top of page

เมื่อผมได้ทุนดูงานจาก JICA

  • รูปภาพนักเขียน: drpanthep
    drpanthep
  • 24 ต.ค. 2566
  • ยาว 4 นาที

ชีวิตนี้ผมไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะได้รับทุนไปต่างประเทศเหมือนคนอื่น เพราะไม่เคยเข้าคอร์สกวดวิชาภาษาอังกฤษแล้วไปสอบเหมือนคนอื่น

แต่เหมือนโชควาสนาจะกำหนดไว้ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตผมต้องไปต่างประเทศด้วยทุนอะไรสักอย่าง


ช่วงเดือนมกราคม ๒๕๕๖ มีการติดต่อมาจากสำนักงานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าไจก้า JICA ว่าจะมีคณะจากญี่ปุ่นมาขอดูงานเรื่องการบริหารจัดการกองทุนโรคไตว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) บริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไรผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถึงได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

ปกติการมีคณะดูงานจากต่างประเทศแบบนี้เลขาธิการ สปสช. จะเป็นผู้ทำหน้าที่ต้อนรับเอง หรือไม่ก็มอบหมายให้รองเลขาธิการฯที่รับผิดชอบเรื่องนี้เป็นผู้แทน

แต่ครั้งนี้เลขาธิการฯ แทงหนังสือมอบให้รองเลขาธิการฯ รองเลขาธิการฯก็แทงต่อว่าไม่ว่างมอบที่ปรึกษาอาวุโส ที่ปรึกษาอาวุโสก็โทรศัพท์หาผมบอกว่าไม่เคยรู้เรื่องการบริหารกองทุนโรคไตมอบหมายให้ผู้อำนวยการจัดการไปเองแบบเบ็ดเสร็จก็แล้วกัน


เมื่อคณะเดินทางมาถึงผมในฐานะผู้จัดการแผนงานสนับสนุนระบบบริการโรคไตวายในขณะนั้นจึงต้องทำหน้าที่รับหน้าเสื่อต้อนรับคณะที่มาดูงานและบรรยายสรุป คณะที่มาในวันนั้นเป็นคณะเล็กๆภายใต้การนำของเลขานุการสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และชาวญี่ปุ่นอีก ๒-๓ คน หนึ่งในนั้นคือ Mr.Jun-Ishi


Shirokaze จาก Asahi Kasei Corporation ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าบริษัทนี้ทำเกี่ยวกับอะไร แต่หลังจากผมบรรยายสรุปวันนั้นคนที่ซักถามมากที่สุดคือนายคนนี้ และแกได้พูดถึงเทคโนโลยีใหม่ๆในญี่ปุ่นเกี่ยวกับเครื่องผลิตน้ำสำหรับใช้กับเครื่องไตเทียม และการผลิตบุคลากรที่เรียกว่า clinical engineering ซึ่งเป็นเหมือนคนที่ดูแลเครื่องมือต่างๆทางการแพทย์ แต่สามารถเจาะเลือดผู้ป่วย แทงเข็มเพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หลังจากนั้นก็ร่ำลากันไป เจ้าหน้าที่ผมบอกว่าวันนี้ ผ.อ.นำเสนอและตอบข้อซักถามเป็นภาษาอังกฤษได้เยี่ยมโดยดูจากสีหน้าของคณะที่มา


Shirikaze san สวมสูทสีเทา


จนถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๖ ผมได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ของ JICA ประจำประเทศไทยว่าทาง JICA ที่ญี่ปุ่นต้องการให้ผมเขียนใบสมัครเพื่อเข้าร่วมสัมมนาเรื่อง Seminar on Dialysis Technology in Japan ที่ประเทศญี่ปุ่น และส่งใบสมัครมาให้ทางอีเมล์

ผมยังงง ๆ ว่าทำไมเขาถึงระบุตัวผม เพราะปกติเวลามีทุนอะไรมามักจะมาถึงสำนักงานแล้วสำนักงานจะเป็นผู้พิจารณาเองว่าให้ใครไป(ซึ่งไม่เคยถึงผมสักที ฮิ ๆๆ) ผมต้องนั่งกรอกใบสมัครประมาณ ๑๐ หน้า ที่มีลักษณะเหมือนการเขียนรายงานการปฏิบัติงานเป็นภาษาอังกฤษว่าผมมีประวัติความเป็นมาอย่างไรทั้งการศึกษาและการทำงานในอดีตจนถึงปัจจุบัน ภารกิจของสปสช.คืออะไร และหน่วยงานที่ผมรับผิดชอบมีหน้าที่อะไรบ้าง ปัญหาและอุปสรรคของการทำงานนี้มีอะไรบ้าง คิดว่าจะแก้ไขได้อย่างไร และสุดท้ายคือคิดว่าจากการไปเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้จะได้อะไรที่เป็นประโยชน์กลับมาใช้กับภารกิจที่รับผิดชอบ

