมเนียมของการประชุมวิชาการทางการแพทย์ที่จะให้มีใครบางคนมาพูดเชียร์ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์แล้วบริษัทพวกนั้นก็จะเป็นสปอนเซอร์จัดอาหารกล่องให้ผู้เข้าฟัง




ผมลืมเล่าไปว่าช่วงที่ผมเตรียมขึ้นเวทีปุกไลน์มาส่งข่าวว่าติดต่อนายสถานีการบินไทยที่จาการ์ต้าได้แล้วให้ผมลองเข้าไปเช็คอิน ผมเลยไลน์ส่งข่าวให้ไก่ อภิสมัย สวัสดิสาร เจ้าหน้าที่ผมช่วยเช็คอินให้ ไก่สามารถจัดการให้เรียบร้อยตอนนี้ผมหมดห่วงแล้วผมมีที่นั่งแน่นอนเหลือแค่ผมไปให้ทันก่อน Gate ปิดเท่านั้น งานนี้ต้องขอบคุณฝน ฐานิดา ปุก ปุริม ไก่ อภิสมัย ที่ช่วยเป็นธุระให้

ช่วงบ่ายผมไปนั่งรอที่ห้องประชุมเช่นเคย คราวนี้เป็นห้องเล็ก ๆ มีเก้าอี้วางไม่กี่ตัว รอบนี้เจอ Mr.Praditya Virza เลขานุการ ISIC ที่เป็นผู้ติดต่อเมล์กับผมมาตลอด แกบอกว่าจะเป็น small group discussion แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของการผ่าตัดหัวใจ เอาละสิผมจะทำอย่างไรดี สไลด์ที่เตรียมมาคงจะไม่ถูกเรื่อง จะลองทำใจดีสู้เสือพูดสดดูสักตั้งสักพักผู้ที่จะมาคุยกับผมก็มากันพร้อมหน้าพร้อมตาประกอบด้วย Dr.Harmani Kalim เจ้าเก่า มี Dr.Muhammad Arza Putra หมอ CVT จาก Cipto Mangunkusumo Hospital คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย Dr.Maizul Anwar หมอ CVT จาก Siloam Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ทำผ่าตัดหัวใจเยอะมาก และ Dr.Sugisman หมอ CVT จาก Harapan Kita Hospital รายการนี้สนุกมากเพราะผมต้องตั้งใจฟัง ตั้งใจจดว่าเขาพูดอะไรกันบ้างเเพื่อที่เราจะต่อได้ถูก


Dr.Harmani ขอให้ Dr.Arza เป็นคนเริ่มโปรยก่อน ชื่อแกเขียนเหมือนจะอ่านว่า อ้าซ่า แต่ที่ถูกต้องอ่านว่า อารีซ่า นะครับ Dr.Arza เป็นคนหนุ่มรุ่น ๔๐ ตอนปลายหรือ ๕๐ ตอนต้นเป็นอาจารย์หน่วย CVT ที่มีบทบาทสำคัญทั้งในเรื่องการให้บริการและการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน CVT แล้วเข้ามามีบทบาทในการคิดการจ่ายชดเชยบริการผ่าตัดหัวใจของ BPJS พูดภาษาอังกฤษไม่ออกสำเนียงรัวลิ้นแบบแขกฟังง่าย แกมาโปรยเริ่มต้นชวนให้ติดตามมาก Dr.Arza เล่าว่าประเทศอินโดนีเซียมีการทำผ่าตัดหัวใจ ๒๕ ครั้งต่อประชากร ๑ ล้านคน ซึ่งอันที่จริงควรจะมีการผ่าตัด ๓๐๐ ครั้ง แต่ปัญหาคือมีศูนย์โรคหัวใจที่ให้บริการผ่าตัดในอัตราส่วน ๑ แห่งต่อประชากร ๖.๙ ล้านคน มีหมอผ่าตัดหัวใจหรือหมอ CVT ที่ได้รับอนุญาตทั้งประเทศ ๑๓๘ คน คิดเป็นสัดส่วนหมอ CVT ๐.๕ คนต่อประชากร ๑ ล้านคน อินโดฯเพิ่งจะมีการอบรม CVT เป็นอนุสาขาต่อจากศัลยศาสตร์ทั่วไปเมื่อปี ๒๕๔๓ หลังจากจบศัลย์ทั่วไปก็เรียนต่ออีก ๒ ปี ๔ หมวดหลักคือ general thoracic surgery หรือการผ่าอวัยวะต่าง ๆ ในทรวงอกที่ไม่ใช่หัวใจและหลอดเลือด adult cardiac surgery หรือการผ่าตัดหัวใจในผู้ใหญ่ pediatric and congenital cardiac surgery หรือการผ่าตัดหัวใจในเด็ก และ vascular and endovascular surgery คือการผ่าตัดหลอดเลือดทั้งแบบเปิดและแบบปิด ปัจจุบันมีสถาบันฝึกอบรม ๒ สถาบัน


