คำให้การเด็กหัวตลาด ตอนที่ ๙๐ อุทิศตนเพื่อคนบนฟ้า
- drpanthep
- 29 ม.ค. 2566
- ยาว 2 นาที
วันนี้เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของล้นเกล้าฯ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ผมมีโอกาสได้ทำความดีเล็ก ๆ น้อย ๆ คือทำหน้าที่พนักงานโลจิสติกส์นำสินค้าคืออุปกรณ์ทางการแพทย์จากสนามบินดอนเมืองไปส่งให้ผู้รับปลายทางที่สนามบินบ่อทอง ปัตตานี

ก่อนอื่นต้องเท้าความถึงเรื่องราวแต่ปางก่อนเสียก่อน ช่วงที่โควิดระบาดหนักในพื้นที่ กทม.จนโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอต่อการรับผู้ป่วยเข้ารักษา จึงมีการจัดบริการผู้ติดเชื้อโควิดที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการด้วยการให้ดูแลตนเองที่บ้านภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของทีมแพทย์พยาบาล ที่เรียกกันว่า Home Isolation หรือ HI สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้จับมือกับมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี หรือ IHRI ในการจัดบริการ HI สำหรับผู้ติดเชื้อที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง เพราะทาง IHRI มีความพร้อมด้านกำลังเจ้าหน้าที่พยาบาล แต่การดูแล HI จำเป็นต้องมีแพทย์ร่วมด้วย ทาง IHRI จึงขอความร่วมมือจากราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รับสมัครแพทย์อาสาสมัครเข้าเป็นทีมดูแล HI
แต่เมื่อเริ่มดำเนินการรับผู้ป่วยเข้า HI ผู้ที่รับผิดชอบในการจัดระบบโอนผู้ที่โทร.หา call center บัตรทอง ๑๓๓๐ เพื่อให้หาเตียงรับไว้รักษาทุกรายไปให้ทาง IHRI เมื่อทีมแพทย์อาสาติดต่อสอบถามอาการพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนเพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น แต่ขั้นตอนของ HI ไม่มีการพูดถึงการให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย เพราะเน้นกลุ่มที่อาการน้อยหรือไม่มีอาการ
แพทย์อาสากลุ่มหนึ่งจึงช่วยกันจัดหาออกซิเจนจากผู้บริจาคต่าง ๆ จัดส่งไปให้ผู้ป่วย HI ที่จำเป็นต้องได้รับออกซิเจน แพทย์อาสากลุ่มนี้มีหมอวอลซ์ ฐิติกาญจน์ วังอาภากุล ประสาทศัลยแพทย์ รพ.ยะลา ลูกหลานคนตานี ที่เข้ามาฝึกอบรมเพิ่มเติมด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่ รพ.รามาธิบดีเป็นหัวหอกจัดหา และจัดส่งออกซิเจนไปตามบ้านผู้ป่วย ช่วงแรกใช้บริการของศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิดของกองทัพบกเป็นกำลังในการขนส่งถังออกซิเจนขนาดใหญ่ ส่งกำลังพลและรถยนต์จากศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบกมาช่วย แต่ภารกิจของหน่วยงานดังกล่าวเยอะมาก เพราะต้องดูแลขนย้ายผู้ป่วยตามโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามด้วย จึงมีการรับอาสาสมัครอื่น ๆ แต่การขนถังออกซิเจนไปบ้านผู้ป่วยมันเป็นความเสี่ยง หากเป็นทีมที่ไม่ได้ฝึกสอนเรื่องการป้องกันโรคกันให้ดีอาจจะเกิดการติดเชื้อได้ หมอวอลซ์ปรึกษากับผมว่าจะทำอย่างไรดี ผมก็เลยให้ทศ ทศพร คณานุรักษ์ น้องชายผมติดต่อโดยตรงไปที่บิ๊กบี้ พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.