หัวข้อไม่กี่หัวข้อแต่เด็กบ้านนอกจบเรียนโรงเรียนบ้านสะบารังแบบผมนี่นับว่ายากเอาเรื่องเลย นั่งใช้เวลา ๒ วันจึงเขียนเสร็จ ส่งใบสมัครกลับไปให้ทาง JICA ญี่ปุ่น ก็ต้องลุ้นระทึกอีกครั้งตอนที่ต้องให้ผู้บังคับบัญชาลงนาม ไม่รู้จะอนุญาตหรือเปล่าเพราะเป็นอะไรที่ไม่เหมือนปกติ เจ้าของทุนระบุตัวมาเลยว่าต้องเป็นผม เลขาธิการฯ ก็คุยกับรองเลขาธิการฯ ว่าจะเอาอย่างไรดี โชคดีที่เจ้านายเข้าใจเลยอนุญาต

หลังจากนั้นไม่นานทาง JICA ก็มีหนังสือตอบรับให้ผมเข้าร่วมสัมมนาดังกล่าวในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖


การติดต่อกับ JICA ทั้งญี่ปุ่นและไทยใช้อีเมล์ตลอด ไม่เคยต้องไปติดต่อที่สำนักงาน JICA ประเทศไทยเลย ทาง JICA ส่ง Training and Dialogue Program ซึ่งเป็นรายละเอียดของการสัมมนาว่ามีวัตถุประสงค์อะไรบ้าง ผู้เข้าร่วมสัมมนาต้องเตรียมอะไรบ้าง และโปรแกรมของแต่ละวันว่าทำอะไร พักที่ไหน ผู้ประสานงานที่ญี่ปุ่น และข้อมูลของเกาะ Kyushu และ Eastern Kyushu Medical Valley ตลอดจนข้อมูลของ JICA และหนังสือเชิญเป็นภาษาญี่ปุ่นสำหรับแสดงกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น พร้อมกับให้เรากรอกข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ พร้อมกับขนาดตัวส่งกลับไปให้เขา


หนังสือเชิญของ JICA เป็นภาษาญี่ปุ่นสำหรับแสดงกับ ต.ม.ญี่ปุ่น



จากข้อมูลที่ส่งมาจึงได้รู้ว่าการไปสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจาก ๘ ประเทศ คือไทย เวียดนาม พม่า อินเดีย อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอัฟริกาใต้ ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศกำลังพัฒนาทั้งนั้น คิดในใจดัง ๆ ว่าคราวนี้เราคงได้คุยกับเพื่อนจนเมื่อยมือเลย


จนใกล้ถึงกำหนด ทาง JICA ส่ง e-ticket มาให้เป็นของสายการบิน JAL สายการบินประจำชาติของญี่ปุ่น เป็นตั๋ว ๔ เที่ยวบินด้วยกันคือจากสุวรรณภูมิไป Narita และตั๋วภายในประเทศจาก Narita ไป Fukuoka และขากลับภายในประเทศจาก Miyazaki ไป Haneda และจาก Haneda ไปสุวรรณภูมิ พร้อมกับบอกว่าเมื่อถึง Narita จะมีเจ้าหน้าที่ JICA ถือป้ายมารอรับ และมีรายชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาจากประเทศไทย ๔ คน คือนอกจากผมแล้วยังมีคุณหมอจิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์, คุณหมอสกานต์ บุนนาค หมอโรคไตจาก รพ.ราชวิถี และคุณหมอไกรวิพร เกียรติสุนทร หมอโรคไตจากศิริราช ค่อยใจชื้นขึ้นมาหน่อยว่าอย่างน้อยมีเพื่อนคนไทย


จนถึงวันเดินทาง วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ผมก็เป็นกะเหรี่ยงลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ๑ ใบ สะพายกระเป๋าโน๊ตบุ๊คและของใช้ที่จำเป็นและเสื้อผ้าสำรอง ๑ ชุดไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ check in ที่เคาน์เตอร์ของสายการบิน JAL เมื่อผ่านกระบวนการเรียบร้อยเจ้าหน้าที่ให้บัตร ๑ ใบบอกว่าผ่าน ต.ม.แล้วเชิญไปนั่งที่ Sakura JAL Lounge ผมถึงได้รู้ว่าได้นั่ง Business class เป็นบุญก้นจริง ๆ หยิบ e-ticket ที่ JICA ส่งให้ถึงได้รู้ว่าเขาบอกไว้ว่า Business class แต่ผมอ่านข้ามไปเอง ดูราคาค่าตั๋วไป-กลับ ๔ เที่ยวบินรวมกันปาเข้าไป ๘๗,๕๐๐ บาท นี่ถ้าให้จ่ายเองคงแย่เลย เลยรีบไปผ่านกระบวนการออกนอกประเทศของ ต.ม.ซึ่งไม่ยุ่งยากเพราะใช้หนังสือเดินทางราชการ แล้วไปนั่งเต๊ะจุ๊ยใน Sakura JAL Lounge ที่ไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสได้เข้าไปนั่งอีกเมื่อไหร่