สำหรับการบริการผ่าตัดหัวใจอินโดนีเซียมีระบบการเบิกจ่ายที่ดัดแปลงไปจากของประเทศไทยคือแบ่งเป็น case-based grouping แบ่งตามความรุนแรงของโรค และระดับของโรงพยาบาล ส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บกับที่ทาง BPJS จ่ายไปเป็นสิ่งที่แต่ละโรงพยาบาลจะจัดการจาก cross subsidization scheme หรือการร่วมจ่าย สำหรับ case-based grouping ก็คือระบบ DRG grouping ของประเทศไทยนั่นเอง เพียงแต่สูตรการคิด grouping ต่างกัน ปัญหาของ case-based grouping คือการจัดกลุ่มยังไม่ลงตัวพบว่าการผ่าตัด closure VSD หรือปิดรูรั่วของผนังกั้นหัวใจห้องล่าง มีคะแนนสูงกว่า total correction of Tetralogy of Fallot หรือแก้ไขภาวะผิดปกติของหลอดเลือดแดงไปปอดและรูรั่วของผนังกั้นหัวใจห้องล่างซึ่งมีความยากกว่า หรือในกรณีที่เป็นการทำผ่าตัดหลาย procedure พร้อมกันเช่น CABG with mitral valve replacement หรือการทำผ่าตัดหลอดเลือดโคโรนารีร่วมกับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ จะถูกจัดไปอยู่ในกลุ่มการทำผ่าตัดลิ้นหัวใจทำให้คะแนนน้อยกว่าความเป็นจริงเช่นกัน


โดยรวมปัญหาของการผ่าตัดหัวใจในอินโดนีเซียคือ ๑.การกระจายตัวของโรงพยาบาลและหมอผ่าตัดยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ๒.การผลิตหมอ CVT ทำได้ปีละ ๒๘ คน ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ๓.การจ่ายชดเชยค่าผ่าตัดของ BPJS สะท้อนต้นทุนจริงเฉพาะในการผ่าตัดที่ธรรมดา แต่ในรายที่เป็นการผ่าตัดซับซ้อนยังไม่สะท้อนต้นทุนจริงจึงเกิดการผลักส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ใหญ่ ๆ ๔.การผ่าตัดหัวใจ BPJS จะจ่ายให้เฉพาะโรงพยาบาลระดับ A และ B เท่านั้น อินโดนีเซียจะแบ่งโรงพยาบาลเป็น ๔ ระดับ A คือสุดยอดมีความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์สำหรับการบริการทุกประเภท ระดับ B จะไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาย่อยบางสาขา ระดับ C จะมีแค่ ๔ สาขาหลักคือสูติ-นรีเวช, ศัลย์, อายุรกรรม และกุมารฯ ระดับ D จะให้บริการปฐมภูมิ


จากนั้น Dr.Maizul Anwar ซึ่งมาจากภาคเอกชนคือเครือโรงพยาบาล Siloam ซึ่งมีโรงพยาบาลในเครือ ๓๐ แห่ง และมีที่ทำผ่าตัดหัวใจได้ ๓ แห่ง ทั้งหมดเป็นเครือข่ายของ BPJS ตัว Dr.Maizul จัดเป็นหมอ CVT ภาคเอกชนที่มีชื่อเสียงมาก แกเล่าให้ฟังว่าเครือ รพ. Siloam เริ่มทำผ่าตัดหัวใจผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ BPJS ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๕ ในปี ๒๕๖๑ ทำผ่าตัดหัวใจไป ๔๘๒ รายเป็นสิทธิ BPJS ๓๕๗ รายหรือร้อยละ ๗๓ ที่เหลือเป็นผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง Dr.Maizul บอกว่าที่ Siloam มีการทำผ่าตัด CABG เป็นหลัก อัตราตายประมาณร้อยละ ๑.๖ ค่าใช้จ่ายที่ได้จาก BPJS อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้สำหรับเครือโรงพยาบาลเอกชน แต่ไม่พอสำหรับการทำผ่าตัด Transthoracic Endovascular Aortic Repair หรือ TEVAR ซึ่งเป็นการซ่อมหลอดเลือดแดงใหญ่เออร์ต้าด้วยการใส่หลอดเลือดเทียมเข้าไปในหลอดเลือดซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก


