คำให้การเด็กหัวตลาด ตอนที่ ๙๔ ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
- drpanthep
- 13 ต.ค. 2566
- ยาว 1 นาที
วันที่ ๑๓-๑๔ กันยายน ๒๕๖๐ ผมใช้สิทธิลาพักผ่อนประจำปี เป็นการลาพักผ่อนที่มีประโยชน์ที่สุดในชีวิตการทำงานของผม เพราะผมได้รับคำชวนจากแตง จันทรรัตน์ เหมเวช รุ่นน้องสาธิต รูสะมิแล ให้ไปช่วยงานบางอย่าง งานที่ว่าคือการไปเป็นมดงานจิตอาสา ช่วยทำประติมากรรมชิ้นส่วนของพระเมรุมาศ ซึ่งงานส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบของน้อง ๆ จากศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง ภายใต้การควบคุมของอาจารย์สุดสาคร ชายเสม โดยอาจารย์สุดสาครเป็นผู้ออกแบบ ปั้นแม่พิมพ์ และควบคุมการก่อสร้างทุกขั้นตอน เดิมงานส่วนนี้เป็นการทำกันเป็นการภายในไม่เปิดให้คนภายนอกไปยุ่งเกี่ยว จนกระทั่งงานงวดเข้ามาทุกขณะ จึงมีการเชิญชวนจิตอาสาให้ไปช่วย
เนื่องจากการชวนบุคคลภายนอกทำให้เกิดความวุ่นวายพอสมควร เพราะบางคนเพียงแค่เดินโฉบไปโฉบมา แล้วถ่ายรูปเหมือนว่าไปทำชิ้นงานทั้งหมด จึงต้องมีการจำกัดกลุ่มจิตอาสา โดยมีหัวหน้าทีมรับผิดชอบ เป็นความโชคดีของผมและภรรยาที่ได้ไปเป็นมดงานจิตอาสาฟันเฟืองเล็กที่สุดของกระบวนการใน ๒ วันสุดท้าย ก่อนที่จะมีการบวงสรวง สิ่งที่ได้ในการไปช่วยงานครั้งนี้นอกจากการได้ทำงานถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสถิตอยู่เหนือเกล้าของครอบครัวผมตลอดมา ผมยังได้เห็นคุณค่าของศิลปะไทยว่าแต่ละชิ้นงานมันช่างแสนยากลำบากมากกว่าจะออกมาให้เราเห็นความสวยงาม ต้องชื่นชมอาจารย์สุดสาคร และน้อง ๆ จากศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองที่ทุ่มแรงกายแรงใจถวายงานเป็นพระราชกุศลมาแรมเดือนเกือบจะครบ ๑ ปี โดยเฉพาะหนุ่มเบนซ์ ที่มาคอยถามทุกเย็นว่าพี่จะกินอะไร แล้วก็หิ้วมาให้ตามสั่ง ถามน้องว่ามาจากไหน แกรับว่าเป็นเด็กเกเร ไม่เรียนหนังสือ เลยถูกจับไปอยู่ศูนย์ศิลปาชีพฯ แล้วพบว่าชอบงานนี้ จึงกลับตัวกลับใจฝึกปรือ และมาเจองานพระราชพิธีพอดีทำให้มีโอกาสทำความดี เราเลยมาทำความดีร่วมกัน

งานแรกของจิตอาสาคือการใช้ตุ๊ดตู่ตอกแผ่นพลาสติกเคลือบเหมือนแผ่นพลาสติกเคลือบเป็นรูปร่างต่าง ๆ

แผ่นสังสีพลาสติกเคลือบที่ตัดมีรูปร่างตั้งแต่สี่เหลี่ยม วงกลม หยดน้ำ ขนาดก็ต่างกันตั้งแต่ ๒-๕ มิลลิเมตร จากชิ้นสี่เหลี่ยมก็ต้องใช้กรรไกรตัดอีกครั้งให้เป็นสามเหลี่ยม

เขยิบฐานะขึ้นเป็นคนตบแต่งโดยมีผู้เชี่ยวชาญยืนควบคุมอย่างใกล้ชิด

ชิ้นงานเป็นเรซิ่นที่หล่อจากเบ้าที่อาจารย์สุดสาครเป็นคนปั้นแบบแม่พิมพ์ น้อง ๆ จะเป็นคนหล่อเรซิ่นแล้วพ่นสีทอง นำมาประดับลวดลายภายใน

เราต้องนำแผ่นพลาสติกเคลือบที่ตัดเป็นรูปร่างต่าง ๆ ขนาด ๒-๕ มิลลิเมตรมาประดับตามลวดลาย
วิธีการก็ใช้กาวลาเท็กแต้ม แล้วใช้ไม้ที่ปลายเป็นดินน้ำมันจิ้มชิ้นส่วนเล็ก ๆ นั้นมาแปะ

บางตำแหน่งต้องใช้คีมปลายแหลมขยับตบแต่งให้เข้าที่สวยงาม

สำหรับวัยอย่างเราต้องเพ่งสายตามากเป็นพิเศษ เพราะชิ้นส่วนเล็กมาก

เมื่อเสร็จแล้วก็รอให้กาวแห้ง จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการลงยา คือผสมเรซิ่นกับน้ำยาเร่งปฏิกิริยาให้เรซิ่นแข็งตัวนำมาหยดบนชิ้นสังกะสีทั้งหมด เพื่อให้เกาะตัวไม่หลุด และเกิดความแวววาว

การลงยาต้องทำด้วยความรวดเร็วก่อนที่เรซิ่นจะแข็งตัว

ในสมัยโบราณชิ้นงานจะเป็นไม้แกะสลักหรือปูนปั้นลงสี แล้วประดับด้วยกระจก ซึ่งยากกว่าที่เราทำกันหลายเท่า

ชิ้นงานที่ผมได้ช่วยทำเรียกว่า ครุฑยุดนาค เป็นส่วนหนึ่งของฐานพระเมรุมาศ ซึ่งจะมี ๒๘ ตัว
Comments