ที่เป็นเพื่อนเรียนสมัยมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ท่าน ผบ.ทบ.บอกว่าเมื่อประชาชนเดือดร้อนทหารต้องทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือ ท่านจึงสั่งการให้หน่วยงาน ทบ.อื่น ๆ ที่ไม่ใช่หน่วยขนส่งโดยตรงเช่นกรมสรรพาวุธทหารบก กรมทหารสื่อสารทหารบก กรมยุทธโยธาทหารบก ผลัดเปลี่ยนเข้ามาช่วยทีมหมอวอลซ์จัดขนถังออกซิเจนไปบ้านผู้ป่วยและขนถังเปล่ากลับไปเติม กำลังพลเหล่านี้จะออกปฏิบัติการในเวลากลางคืนทุกคืนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจราจร และลดการพบปะผู้คนโดยไม่จำเป็น ทหารทุกนายจะได้รับชุด PPE เต็มยศ และมีการสอนการสวมการถอดทิ้งอย่างปลอดภัย กำลังพลเหล่านี้ได้ช่วยทีมหมอวอลซ์จนสถานการณ์คลี่คลายลง
มาถึงช่วงนี้มีการระบาดหนักของโควิดในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ รายต่อวันทั้ง ๓ จังหวัด ทำให้ขาดแคลนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่สำคัญ โดยเฉพาะเครื่องผลิตออกซิเจน หมอวอลซ์ขาใหญ่ก็ไปหาบริจาคมาจากหลาย ๆ แห่งเช่น IHRI มูลนิธิกระจกเงา เพจอีจัน เรื่องเล่าเช้านี้ ได้เครื่องผลิตออกซิเจนมาประมาณ ๑๘๐ เครื่อง เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ๕๐๐ เครื่อง แมสก์ครอบและสายออกซิเจนอีก ๑,๐๐๐ ชุด ยังมีถุงยังชีพสำหรับแจกผู้ป่วย HI ชุด PPE แมสก์ ถุงมือ และของจิปาถะอีกหลายอย่าง
การจัดส่งหมอวอลซ์ไปติดต่อบริษัทไหนมาก็ไม่ทราบคิดค่าขนส่ง ๔๐,๐๐๐ บาท ทศเลยถามว่าใช้รถกี่คันจะขออนุเคราะห์รถกองทัพบกหมอวอลซ์บอกว่าคันเดียวไม่น่าจะพอ ทศเลยลองถามไปทางท่าน ผบ.ทบ.ว่าขนทางเครื่องบินได้หรือเปล่า แป๊บเดียวท่านตอบมาว่าได้เลยครับ จากนั้นก็มีการประสานระหว่างหมอวอลซ์กับ เสธ.บิ๊ก พ.อ.สาธิต ดาวทอง ซึ่งได้รับมอบหมายจากพลตรีจินตมัย ชีกว้าง ผู้อำนวยการสำนักกิจการพลเรือนทหารบก ทำการนัดแนะกับศูนย์การเคลื่อนย้าย กองทัพบก เพื่อจัดรถยนต์ไปรับของจากแหล่งที่หมอวอลซ์ไปรับบริจาคมา ๗ จุด และจัดเครื่องบิน C-295 จากฝูงเครื่องบิน กองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้าย กองทัพบก จะเดินทางจากสนามบินกองทัพอากาศ ดอนเมือง ไปยังสนามบินกองทัพอากาศ บ่อทอง ปัตตานี ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น.
วันที่ ๑๓ ตุลาคม หมอวอลซ์ดันติดเวร ๔ โมงเย็น มีคนว่างงาน ๒ คนคือผมกับทศ เลยให้ผมช่วยทำหน้าที่พนักงานส่งของไปกับเที่ยวบินพิเศษ ส่วนทศทำหน้าที่ช่างภาพประจำเที่ยวบิน ผมกับทศไปแวะกินมื้อเที่ยงที่คลับเฮาส์สนามกอล์ฟกานตรัตน์แล้วเข้าไปที่ฝูงเครื่องบิน กองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก ซึ่งอยู่ในพื้นที่สนามบินกองทัพอากาศ ดอนเมืองตรงข้ามคลับเฮาส์สนามกอล์ฟ เข้าไปถึงตกใจมากไม่คิดว่าจะเป็นงานใหญ่โต โอ้โห! เต็มไปด้วยนายทหารในเครื่องแบบยศนายพล นายพัน กำลังควบคุมทหารขนของขึ้นเครื่องบิน งานนี้พลตรีธนเสฏฐ์ ใจอารี ผบ.ศูนย์การเคลื่อนย้าย กองทัพบก ท่านมาด้วยตนเอง ท่านบอกว่าได้รับสายตรงจาก ผบ.ทบ.ให้มาอำนวยความสะดวก นอกจากนั้นก็มีเสธ.บิ๊ก มาคอยประสานงาน