นั่งรอเวลาที่ Lounge



เป็นวาสนายิ่งนักได้นั่ง Business class


นอกจากจะสบายก้นสบายหลังแล้วยังมีของแจกอีกเยอะแยะ กะเหรี่ยงเพิ่งเคยเจอ


นอนบายจังหู


เปิดม่านหน้าต่างก็เห็นแสงแรกของญี่ปุ่น


ในที่สุดผมก็ได้นั่งเครื่องบินชั้น Business class ของ JAL จากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบิน Narita ประเทศญี่ปุ่น ออกจากสุวรรณภูมิเวลาเที่ยงคืน นอนได้ ๓ ชั่วโมง เวลา ๐๕.๐๐ น.ของญี่ปุ่นตรงกับ ๐๓.๐๐ น.ของไทยเขาก็ปลุกเสิร์ฟอาหารเช้า ประมาณ ๗ โมงครึ่งตามเวลาท้องถิ่น เราไปถึง Narita อย่างปลอดภัย รอเอากระเป๋าเสร็จเรียบร้อยประมาณ ๘ โมง ต้องรีบออกไปผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง เพราะเราต้องขึ้นเครื่องต่อไป Fukuoka เที่ยวบินเวลา ๐๙.๔๕ น.


เมื่อออกมาถึง ต.ม.ตกใจเลยครับเพราะแถวยาวมาก ดูแล้วเราไม่น่าจะไปขึ้นเครื่องทันเวลา จึงแจ้งกับเจ้าหน้าที่ ต.ม.ที่ยืนกำกับแถวอยู่ว่าเราจะต้องรีบไปขึ้นเครื่องต่อไป Fukuoka เวลา ๐๙.๔๕ น. เราเป็นแขกของ JICA พร้อมกับเอาหนังสือเชิญภาษาญี่ปุ่นให้ดู เขารีบพาเรา ๔ คนลัดคิวไปช่องทางด่วน เราเลยรู้ว่าในเที่ยวบินจากสุวรรณภูมิมีคณะจากประเทศอื่นมาพร้อมกับเรา ทุกคนบินจากประเทศตนเองมาต่อเครื่อง JAL ที่สุวรรณภูมิ คณะอื่น ๆ เลยพลอยใบบุญเรามาทางลัดผ่าน ต.ม. ใช้เวลาแสกนนิ้วแป๊บเดียว ไม่ถามอะไรมากเพราะมีบัตรเบ่งจาก JICA เราเลยไป check in เครื่อง ANA All Nippon Airways ได้ทันเวลา


เมื่อถึงสนามบิน Fukuoka มีเจ้าหน้าที่ของ JICA มายืนถือป้ายรอรับ พอคณะเราพร้อมแกก็พาเดินลากกระเป๋าไปขึ้นรถมินิบัสที่แกเป็นพนักงานขับรถเอง ที่ตลกคือเราออกมาเที่ยงกว่าแกไม่พูดถึงเรื่องกินอาหารเลย เราก็คิดว่าคงใช้เวลาเดินทางจากสนามบินไปที่พักไม่นานมาก เอาเข้าจริงเราใช้เวลาเดินทางจากสนามบิน Fukuoka ไปยัง JICA Kyushu International Center ที่ Kitakyushu ประมาณ ๑ ชั่วโมงนิดๆ

JICA Kyushu International Center ที่ Kitakyushu นี่ถือเป็น campus ใหญ่ มีที่พัก สถานที่ฝึกอบรม โรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่เดียวกัน


หน้าเคาน์เตอร์ JICA ที่สนามบิน Fukuoka ต้องไปรายงานตัวว่าเรามาแล้ว


นั่งรถโค๊ชจากสนามบิน Fukuoka ไป JICA Kyushu International Center ที่ Kitakyushu


เมื่อถึงที่หอพักมีเลซองเป็นผู้หญิง ๒ คนมาต้อนรับ แจก JICA Pass card ซึ่งเป็นบัตรที่เราต้องแขวนตลอดเวลาที่อยู่ที่ JICA Kyushu International Center(KIC) และใช้เป็นคีย์การ์ดห้องพักให้เราเอาข้าวของไปเก็บแล้วลงมาพบกัน


JICA Pass พักห้อง ๖๐๖



เราลงมาแกก็ตั้งท่าจะอธิบายอะไรให้ฟัง พวกเราเลยบอกว่ายังไม่ได้กินข้าวเที่ยงเลย แกเลยพาไปที่ cafeteria ซึ่งอีก ๑๕ นาทีจะปิด เราต้องไปเรียนรู้การสั่งอาหารด้วยระบบกดเมนูที่ตู้แล้วจ่ายเงินกับตู้ได้บัตรคิว ไปรอรับอาหาร มื้อนั้นสั่งมั่ว ๆ ไปแต่อร่อยมากเพราะหิว และโชคดีที่อ้อ กริษฐา เจ้าหน้าที่ของสำนักให้ยืมเงินเยนติดตัวไปบ้างแล้ว

หลังจากอิ่มหมีพีมัน เราก็ออกมาฟังเลซองบรรยายวิธีปฏิบัติตัวในการพักที่หอพัก และแจ้งโปรแกรมของวันรุ่งขึ้นว่าจะต้องทำอะไรกันบ้าง ก่อนจะแยกย้ายกันไปอาบน้ำพักผ่อนตามอัธยาศัย เพราะเหนื่อยกับการเดินทางไกล


