top of page

๘๗.รังสีรักษา

  • รูปภาพนักเขียน: drpanthep
    drpanthep
  • 17 ต.ค. 2566
  • ยาว 1 นาที

อีกโรคที่อยู่ในความรับผิดชอบของผมคือมะเร็ง ผมยังไม่เคยเล่าเรื่องมะเร็ง เพราะมันเป็นโรคร้ายแรงที่หลายคนไม่อยากคิดถึงมัน มะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย แล้วแต่ว่าจะเป็นเซลล์ของอวัยวะใด พวกเราแบ่งมะเร็งเป็น ๒ กลุ่มคือกลุ่มมะเร็งก้อน กับกลุ่มมะเร็งน้ำ มะเร็งก้อนก็เป็นมะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ เช่นมะเร็งปอด มะเร็งตับ ส่วนมะเร็งน้ำก็เป็นมะเร็งของระบบเม็ดเลือด

การรักษามะเร็งมีหลายวิธีตั้งแต่การผ่าตัด การให้เคมีบำบัดหรือที่เรียกว่าให้คีโม การให้รังสีรักษาหรือที่เรียกว่าฉายแสง การให้ฮอร์โมนบำบัด การให้ภูมิคุ้มกันบำบัด วันนี้จะเล่าเรื่องรังสีรักษาหรือการฉายแสง ซึ่งเป็นการใช้รังสีไปทำลายเซลล์มะเร็งเพื่อหยุดการเจริญเติบโตหรือหยุดการลุกลามของเซลล์มะเร็ง

ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ความสำคัญกับคุณภาพของการให้รังสีรักษา หลายคนแม้แต่ผู้บริหารระดับสูง สปสช.บางคนที่เป็นหมอไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับมัน ก็แค่มีเครื่องมือครบถ้วนมีบุคลากรที่ใช้อุปกรณ์เหล่านั้นก็น่าจะให้การรักษาผู้ป่วยได้แล้ว ผมจะเล่ากระบวนการในการให้รังสีรักษาว่ามันเป็นอย่างไร


ในอดีตการให้รังสีรักษาหรือการฉายรังสีไปทำลายเซลล์มะเร็งเราใช้รังสีโคบอลท์ซึ่งเป็นกัมมันตรังสีที่เกิดจากสารโคบอลท์-๖๐ แต่ปัจจุบันด้วยวิทยาการที่ทันสมัยทางการแพทย์หันไปใช้รังสีเอ็กซ์หรือเอกซเรย์นั่นแหละเป็นตัวทำลายเซลล์มะเร็ง แต่รังสีเอ็กซ์นี้มีปริมาณของรังสีมากกว่าการถ่ายภาพรังสีอวัยวะต่าง ๆ หลายเท่า เครื่องผลิตรังสีเอ็กซ์เพื่อให้รังสีรักษาเรียกว่าเครื่อง LINAC มาจากคำว่า Linear Accelerator หลักการทำงานของ LINAC คือใช้คลื่นไมโครเวฟเร่งความเร็วอนุภาคอิเลกตรอนให้มีความเร็วสูงพุ่งเข้าชนเป้าที่เป็นโลหะหนัก เกิดการถ่ายเทพลังงานออกมาเป็นรังสีเอ็กซ์ที่มีพลังงานสูง รังสีเอ็กซ์จะถูกบีบให้ผ่านอุปกรณ์ที่จำกัดการกระจายรังสีให้เกิดเป็นลำแสงเรียกว่าคอลลิเมเตอร์ (Collimator) เพื่อพุ่งเป้าไปที่ก้อนมะเร็ง ปัจจุบันวิทยาการก้าวหน้าไปจนเป็นคอลลิเมเตอร์ที่ทำด้วยทังสเตนหลายชิ้นขยับเคลื่อนที่ได้เพื่อให้เกิดการพุ่งของรังสีไปได้แม่นยำ เรียกว่า Multileaf Collimator ทำให้รังสีเอ็กซ์มีผลต่อเซลล์เนื้อเยื่อข้างเคียงก้อนมะเร็งน้อยหรือไม่เกิดผลกระทบเลย เรียกว่าตัวรังสีแทบจะทำลายเป้าหมายคือเซลล์มะเร็งเท่านั้น ฟังดูเหมือนการให้รังสีรักษาจะง่าย ๆ ก็แค่เอาเครื่อง LINAC ที่มี Multileaf Collimater ยิงรังสีเอ็กซ์ไปที่ก้อนมะเร็งก็จบ แต่ไม่เป็นอย่างที่คิดครับ เรามาดูกันต่อ


กระบวนการให้รังสีรักษาจะมีบุคคลากร ๓ วิชาชีพที่มีความสำคัญต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมนั่นคือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษา นักฟิสิกส์การแพทย์ และนักรังสีเทคนิค ขั้นตอนเริ่มด้วยการนำผู้ป่วยที่ต้องรับรังสีรักษาไปเข้าเครื่อง CT Simulator ซึ่งก็คล้ายเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่จำนวนความละเอียดจะน้อยกว่าคือถ่ายถาพได้ ๑๖ ภาพต่อการหมุน ๑ รอบ ที่เรียกว่า 16-slice image ในขณะที่ปัจจุบันเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคจะมีความละเอียด ๑๒๘ หรือ ๒๕๖ ภาพต่อการหมุน ๑ รอบ (128-slice, 256-slice)