ไปถึงลานจอดเครื่องบิน นายทหารเพียบ

C-295 ที่ใช้ขนส่งสัมภาระ

ผบ.ธนเสฏฐ์ ควบคุมการจัดเรียงสัมภาระด้วยตนเอง

เสธ.บิ๊ก พ.อ.สาธิต ดาวทอง ผู้ประสานจากสำนักกิจการพลเรือนทหารบก
ระหว่างการขนสัมภาระขึ้นเครื่องบินมีการชั่งน้ำหนักทุกชิ้นเพื่อหาน้ำหนักรวม เพราะเครื่องบิน C-295 เป็นเครื่องบินใบพัดรับน้ำหนักสัมภาระได้ ๕ ตัน สรุปว่าสัมภาระที่ขนไปวันนี้ ๓.๙๘ ตัน แต่จำนวนชิ้นของสัมภาระเยอะมาก และมีรูปทรงต่าง ๆ นานาทำให้จัดเรียงยาก ของบางชิ้นเช่นเครื่องผลิตออกซิเจนก็วางนอนวางซ้อนทับกันไม่ได้ เลยเต็มพื้นที่พอดี งานนี้ พ.อ.ชูพงษ์ โอบอ้อม นักบินประจำเครื่องท่านต้องยืนกำกับด้วยตนเอง เพราะตอนที่เห็นสัมภาระทั้งหมดก็ลุ้นกันว่าจะขนเที่ยวเดียวหมดหรือเปล่า ก็ขนหมดจนได้ครับเรียกว่าอัดกันสุด ๆ เมื่อขนสัมภาระเสร็จเจ้าหน้าที่ก็ลากเครื่องบิน C-295 จากลานจอดออกไปรันเวย์

ชั่งน้ำหนักสัมภาระแต่ละชิ้น

หมอวอลซ์มาดูให้แน่ใจว่าพนักงานส่งของไม่เบี้ยวงาน

กล่าวอำลาและขอบคุณนายทหารที่มาช่วยอำนวยความสะดวก ท่าน ผบ.ธนเสฏฐ์เดินไปส่งและขึ้นไปแนะนำรายละเอียดของเครื่องบินซึ่งเป็นแบบพิเศษมีห้องน้ำเหมือนเครื่องบินโดยสาร ขึ้นบันไดหน้าไปจะมีที่นั่งแบบเก้าอี้โดยสารเพียง ๔ ที่นั่ง ฝั่งละ ๒ ที่นั่ง อยู่หลังห้องนักบิน และมีที่นั่งแบบพับหันหลังชนห้องนักบินอีก ๑ ที่นั่ง ด้านหลังจะเป็นพื้นที่ว่างมีเก้าอี้พับนั่งหันหน้าเข้าหากัน ๒ ด้านแบบที่เราเห็นภาพทหารพลร่มนั่งเรียงกัน ท้ายเครื่องเป็น ramp หรือทางลาดสำหรับขึ้นลงและขนสัมภาระ ซึ่งวันนี้มีสัมภาระวางเต็มจนถึง ramp เที่ยวบินนี้มีนักบิน นักบินผู้ช่วย และมีช่างเครื่องอีก ๓ นาย ในห้องนักบินจะมีนักบิน นักบินผู้ช่วยและช่างเครื่อง ๑ นาย ส่วนช่างเครื่องอีก ๒ นาย นั่งคุมท้ายเครื่องทำหน้าที่ควบคุมการปิดเปิด ramp