อาหารมื้อแรกที่หยอดเงินสั่ง


ภายในห้องพักไม่กว้างมาก มีสาย LAN ให้ใช้ฟรี


โต๊ะทำงาน


มีทีวี ตู้เย็น เครื่องเสียง เครื่องเล่นดีวีดี ตู้เซฟ


เคียวโกะซัง ชี้แจงโปรแกรมต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ


แผนผังบริเวณ KIC


อาคาร KIC ฝั่งสำนักงาน



เย็นนั้นพวกเราหมอไทย ๔ คนนัดไปกินมื้อเย็นด้วยกัน ตั้งใจว่าจะไปหาพวกราเมงอร่อย ๆ กินกัน เจอน้องวิศวกรคนไทยจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งที่รับทุน JICA มาฝึกงาน ๑ ปี น้องเลยพาเดินไปใกล้ ๆ ที่พัก เป็นร้านขายราเมงร้านเล็ก ๆ แต่จัดร้านได้สวยงาม เข้าไปในร้านจึงพว่าเป็นร้านแบบครอบครัวมีป้าอายุประมาณ ๗๐ กว่าปีอยู่ในชุดยูกาตะคอยต้อนรับ มีสามีในวัยเดียวกันเป็นคนปรุงราเมงตามสั่ง

ทั้ง ๒ คนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย เห็นเมนูแล้วสั่งไม่ถูกเลยเพราะเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งนั้น ป้าแกเห็นเราเป็นคนต่างชาติก็เลยเดินไปหยิบเมนูที่เป็นรูปภาพมาให้พวกเราเลือก จะเป็นชุดคือมีราเมงและอย่างอื่นประกอบด้วย เมื่อชุดที่แต่ละคนสั่งมาถึง ด้วยความมีไมตรีจิตรเต็มไปด้วย service mind ป้าแกจะยืนดูว่าเรากินเป็นหรือเปล่า พอเห็นเราเก้ ๆ กัง ๆ แกรีบกุลีกุจอมาแนะนำด้วยการชี้ให้เราหยิบโน่นไปปรุง หยิบนั่นไปผสมกับไอ้นี่ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มตลอดเวลา เรื่องรสชาตินี่ไม่ต้องพูดถึงเลย ผมว่าอร่อยกว่าราเมงร้านดัง ๒-๓ เจ้าในบ้านเราเยอะเลย สำหรับราคาแต่ละชุดก็ตกประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ บาท


บรรยากาศภายในร้านราเมง


เมนูสำหรับชาวต่างชาติ


อุปกรณ์และเมนูมาตรฐานบนโต๊ะ


ชุดที่ผมสั่งหน้าตาสวยและอร่อย


หลังจากกินอิ่มก็เดินย่อยอาหารรอบ ๆ ที่พักซึ่งสงบเงียบมาก แทบจะไม่มีรถยนต์เลย เดินสักพักก็กลับเข้าห้องพักกัน ในห้องพักก็เหมือนหอพักนักศึกษาทั่วไปห้องไม่ใหญ่แต่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน ไม่มี wifi แต่มีสาย LAN ให้ใช้อินเตอร์เน็ตได้ฟรี ผมมีโน๊ตบุ๊คติดไปด้วยเลยสบาย คนที่ใช้สมาร์ทโฟนแย่หน่อย คืนนั้นหลับสบายเพราะอ่อนล้ามาจากการเดินทาง


หลังจากที่เดินทางถึง JICA Kyushu International Center ที่ Kitakyushu ในวันที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นอาทิตย์วันหยุดราชการ รุ่งขึ้นเช้าวันจันทร์ ๒๗ พ.ค. ผมตื่นตั้งแต่ตี ๕ ครึ่ง ฟ้าสว่างโร่แล้ว เลยอาบน้ำแล้วลงไปเดินสูดอากาศยามเช้าท่ามกลางอากาศหนาวเย็นเพราะลมแรง


มองจากหน้าต่างห้องพัก ตี ๕ ครึ่งฟ้าสว่างแล้ว


ลงไปสูดอากาศ ลมแรงมาก


อาคาร KIC ฝั่งหอพัก


ดอกหญ้าญี่ปุ่น



เราก็เริ่มโปรแกรมกันอย่างเป็นทางการ โดยช่วงเช้าตั้งแต่ ๘ โมงครึ่งเป็นการแนะนำ JICA และชี้แจงวัตถุประสงค์ของการสัมมนาและโปรแกรมของแต่ละวัน เนื่องจากผมเป็นเด็กบ้านนอกไม่เคยได้รับทุนต่างประเทศมาก่อนจึงตื่นเต้นมากเพราะมีการจ่ายเงินสดให้จำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยเลี้ยงตลอดการเข้าร่วมสัมมนา ซึ่งการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงทาง JICA จ่ายโดยหลักการเดียวกับหน่วยงานผมเลยคือวันไหนมีการเลี้ยงอาหารก็หักค่าอาหารออกจากเบี้ยเลี้ยงตามจำนวนมื้อ นอกจากนี้เราต้องกรอกข้อมูลด้านสุขภาพเพื่อทำประกันสุขภาพสำหรับการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น และของสำคัญอีกอย่างคือเข็มกลัดสัญญลักษณ์ JICA ซึ่งเราต้องติดตลอดเวลาที่อยู่ในการดูแลของ JICA


