คำให้การเด็กหัวตลาด ตอนที่ ๘๘ ห้องผ่าตัดหมายเลข ๑๐
- drpanthep
- 29 ม.ค. 2566
- ยาว 1 นาที
“ductus clamp” เสียงร้องขอคีมหนีบเส้นเลือดดังขึ้นในห้องผ่าตัดหมายเลข ๑๐ หรือ OR 10 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เจ้าของเสียงเป็นศัลยแพทย์วัย ๔๐ ปีตอนต้นร่างเล็กผู้เป็นครูแพทย์ที่เป็นที่เคารพรักของลูกศิษย์ ท่านยืนอยู่ฝั่งขวาของผู้ป่วยที่นอนบนเตียงผ่าตัด หมายความว่าท่านกำลังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ผู้ทำผ่าตัดซึ่งจะยืนฝั่งด้านซ้ายของผู้ป่วย

ผู้ป่วยเป็นเด็กชายอายุ ๗ ขวบที่มีอาการหัวใจวายซ้ำแล้วซ้ำเล่า กุมารแพทย์โรคหัวใจตรวจพบว่ามีความผิดปกติของหัวใจมาแต่กำเนิดที่เรียกว่า Patent Ductus Arteriosus หรือเรียกสั้น ๆ ว่า PDA เกิดจากการที่เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงร่างกายกับหลอดเลือดแดงใหญ่ไปปอดในช่วงที่เป็นทารกในครรภ์ไม่ปิดหลังคลอด ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแยกออกจากกัน
แพทย์ผู้ทำผ่าตัดในวันนี้เป็นแพทย์หนุ่มวัย ๒๕ ปี ซึ่งเป็นแพทย์ใช้ทุนประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ เขายืนทำผ่าตัดด้วยความสงบนิ่ง ใจเย็น เพราะมั่นใจว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอาจารย์เสริฐที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยผ่าตัดจะช่วยเหลือแก้ไขได้อย่างแน่นอน
“มึงตัดให้เหลือ stump เยอะหน่อย จะได้เย็บง่าย” อาจารย์เสริฐบอกลูกศิษย์ให้เหลือปลายเส้นเลือดเยอะหน่อยเพื่อที่จะได้ง่ายต่อการเย็บปิดหลังตัดแยกจากกัน
“มึงทำได้ดี เย็บสวย เคสต่อไปกูจะมายืนดูเฉย ๆ ไม่เข้าช่วยแล้ว มึงต้องทำเคสด้วยตนเองเยอะ ๆ เวลามึงไปเทรนจะได้ไม่ทำให้กูเสียชื่อ” อาจารย์เสริฐพูดกับลูกศิษย์ด้วยภาษาพ่อขุนรามคำแหงบ่งบอกถึงความสนิทสนมและเอ็นดูลูกศิษย์รายนี้ผู้ซึ่งอาจารย์กำลังจะส่งไปเรียนต่อด้านศัลยศาสตร์ทรวงอกที่ศิริราชเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ด้านนี้ต่อไป
“มึงทำต่อไปนะ กูออกไปสอนนักเรียนแพทย์ก่อน”
“อ้อ! เย็นนี้ถ้ามึงไม่อยู่เวรไปช่วยกูที่ร้านด้วยนะ กูนัดทำ excision breast mass ไว้ ๑ ราย เสร็จแล้วมีเคสทัยรอยด์ที่เซี่ยงตึ๊งอีกราย” มีเสียงรับคำจากลูกศิษย์หนุ่ม
……………………………
ชายวัยใกล้เกษียณลืมตามองไปเบื้องหน้าแบบไร้จุดหมาย ภาพเหตุการณ์ใน OR 10 เมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อนยังคงอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม ครั้งนั้นตนเองเป็นแพทย์ใช้ทุนศัลย์ ม.อ. ทุกเช้าต้องตื่นไปดูผู้ป่วยให้หอผู้ป่วยศัลยกรรม สั่งการรักษา ทำแผล ก่อนที่อาจารย์เสริฐจะมาราวน์ตอน ๗ โมง
เมื่ออาจารย์มาถึงหอผู้ป่วยนักเรียนแพทย์จะมารุมล้อมเพื่อฟังการสอนข้างเตียงหรือที่เรียกว่า ward round จนกระทั่ง ๘ โมงจึงแยกย้ายกันไปเข้ากิจกรรมวิชาการที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ที่สลับกันไประหว่าง Journal club ซึ่งเป็นการที่แพทย์ใช้ทุนจะนำบทความทางวิชาการที่น่าสนใจมาอ่านและวิเคราะห์ให้ที่ประชุมฟัง หรือ Morbidity-Mortality conference ที่เป็นการนำผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำผ่าตัดมาเล่าสู่กันฟังเพื่อวิเคราะห์หาข้อผิดพลาดและแนวทางการแก้ไข ตลอดจน Topic conference ที่แพทย์ใช้ทุนนำเรื่องราวของผู้ป่วยที่น่าสนใจมาซักถามนักเรียนแพทย์ แล้วบรรดาอาจารย์จะช่วยกันสอนสรุปประเด็น ซึ่งทุกกิจกรรมวิชาการอาจารย์เสริฐจะไม่เคยขาด ต้องเข้ามาสอนแพทย์ใช้ทุนและนักเรียนแพทย์ด้วยความรู้ทางวิชาการที่เต็มเปี่ยมและประสบการณ์ที่มากกว่าใคร ๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ
เมื่อเสร็จกิจกรรมวิชาการก็จะเป็นช่วงเวลาออกตรวจผู้ป่วยที่ห้องตรวจศัลยศาสตร์ หรือเข้าห้องผ่าตัด หรือสอนนักเรียนแพทย์ตามที่ตารางกำหนดทั้งเลคเชอร์และสอนข้างเตียง
อาจารย์เสริฐจากโลกนี้ไปแล้วแต่เรื่องราวของอาจารย์ประเสริฐ วศินานุกร ครูแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ทุกลมหายใจมีแต่นักเรียนแพทย์และผู้ป่วยจะยังคงก้องอยู่ในใจบรรดาลูกศิษย์ และอยู่เป็นตำนานคู่กับห้องผ่าตัดหมายเลข ๑๐ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ตลอดไป
บันทึกเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒
Comments