หมอวอลซ์ไปส่งที่เครื่อง

นักบิน นักบินผู้ช่วย และช่างเครื่องตรวจความเรียบร้อยก่อนออกเดินทาง

ผบ.ธนเสฏฐ์ และคณะยืนรอส่ง

มีเก้าอี้โดยสาร ๔ ที่นั่งเท่านั้น ด้านหลังคือสัมภาระที่ขนไปครั้งนี้

ที่นั่งแถวหลัง พับได้
เครื่องบินแท๊กซี่ไปตามรันเวย์เพื่อตั้งลำ ผู้พันโก้ พ.อ.ชูพงษ์เร่งเครื่องเหินทะยานขึ้นเวลา ๑๓.๐๐ น.ตรงตามกำหนดเป๊ะ ถึงจะเป็นเครื่องบินใบพัดแต่นิ่มมาก ไม่รู้สึกสั่น แต่มีเสียงดังกว่าเครื่องไอพ่นโดยสารเล็กน้อย การปฏิบัติของผู้โดยสารมีแค่รัดเข็มขัดตามสัญญาณไฟ ไม่ต้องปิดโทรศัพท์ เนื่องจากเพดานบินต่ำกว่าเครื่องบินโดยสารระหว่างเดินทางบางช่วงสามารถจับสัญญาณโทรศัพท์ส่งไลน์ติดต่อภาคพื้นดินได้ ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง ระหว่างนั้นก็สอดส่องภายในเครื่องบิน ทัศนียภาพภายนอกไปเรื่อยเป็นการฆ่าเวลา ตลอดการเดินทางสภาพอากาศดีมากไม่เจอคลื่นลม ไม่เจอฝน เราบินลัดเลาะอ่าวไทย ผมนั่งด้านขวาของเครื่องบิน เป็นฝั่งที่จะเห็นพื้นดิน มองลงไปด้านล่างเจอน้ำทะเล นาน ๆ จะเห็นผืนแผ่นดิน แต่คนตกภูมิศาสตร์ตกแผนที่อย่างผมบอกไม่ได้ว่าที่เห็นตรงนั้นคือแถวไหน

เครื่องแท๊กซี่ไปตามรันเวย์

เครื่องเทคออฟ เห็นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว

อุปกรณ์ความปลอดภัย ถังน้ำดับเพลิง ถังน้ำยาเคมีดับเพลิง และถังออกซิเจนพร้อมแมสก์สำหรับช่วยหายใจ

นั่งถ่ายรูปคนละด้าน

นั่งนานเปลี่ยนที่นั่งดีกว่า

แอบดูวิวของนักบิน

ไม่ได้ลองกดชักโครกว่าลมดูดดีหรือเปล่า
จนผ่านไปเกือบ ๒ ชั่วโมงก็เริ่มเห็นแผ่นดิน คราวนี้ผมรู้จักว่านั่นคือแหลมตาชี ปัตตานีบ้านผม เราบินมาถึงปัตตานีแล้ว เส้นทางบินขนานไปกับแม่น้ำปัตตานีไปจนถึงกรือเซะจนถึงแถวปูยุดก็เลี้ยวขวาไปตามถนนหมายเลข ๔๓ ผ่านวงเวียนมะพร้าวต้นเดียว แล้วลดเพดานบินลงแตะรันเวย์สนามบินบ่อทองแบบนิ่งสุด ๆ ตอน ๑๕.๐๐ น. ใช้เวลาเดินทาง ๒ ชั่วโมงเป๊ะ อืม! ผมกลับมาเหยียบแผ่นดินปัตตานีอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่บอกใครที่ปัตตานีเลย เพราะกลัวจะมีคนไปชูป้ายไฟต้อนรับแล้วเอาเชื้อโควิดไปติดผม

อ้าว! ใบพัดไม่หมุน

เห็นแหลมตาชีแล้ว


ปากน้ำปัตตานี

เดี๋ยวนี้แผ่นดินมันงอก ปากน้ำเกือบจะชนกับแหลมตาชีแล้ว
มีทีมจาก รพ.ยะลา รพ.นราธิวาส รพ.สุไหงโกลก มารอรับสัมภาระ มีคุณหมอแป๋ว พญ.นันทกา เทพาอมรเดช ประสาทศัลยแพทย์ รพ.ยะลา หัวหน้าหมอวอลซ์ เจ้าของรางวัลแพทย์ดีเด่นหลายรางวัลเป็นหัวหน้าทีมมาเอง ใช้เวลาขนสัมภาระลงจากเครื่องเกือบ ๑ ชั่วโมง ในระหว่างนั้นเครื่องบินเราก็เติมน้ำมันเตรียมเดินทางกลับ มีทีมข่าวจาก กอ.รมน.ส่วนหน้าปัตตานีมาขอสัมภาษณ์ผม ก็โม้ไปตามเรื่องตามราว