เอกสารต่าง ๆ และเข็มกลัดสำหรับผู้รับทุน JICA


เมื่อเสร็จจากการประชุมชี้แจง พวกเราก็ขึ้นรถบัสออกเดินทางจาก JICA Kyushu International Center ที่ Kitakyushu ไปยัง Oita ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง เราแวะกินอาหารเที่ยงระหว่างทาง โดยรถไปจอดให้ที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง แล้วให้ไปหากินเอาเองตามอัธยาศัย เพราะได้รับเบี้ยเลี้ยงไปแล้ว คณะจากประเทศอื่น ๆ เดินเขาไปที่ Food center แต่พวกเราหมอไทย ๔ คนเดินหาร้านที่ดูเข้าท่าตามประสาคนที่เรื่องกินเรื่องใหญ่และมีสตางค์(เบี้ยเลี้ยง) มื้อนี้เราไม่กินราเมงเปลี่ยนไปกินพวกของทอดกันบ้าง ผมกินเป็นชุดเทมปุระ หลังจากนั้นเราก็ออกเดินทางต่อเพื่อไปยังจุดหมายคือ Oita


นั่งรถบัสไป Oita คุณหมอไกรวิพร จากศิริราช กับพี่จิโรจ รองอธิบดีกรมการแพทย์


ติดเข็ม JICA


ญี่ปุ่นพยายามยัดเยียดให้กลับไปอยู่กระทรวงสาธารณสุข


บ้านเมืองสงบเงียบดีจริง ๆ



ถึงที่พักเอาข้าวของเก็บอาบน้ำอาบท่า พวกเรา ๔ คนออกไปหาอาหารอร่อย ๆ มื้อเที่ยงที่หน้าโรงแรมกันเช่นเคยเตรียมตัวเข้าร่วมพิธีเปิดอย่างเป็นทางการของ Seminar on Dialysis Technology in Japan พิธีเปิดจัดอย่างหรูหราและเป็นพิธีการมากตามแบบฉบับของญี่ปุ่น



ห้องพักในโรงแรม Oasis Tower Oita


ชอบที่สุดก็ไอ้ส้วมอัตโนมัติแบบนี้


มื้อนี้ขอเป็นเทมปุระ ชุดนี้ราคา ๑,๗๕๐ เยน



พิธีเปิดเริ่มประมาณบ่าย ๒ โมง โดยมี Mr.Ichikawa ซึ่งเป็น Vice-President ของ JICA เป็นผู้กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิด จากนั้นมีการกล่าวต้อนรับโดย Mr.Fukushima Deputy Director-General, International Cooperation Bureau, Ministry of Foreign Affairs คงเป็นแนวกองความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศอะไรทำนองนั้น ต่อด้วย Mr.Kakudo ซึ่งเป็น Director, Medical and Assistive Device Industries Office, Ministry of Economy, Trade and Industry และ Mr.Hirose, Governor Oita Prefecture.


พิธีเปิดหรูหรามาก



ได้ติดธงไตรรงค์ที่ป้ายชื่อด้วย


ช่วงแรกต้องฟังล่ามแปล เพราะพิธีการพูดญี่ปุ่นล้วน ๆ


เมื่อเสร็จพิธีการเปิดและกล่าวต้อนรับแล้วก็เข้าสู่ภาควิชาการ โดยเริ่มจากการนำเสนอในหัวข้อ The Eastern Kyushu Medical Valley Initiative โดย Mr.Nishiyama, Director, Commerce, Industry and Labor Department, Oita Prefecture

และการนำเสนอในหัวข้อ Present Situation of Dialysis in Japan โดย Dr.Tomo, Deputy Director, Oita University Hospital, Blood Purification Center

เมื่อจบการบรรยายหัวข้อนี้ก็เป็นการพัก ช่วงนี้ผมได้มีโอกาสพบ Mr.Shirokaze ซึ่งเป็นผู้ที่เคยไปฟังผมบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบกองทุนโรคไตที่ สปสช.เมื่อต้นปี ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมเนียมญี่ปุ่นแกขอบคุณใหญ่เลยที่ผมต้อนรับแกอย่างดีและนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับ Eastern Kyushu Medical Valley จากการคุยกับผู้ที่มาร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้อีกหลาย ๆ คน ผมเลยถึงบางอ้อว่าทำไมผมถึงได้รับเชิญจาก JICA เพราะ Mr.Shirokaze ผู้นี้แกเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเครือ Asahi Kasei ซึ่งเป็นนายทุนใหญ่ให้ Eastern Kyushu Medical Valley และ JICA นั่นเอง