ต่อจากนั้นจึงเป็นคิวผมด้นสด Dr.Harmani แกบรรยายประวัติผมจนผมเขินเลยเพราะแกบอกว่า Once he was the cardiac surgeon. And now even he doesn’t do any cardiac surgery but he is the important person who contribute the quality of cardiac surgery in Thailand.

จากนั้นผมก็เล่าย้อนไปตั้งแต่การฝึกอบรมด้านศัลยศาสตร์ทรวงอกของประเทศไทยที่เดิมใช้เวลา ๓ ปี ต่อมาปรับเป็น ๕ ปี เรามีสถาบันฝึกอบรมประมาณ ๘-๑๐ แห่ง ผลิตหมอ CVT ได้ประมาณปีละ ๒๐ คน ปัจจุบันเรามีหมอ CVT ที่ยังคงทำงานผ่าตัดประมาณ ๑.๘ คนต่อประชากรล้านคน แต่ถ้าในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติน่าจะมีสัดส่วนประมาณ ๒ คนต่อประชากร UCS ๑ ล้านคน เดิม สปสช.มีการสนับสนุนงบลงทุนเพื่อจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจระดับต่าง ๆ ระดับ ๑-๓ คือศูนย์ที่ทำผ่าตัดหัวใจได้ ยุคแรกเราจ่ายชดเชยค่าดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบเหมาจ่ายที่เรียกว่า Disease management package โดยแบ่งตามความยากง่ายของการผ่าตัด ต่อมามีการปรับเป็นจ่ายตามระบบ DRG โดยคิดตามน้ำหนักสัมพัทธ์หรือ adjRW ต่อมามีการควบคุมคุณภาพบริการของการทำหัตถการสวนหัวใจหรือ PCI ที่เราแบ่งเป็น ๒ ระดับ คือระดับที่ ๑ มีบริการผ่าตัดหัวใจรองรับกรณีฉุกเฉิน และระดับ ๒ ไม่มีบริการผ่าตัดหัวใจของตนเองแต่สามารถส่งต่อไปยังหน่วยผ่าตัดใกล้เคียงให้ผ่าตัดฉุกเฉินได้ภายใน ๙๐ นาทีนับตั้งแต่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำ PCI สปสช.และสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทยจึงร่วมกันกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับขึ้นทะเบียนหน่วยบริการที่จะทำผ่าตัดหัวใจ


ประเด็นที่เราถกกันมากคือเรื่องการกำหนดเกณฑ์แล้วไปตรวจประเมินแบบเข้มข้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางอินโดฯ ให้ความสนใจมาก อีกเรื่องคือเรื่องกระบวนการจ่ายชดเชยเปรียบเทียบเรื่อง case-based grouping ของอินโดนีเซียกับระบบ Disease Related Group หรือ DRG ของบ้านเรา ซึ่งผมบอกว่าที่ทางอินโดฯนำไปดัดแปลงเป็น DRG version 5 แต่ปีหน้าเราจะใช้ DRG version 6 ที่มีความละเอียดมากขึ้น นับว่าเป็น small group discussion ที่สนุกมากจนผมลืมไปเลยว่าปกติภาษาอังกฤษผมมันห่วยแตก แต่บ่ายวันนั้นเราถกกันอย่างเมามันประหนึ่งว่าผมนี่เคยไปเรียนเมืองนอกเมืองนาพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักเลย




เมื่อจบการเสวนาก็ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก Dr.Harmani Kalim ได้มอบประกาศนียบัตรว่าเป็น Speaker ของการประชุม 11th ISICAM-InaLive 2019 พร้อมกับของที่ระลึก ๒ อย่างคือหมวกหนีบแบบอินโดนีเซียมีตัวหนังสือบอกชื่อการประชุมและหูฟังบลูทูธ JBL ๑ ชุด รายการนี้ speaker ไม่มีค่าวิทยากร เขาสนับสนุนค่าเดินทางและค่าที่พักให้เท่านั้น





ผมรีบขึ้นแท๊กซี่ที่ทางโรงแรมจัดให้ไปสนามบินออกจากโรงแรมประมาณ ๑๔.๕๐ น. การจราจรหน้าโรงแรมติดขัดมากรถขยับได้ทีละนิดแต่พอหลุดเข้าทางด่วนได้ก็ฉลุย ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาทีถึงสนามบิน Soekarno-Hatta ไปเช็คอินการบินไทยจึงได้เจอผู้โดยสารเป็นกลุ่มใหญ่กลับไทยเที่ยวบินเดียวกันเป็นทหารจากศูนย์การทหารราบ ปราณบุรีมาแข่งขันยิงปืนทางทหารประมาณ ๓๐ นาย คุยกันแกบอกว่าทีมทหารไทยกวาดรางวัลมากกว่าทุกชาติ ใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาทีก็ผ่าน ต.ม.


ตั้งแต่เหยียบแผ่นดินอิเหนาผมยังไม่ได้ใช้เงินเลย จึงหาทางใช้เงินไปนั่งกิน Double cheese burger ที่ร้าน McDonald’s จ่ายไป ๑๔๐,๐๐๐ รูเปี๊ยส ยังเหลืออีกตั้ง ๑๖๐,๐๐๐ รูเปี๊ยส เศรษฐีอย่างผมเลยไปสั่ง Cold fusion coffee กินในราคา ๔๒,๔๐๐ รูเปี๊ยสได้กาแฟมา ๗ ออนซ์ อิ่มแปร้สบายพุง เงินที่เหลือเอากลับมาเป็นที่ระลึก ไปนั่งรอที่ gate จน ๑๘.๓๐ น.เขาเรียกขึ้นเครื่อง และเริ่มออกเดินทางประมาณ ๑๙.๑๐ น. ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ๒๒.๓๕ น. เป็นอันว่าผมได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในต่างแดนอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะ speaker ที่ต้องพูดตามสไลด์ที่เตรียมไป และทั้งที่ต้องด้นสดเพราะสิ่งที่เตรียมไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากรู้ ที่ผมมั่นใจคือผมพูดในสิ่งที่หมอชาวอินโดนีเซียอยากรู้ พูดจากประสบการณ์การทำงานของผม พูดถึงงานที่ผมมั่นใจว่าปัจจุบันใน สปสช.ไม่มีใครรู้ดีเท่าผมเพราะผมรู้ตั้งแต่ประวัติศาสตร์เริ่มต้นของมันจนถึงปัจจุบัน เพราะผมคือตัวละครของเรื่องราวเหล่านั้นมาหลายยุคหลายสมัย


ตอนนั้นผมคิดในใจว่าไม่แน่นะสักวันหนึ่งผมอาจจะได้รับเชิญให้ไปเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับโรคอื่น ๆ ที่ผมรับผิดชอบอีก เพราะวันนั้นผู้แทน BPJS ก็พูดถึงการจัดการกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ที่ผมก็รับผิดชอบ อ้อ! หลายปีก่อนผมก็เคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับการบำบัดทดแทนไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังให้หมอจากอินโดนีเซียฟังไปแล้ว ยังเหลือโรคมะเร็งอีกอย่าง จะว่าไปแล้วผมมันคนโรคเยอะ โลกส่วนตัวก็แยะ แต่ผมก็จบชีวิตงานที่ สปสช.ไปแล้วคงหมดโอกาสทำตามที่คิดแล้วจบข่าว ฮิ ๆๆ





Comments


เว็บไซต์นี้จัดทำเพื่อรวบรวมรายชื่อทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ตันเตียงสิ่น)ทุกสายสกุล และมีเรื่องราวต่าง ๆ ของตระกูลและท้องถิ่น รวมถึงนานาสรรพสาระต่าง ๆ

bottom of page