๒.ปฐมบท
- drpanthep
- 20 พ.ย. 2566
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 21 พ.ย. 2566
…..ชายวัยกลางคนผมขาวแซมผมดำสวมแว่นสายตานั่งอยู่ในภวังค์หลับตาครุ่นคิดถึงเรื่องราวของตนเองที่ผ่านมาตั้งแต่ครั้งอดีต…..
เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๔ เด็กชายคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมา ณ โรงพยาบาลนราธิวาส พื้นเพเดิมของครอบครัวเป็นคนปัตตานี แต่พ่อมาช่วยป้าดูแลธุรกิจร้านขายอาวุธปืนและปั๊มน้ำมันที่นราธิวาส เด็กน้อยจึงลืมตาดูโลกครั้งแรกที่นราธิวาส แต่ด้วยการมองการณ์ไกลของพ่อใบ ทร.๐๙ หรือสูติบัตรของเด็กชายผู้นี้จึงระบุไว้ว่านางเครือมาศ รัตนดากุล ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองปัตตานีได้รับแจ้งการเกิดของ ปานเทพ คณานุรักษ์ เพศชาย สัญชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๐๔ เวลา ๑๗.๐๗ น. ตรงกับวันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีฉลู ณ บ้านเลขที่ ๒๙ ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง ปัตตานี เพราะหลังจากนั้นอีกไม่กี่ปีครอบครัวก็ย้ายกลับไปปัตตานี

ความทรงจำเกี่ยวกับนราธิวาสมีน้อยมาก เพราะยังเด็กมาก ที่จำได้แม่นคือที่บ้านเป็นบ้านห้องแถวแม่เปิดเป็นร้านเสริมสวยติดกันด้านซ้ายเป็นสำนักงานเศรษฐการจังหวัดหรือที่เดี๋ยวนี้เรียกว่าพาณิชย์จังหวัด จากหน้าร้านเสริมสวยแม่มองไปทางขวาจะเป็นหอนาฬิกา ฝั่งตรงข้ามเป็นตลาดจำได้ว่าวันหนึ่งเกิดโกลาหลกันที่ตลาดเห็นคนมีเลือดอาบนั่งรถสามล้อไปโรงพยาบาล ได้ความว่าลูกชายร้านทองที่ตลาดทำปืนลั่น
ถัดจากสำนักงานเศรษฐการจังหวัดไปจะเป็นตรอก เดินเข้าไปจะเป็นหมู่บ้านชาวมุสลิม เดินผ่านหมู่บ้านไปจะทะลุไปออกที่ถนนภูผาภักดีข้างร้านขายอาวุธปืนของป้า ครั้งหนึ่งเคยตามแม่เข้าไปทำผมให้เจ้าสาวในงานแต่งงานที่หมู่บ้านนี้
ช่วงที่อยู่นราธิวาสแม่ให้ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลนราธิวาสตั้งแต่อายุไม่ครบ ๓ ปีเต็ม เรียนชั้นอนุบาล ๑ และอนุบาล ๒ จำอะไรเกี่ยวกับโรงเรียนอนุบาลนราธิวาสไม่ได้เลย เพื่อน ๆ เป็นใครบ้างก็ไม่รู้ รูปถ่ายก็ไม่มี รู้แต่ครูใหญ่คือครูวิมล สายตระกูล เป็นคุณนายผู้ว่าราชการจังหวัด นายพันธุ์ สายตระกูล มีครูประจำชั้นคนหนึ่งชื่อครูวาณี แซ่ลิ่ม อันนี้จำได้เพราะตอนโตเจอสมุดพก และเคยเจอครูที่ปัตตานี เสียดายที่ย้ายบ้านหลายครั้ง สมุดพกเล่มสีชมพูนั้นหายไปหาไม่เจอ
ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ย่าเริ่มป่วยหนักด้วยเรื่องเบาหวาน และไตวาย จำได้ว่าต้องนั่งรถจี๊ปจากนราธิวาสไปเยี่ยมย่าที่ปัตตานีกับพ่อหลายครั้ง ช่วงนั้นกว่าจะถึงปัตตานีกลายร่างเป็นเด็กฝรั่งหัวแดงจากฝุ่นดินลูกรัง เพราะกำลังอยู่ในช่วงสร้างถนนสายปัตตานี-นราธิวาสโดยวิศวกรชาวเกาหลี ถนนสายนี้เลยถูกเรียกว่าถนนเกาหลี
วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๐๙ ย่าก็จากพวกเราไปอย่างสงบที่บ้านเลขที่ ๒๙ ถนนอาเนาะรู หรือที่คนปัตตานีเรียกกันว่าบ้านตึกขาว พ่อจึงย้ายครอบครัวจากนราธิวาสกลับไปอยู่ที่ปัตตานี โดยอาศัยอยู่ที่บ้านตึกขาว จึงได้เป็น…เด็กหัวตลาด…เต็มตัว
บันทึกวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒
..................................................................
หมายเหตุ : จากการที่ได้กลับไปทำงานที่นราธิวาส ได้ย้อนรอยอดีต จึงพบว่ามีความคลาดเคลื่อน อันที่จริงร้านทำผมของแม่เป็นห้องริมสุดติดกับตรอก ที่ปัจจุบันเรียกว่าตรอกช้าง ติดกันเป็นบ้านของครอบครัวมุสลิม ถัดไปจึงเป็นสำนักงานเศรษฐการจังหวัด

ร้านทำผมของแม่คือห้องที่มีมอเตอร์ไซค์จอดหน้าร้าน

บ้านเราอยู่ติดกับตรอก แม่บอกว่าเดิมชั้นล่างเป็นไม้มีหน้าต่าง
Comments