ช่วงสุดท้ายของพิธีการในวันนี้หลังจากพักเป็นการนำเสนอในหัวข้อ Present Situation of Dialysis in the Participant's Country จากผู้เข้าร่วม ๘ ประเทศ ในส่วนของประเทศไทยเรามอบให้คุณหมอสกานต์เป็นผู้นำเสนอ


คุณหมอสกานต์ จากราชวิถี เป็นผู้แทนนำเสนอสถานการณ์การบำบัดทดแทนไตของประเทศไทย โดนถามเยอะมากเพราะทุกคนสนใจนโยบาย PD First ของไทย


พี่จิโรจโดนนักข่าวสัมภาษณ์ เพราะเราประกาศนโยบาย PD First คือล้างไตทางช่องท้องก่อนทุกรายที่ไม่มีข้อห้าม



หลังจากพิธีเปิดและสิ้นสุดการนำเสนอของผู้เข้าร่วมจาก ๘ ประเทศแล้ว ประมาณ ๕ โมงครึ่งเกือบๆ ๖ โมงเย็นก็มีงานเลี้ยงต้อนรับ ซึ่งก็เป็นงานพิธีการอีกเช่นกัน มีการกำหนดว่าใครนั่งโต๊ะไหนตำแหน่งไหน เมื่อทุกคนเข้านั่งประจำที่แล้วฝ่ายเจ้าภาพก็จะทยอยกันลุกขึ้นมายื่นนามบัตรแนะนำตัวเราก็แลกนามบัตรกลับไป ที่ญี่ปุ่นนี่นามบัตรมีความสำคัญมากเจอกันครั้งแรกนี่ต้องรีบชักนามบัตรยิงใส่กันเลย เขาจัดให้ไปนั่งโต๊ะ VIP หมายเลข ๑ ผู้ร่วมโต๊ะคือ Mr.Katsusada Hirose ผู้ว่าการ Oita, Mr.Ichikawa Masakazu รองประธานมูลนิธิ JICA, Mr.Takanori Hayashi เจ้าหน้าที่จาก Oita Prefecture, นพ.จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์, Mr.Akira Fukushima รอง ผ.อ.จากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น, Dr.Yoshinobu Shinmori รองประธาน Oita Medical Association, Dr.Seigo Otano ประธาน Oita University และประธาน Japan Society for Endoscopic Surgery, Dr.Yout Savithri จากอินโดนิเซีย


Mr.Katsusada Hirose ผู้ว่าการ Oita กล่าวต้อนรับ


เจ้าภาพใหญ่ของการไปประชุมครั้งนี้ Mr.Ichikawa Masakazu รองประธานมูลนิธิ JICA ที่คุยกันถูกคอ

แกรินเบียร์ให้ตลอดเวลา เรียกว่าจิบปุ๊บริน จิบปุ๊บเติม


Mr.Takanori Hayashi เจ้าหน้าที่จาก Oita Prefecture, นพ.จิโรจน์ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์, Mr.Akira Fukushima รอง ผ.อ.จากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น


Dr.Yoshinobu Shinmori รองประธาน Oita Medical Association, Dr.Seigo Otano ประธาน Oita University และประธาน Japan Society for Endoscopic Surgery, Dr.Yout Savithri จากอินโดนิเซีย



จากนั้นก็เป็นพิธีการเริ่มด้วยการกล่าวต้อนรับจากเจ้าของบ้านคือ Mr.Hirose, Governor of Oita Prefecture ซึ่งเป็นผู้ที่มีอารมณ์ดี ต่อด้วยการนำดื่มอวยพรให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาโดย Mr.Kitano, President of Oita University และการกล่าวขอบคุณจากผู้แทนผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก ๘ ประเทศ ซึ่งคราวนี้เป็นหน้าที่ของคุณหมอจิโรจ เมื่อเสร็จพิธีการก็มีการเสิร์ฟอาหาร ระหว่างนั้นก็มีการแสดงฟ้อนรำแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่มีบรรดาคุณป้าออกมาร่ายรำอย่างสวยงาม





บนโต๊ะอาหารบรรยากาศเต็มไปด้วยไมตรีจิตร พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน จิบเหล้าสาเกกันอย่างสนุกสนาน ผมโชคดีที่ได้รับการจัดให้ร่วมโต๊ะกับ Mr.Hirose และ Mr.Ichikawa ผมบอก Mr.Hirose ไปว่าเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓ ผมเคยเดินทางมาที่ Beppu ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของ Oita Prefecture และชอบออนเซ็นมาก แกชอบใจใหญ่ลุกขึ้นยืน แกะเข็มกลัดที่เสื้อนอกแกมากลัดให้ผม เป็นเข็มกลัดรูปบ่อน้ำร้อนสัญญลักษณ์ของ Oita ซึ่งเป็นดินแดนของออนเซ็นที่มีชื่อที่สุด ผมเลยแซวไปว่าผมติดเข็มกลัดนี้แล้วสามารถไปออนเซ็นได้ฟรีทุกแห่งใน Oita หรือเปล่า เลยเฮกันทั้งโต๊ะ