แพทย์ด้านรังสีรักษาจะนำภาพที่ได้จาก CT Simulator ไปวาดขอบเขตของก้อนมะเร็งที่ต้องการให้รังสีเอ็กซ์ไปทำลาย แล้วคำนวณว่าต้องการปริมาณรังสีทั้งสิ้นกี่ Gray (Gy)


เครื่อง CT Simulator

จากนั้นนักฟิสิกส์การแพทย์จะนำภาพที่แพทย์วาดเส้นกำหนดขอบเขตของบริเวณที่ต้องการให้ได้รับรังสีแล้วไปคำนวณหาเส้นทางที่จะให้รังสีผ่าน โดยการใช้เจ้า Multileaf Collimator เป็นตัวช่วยให้รังสีพุ่งไปที่เป้าหมายที่ต้องการเท่านั้น ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพราะนักฟิสิกส์ทางการแพทย์จะต้องออกแบบแนวยิงหลาย ๆ แบบ แล้วคำนวณว่าแบบไหนเป็นแนวที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยรายนั้น เรียกว่าผู้ป่วยแต่ละคนก็จะมีแนวยิงรังสีต่างกัน เมื่อนักฟิสิกส์รังสีคำนวณปริมาณรังสีตามที่แพทย์ระบุและได้เส้นทางแนวยิงรังสีเรียบร้อยแล้วข้อมูลจะถูกส่งไปยังนักรังสีเทคนิคซึ่งเป็นผู้ควบคุมเครื่อง LINAC


การคำนวณของนักฟิสิกส์ทางการแพทย์


การคำนวณแนวยิงรังสีโดยนักฟิสิกส์ทางการแพทย์

นักรังสีเทคนิคจะตั้งเครื่องให้ทำงานตามที่นักฟิสิกส์การแพทย์ออกแบบไว้ แล้วนำเครื่องวัดปริมาณรังสีไปวางจำลองตำแหน่งของผู้ป่วย จากนั้นก็ปล่อยรังสีตามที่กำหนด แล้วอ่านค่าปริมาณรังสีจากเครื่องวัดว่าถูกต้องตรงตามที่ต้องการหรือไม่ หากไม่ตรงก็ต้องส่งกลับไปให้นักฟิสิกส์การแพทย์ออกแบบใหม่ จนได้ค่าที่ต้องการแม่นยำ จึงจะเริ่มนำผู้ป่วยมารับรังสีรักษาจริง


หน้ากากสำหรับเล็งจุดฉายแสงคนไข้มะเร็งของบริเวณศีรษะและคอ


ผู้ป่วยกำลังได้รับการจัดท่าบนเครื่อง LINAC


จากกระบวนการที่เล่ามานี้จะเห็นว่ามีความยุ่งยากพอสมควรทั้งแพทย์ นักฟิสิกส์การแพทย์ และนักรังสีเทคนิคต้องมีความชำนาญมากพอสมควรจึงจะทำให้การให้รังสีรักษามีคุณภาพ การให้รังสีรักษาเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น ไม่เกิดผลทันทีทันใดหรือภายในระยะเวลาอันสั้น ความผิดพลาดจากการให้รังสีรักษาจะไปส่งผลต่อผู้ป่วยในระยะยาว ทีมจึงต้องมีความรู้ความชำนาญ มีความแม่นยำในการกำหนดเป้า ปริมาณรังสี และแนวยิงรังสี

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ สปสช.จึงต้องให้ความสำคัญกับการประเมินศักยภาพหน่วยบริการเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนคนไทยมั่นใจว่าหากวันใดตนเองหรือญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องรับรังสีรักษาจะเป็นบริการที่มีคุณภาพ ทำให้ผลการรักษาได้ผลดีและไม่มีความผิดพลาดจากการให้รังสีรักษา

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
๙๒. วิกฤติบัตรทองใน กทม. พ.ศ.๒๕๖๓

วิกฤติบัตรทอง กทม. ช่วงนี้คงจะเห็นข่าวความวุ่นวายที่เกิดกับประชาชน กทม.ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง...

 
 
 
๙๑.ก่อนจะเป็น CA anywhere

วันนี้มีคนแอบกระซิบถามผมว่าอาจารย์รู้จักกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนนี้ใช่ไหม ผมตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่าใช่ผมรู้จักหมอหนู อนุทิน...

 
 
 

Comments


เว็บไซต์นี้จัดทำเพื่อรวบรวมรายชื่อทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ตันเตียงสิ่น)ทุกสายสกุล และมีเรื่องราวต่าง ๆ ของตระกูลและท้องถิ่น รวมถึงนานาสรรพสาระต่าง ๆ

bottom of page