เปิด ramp เตรียมขนสัมภาระ

ทหารอากาศที่สนามบินบ่อทองนำรถฟอร์คลิฟท์กับพาเล็ตมาขนของ

ระหว่างนั้นก็เติมน้ำมันให้เครื่องบินไปด้วย

ขนกันคนละไม้คนละมือ

เดินทำเฒ่า ห้ามอยู่นิ่งเดี๋ยวเชื้อโควิดปลิวมาเกาะ

เมื่อไหร่จะหมด

หมดลำแล้ว กลับได้แล้ว
ก่อนกลับคุณหมอแป๋วนำสะเต๊ะไก่ สะเต๊ะเนื้อพร้อมด้วยนาซิกาเป๊ะและรอเยาะ ชาชักมาฝากทีมนักบินและช่างเครื่อง ผู้พันโก้พาเครื่องขึ้นจากสนามบินบ่อทองตอน ๑๖.๐๐ น. ขากลับออกจากบ่อทองได้ไม่นานเจอสภาพอากาศไม่ดีแป๊บเดียวก็เป็นปกติ เราถึงสนามบินกองทัพอากาศดอนเมือง ๑๘.๐๕ น. ใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับ ๔ ชั่วโมง ขนสัมภาระลงอีก ๑ ชั่วโมง เป็นอันสิ้นสุดภารกิจ

เดี๋ยวก็ถึงบ้านแล้ว

ดูแสงแดดยามเย็นไปเรื่อย ๆ

สะเต๊ะ น้ำลายไหลเลย

มีรอเย๊าะด้วย
ก่อนแยกย้ายกันกลับผู้พันโก้ถามว่าคุณหมอติดต่อใช้เครื่องบินผมได้อย่างไร เพราะตอนที่ผมได้รับแจ้งว่าให้นำเครื่องไปบ่อทอง ผมถามไปทางกรมกิจการพลเรือนทหารบกไม่ได้รายละเอียดอะไรเลย ผมก็งงว่ามันเป็นวันหยุด ที่ไหนได้เจอ ผบ.ธนเสฏฐ์มาควบคุมด้วยตัวเองบอกว่าจะมีคุณหมอเดินทางไปด้วย งานนี้เป็นงานช้างแล้ว เลยหัวเราะกันว่าน้องชายผมเขาสายตรงท่าน ผบ.ทบ.ในฐานะเพื่อน พอท่านรู้ว่าเป็นงานช่วยประชาชนท่านก็ไฟเขียวให้เหมือนที่เคยให้ความอนุเคราะห์ก่อนหน้านี้ เพราะนโยบายท่านคือประชาชนต้องมาก่อนเสมอ ผู้พันโก้เลยทิ้งท้ายว่ายินดีให้บริการนะครับ

ถึงแล้ว

ประตูโรงจอด


ขอถ่ายภาพร่วมกับทีมนักบินและช่างเครื่อง

ทศ ผู้ประสานขอความอนุเคราะห์จาก ผบ.ทบ. และทำหน้าที่ช่างภาพตลอดการเดินทางปฏิบัติภารกิจ
ภารกิจครั้งนี้ต้องยกความดีให้หมอวอลซ์ ฐิติกาญจน์ วังอาภากุล ที่มีจิตสาธารณะคิดถึงความเดือดร้อนของผู้ป่วย และความยากลำบากในการปฏิบัติภารกิจของทีมการแพทย์การพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย จึงใช้หลักการประสาน ๑๐ ทิศ ทำให้ได้รับบริจาคเครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด และเวชภัณฑ์อื่น ๆ ส่งไปช่วยเหลือ ๓ จังหวัดภาคใต้ในนามของภาคอาสาสมัคร ก่อนที่ทางราชการจะได้จัดส่งความช่วยเหลือต่อไปตามหน้าที่
ต้องขอบคุณพลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ยึดนโยบายประชาชนต้องมาก่อนเสมอ เมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนกองทัพบกต้องรีบเข้าช่วยเหลือ จึงให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนทีมอาสาสมัครในการดูแลผู้ป่วยผู้ติดเชื้อโควิดมาตลอด
ต้องขอบคุณกำลังพลกองทัพบกทุกฝ่ายทุกระดับโดยเฉพาะสำนักกิจการพลเรือนทหารบก และศูนย์การเคลื่อนย้าย กองทัพบก
บันทึกเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๔
تعليقات