งานเลี้ยงต้อนรับเลิกประมาณ ๓ ทุ่ม ก่อนงานเลิกสักครึ่งชั่วโมงก็เป็นช่วงที่เราลุกจากโต๊ะไปทักทายโต๊ะอื่น ๆ กัน


เข็มกลัด JICA และ Oita Prefecture


วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖ วันที่ ๓ บนเกาะ Kyushu ตื่นมาตอนอีก ๑๕ นาทีจะ ๖ โมง ฟ้าสว่างโร่แล้วเช่นเคย กินอาหารมื้อเช้าแล้วเราออกเดินทางไป Oita U. Hospital วัตถุประสงค์ของการไปก็เพื่อดูภาพรวมของหน่วยไตเทียมในด้านการบริหารจัดการน้ำจากเครื่องผลิตน้ำส่วนกลาง การทำงานของบุคลากร ๒ กลุ่มคือพยาบาลที่เน้นการพยาบาลเป็นหลัก และ clinical engineer ที่เน้นการดูแลเครื่องมือทางการแพทย์แต่สามารถให้การพยาบาลบางอย่างได้ โดยเฉพาะการแทงเข็มเข้าเส้นเลือดเพื่อทำการฟอกไต


ยามเช้าจากห้องพักมองเห็นทะเล


Mr.Fujioka กรรมการ Oita U. Hospital กล่าวต้อนรับ


Mr.Osashi คณบดีคณะแพทยศาสตร์ Oita U. กล่าวต้อนรับ


Prof.Nagushi ผ.อ.รพ.Oita U. นำชม Dialysis Unit


ห้องไตเทียม ชุดฟ้าคือ clinical engineer ดูแลเครื่องมือ และให้การพยาบาลบางอย่างได้เช่น แทงเข็มให้สารน้ำ


เครื่องไตเทียม ชุดขาวคือพยาบาล


บนดาดฟ้ามีเฮลิคอปเตอร์สำหรับรับผู้ป่วยฉุกเฉิน


ช่วงบ่ายเราเดินทางไปโรงงาน Kawasumi ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตอุปกรณ์สำหรับใช้งานกับเครื่องไตเทียมเช่นตัวกรอง ถุงเลือด ซึ่งทำจากสารโพลิเมอร์ที่ซื้อมาจาก Asahi Kazei


โรงงาน Kawasumi

ตัวกรองเครื่องไตเทียม


สายน้ำเกลือ


เดินทางกลับ เป็นธรรมเนียมของญี่ปุ่นที่เจ้าบ้านต้องมายืนเข้าแถวโบกมือส่ง


มีเวลาเขาเลยพาแวะชมเมืองเก่า Nioza ลุงมัคคุเทศก์อาสาสมัครประจำถิ่นบอกว่ามุมนี้เป็นมุมมหาชน เป็นฉากของภาพยนต์หลายเรื่องแล้ว


สมัยโบราณแถบนี้เป็นริมทะเล ตรงวงเวียนนี้คือบ่อน้ำจืดของเมือง


ลุงมัคคุเทศก์บอกว่ามองย้อนสวนทางลงไปเป็น signature ของถนนสายนี้



บ้านผู้มีอำนาจของเมืองในสมัยเอโดะ ต้องมีประตูบานใหญ่ตรงกลาง และมีประตูเล็ก ๒ ข้าง

พร้อมกับมีหน้าต่างเหนือประตู


มื้อเย็นจัดหนักเช่นเคย มื้อนี้ ๘๘๐ เยน



วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ วันนี้เราต้องเก็บกระเป๋าย้ายที่นอน หลังจากที่นอนที่ Oita ๒ คืน มีโปรแกรมไปเยี่ยมชม Matsuyama Clinic ที่มี Prof.Tomo เป็นหมอไตที่ปรึกษา แล้วจะเดินทางไปเมือง Nobeoka, Miyazaki



โรงแรมที่ซุกหัวนอน ๒ คืน

มื้อเช้าจัดหนักเพราะวันนี้เราจะเดินทางไกล ต้องกินมื้อเที่ยงบนรถ


กำหนดเดินทาง ๑๐ โมง เลยมีเวลาเดินรับแดดหลังมื้อเช้า


ฝั่งตรงข้ามโรงแรมมีร้าน Lawson ต้องซื้ออาหารเที่ยงไว้กินบนรถเลยพึ่งแซนด์วิช ซุปข้าวโพด และน้ำผลไม้จากที่นี่


หมอพม่าแกเนี๊ยบมาก ใส่สูทแต่คีบเกือกแตะ


ถ่ายรูปกับ Prof.Tomo

ถ่ายรูปหมู่ การไปดูงานคราวนี้จะได้รับเสื้อกาวน์คนละตัว เวลาไปคลินิกหรือโรงพยาบาลต้องใส่เสื้อกาวน์คลุมทุกครั้ง


ระหว่างทางถนนจะเป็นแบบนี้ และเข้าอุโมงค์เยอะมาก



หลังจากนั่งรถกันนานช่วงบ่ายเราก็ถึงที่หมายอีกแห่งคือ Dept. of Clinical Engineering, Kyushu U. of Health and Welfare ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตสาขา Clinical Engineering เราต้องไปศึกษาดูว่าวิชาชีพสาขานี้จะมีโอกาสทำงานอะไรในบ้านเราบ้าง เพราะบ้านเราจะมี พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆ เป็นตัวบังคับ แต่เราไม่รู้จักสาขานี้


Prof. Takezawa บรรยายสรุป


พวกนี้เป็น Professor สาขา Clinical Engineering ทุกคน จนผมสงสัยว่าญี่ปุ่นมันเอาอะไรมาเป็นตัวทำให้ได้เป็น Professor


สาธิตการทำงานของ Clinical Engineer กับเครื่องไตเทียม




หลังจากนั้นช่วงเย็นเราไปโรงงานของสปอนเซอร์รายใหญ่คือ Asahi Kazei ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตวัสดุโพลิเมอร์รายใหญ่ที่มีผลิตภัณฑ์ส่งไปขายโรงงานที่ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วประเทศญี่ปุ่น


Mr.Yamamoto ประธานบริษัท Aszhi Kazei กล่าวต้อนรับ


ประชาสัมพันธ์สาวนำชมผลิตภัณฑ์ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ



นอกจากอุปกรณ์ทางแพทย์ ก็ยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วย




ตอนค่ำมีงานเลี้ยงต้อนรับโดย Nobeoka City, Miyasaki Mr.Masaharu Sudo นายกเทศมนตรีกล่าวต้อนรับ


ถ่ายกับ Mascot ของ Nobeoka City


รูปหมู่ของมวลมนุษยชาติที่ไปดูงานด้วยกันครั้งนี้



วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ตื่นเช้ามาสูดอากาศ Nobeoka แล้วกินอาหารเช้า วันนี้เรามีโปรแกรมเช้าไปโรงงาน Medikit ซึ่งผลิต catheter หรือเข็มแบบต่าง ๆ แล้วช่วงบ่าย ไปU. of Miyazaki Hospital ซึ่งเป็นสถาบัน Affiliate กับคณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์


เราพักที่นี่


ยามเช้าของโนบิโอกะ เงียบสงบ มีแต่เด็กนักเรียนเดิน และขี่จักรยานไปโรงเรียน


ย่านที่ตั้งของโรงแรมมีสะพานขนานกัน ๓-๔ สะพาน


ประธานบริาัท Medikit กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุป


catheter ของ Medikit


อุปกรณ์สำหรับฝึกแทงเข็ม


แวะกินมื้อเที่ยง ทีมไทยจัดหนักเช่นเคย


Miyazaki Nanban เป็นไก่ชุบแป้งทอดราดซ๊อสมัสตาร์ด เป็น signature food ของมิยาซากิ ชุดนี้ราคา ๗๘๐ เยน


Dr.Ikenoue คณบดีกล่าวต้อนรับและนำชม


เต๊ะจุ๊ยบนเฮลิคอปเตอร์สักหน่อย


คืนนี้พักที่นี่




วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ วันนี้จะเป็นวันที่มีการประชุมสรุปการดูงานครั้งนี้ของแต่ละประเทศ ผมตื่นเช้าเดินไปตามเส้นทางที่เล็งไว้ตั้งแต่เมื่อวาน เพื่อไปออนเซ็น ทริปนี้วันนี้เป็นวันเดียวที่ได้ออนเซ็น



คุณหมอสกานต์เป็นผู้สรุป เรา ๓ คนคอยตอบคำถาม


ใคร ๆ ก็สนใจเรื่องของประเทศไทย เพราะเราเป็นผู้นำเรื่อง PD First มันย้อนแย้งกับการทำ HD ของบ้านเขา


ตอนเราไปโรงงาน Medikit เราถามแกเยอะ แถมผมเป็นคนกล่าวขอบคุณ แกเลยมาถามกลับเยอะมากว่าทำไมเราไม่ใช้ hemodialysis


สปอนเซอร์ใหญ่ Shirokaze san ถามบ้าง


ถึงจะโดนคำถามมาก แต่พวกเราก็ยังยิ้ม ยังหัวเราะ บรรยากาศมิตรภาพไม่เครียด


หลังจากนั้น Mr.Katsuta Director General JICA เป็นผู้มอบประกาศนียบัตร ก่อนมอบท่านจะเปิดอ่านชื่อแล้วมอบให้ทุกคน เป็นการสิ้นสุดการดูงานในครั้งนี้




วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ เราก็ออกเดินทางด้วยสายการบิน ANA เที่ยวบินในประเทศจากสนามบิน Miyazaki ไปสนามบิน Narita



check in JAL business class เหมือนตอนขามา

นั่ง Monorail ไปที่ Gate



ได้กลับบ้าน จบภารกิจดูงานภายใต้ทุน JICA




Comentários


เว็บไซต์นี้จัดทำเพื่อรวบรวมรายชื่อทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ตันเตียงสิ่น)ทุกสายสกุล และมีเรื่องราวต่าง ๆ ของตระกูลและท้องถิ่น รวมถึงนานาสรรพสาระต่าง ๆ

bottom of page